Home / ข่าวประชาสัมพันธ์ / ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี 318/2560 นายกรัฐมนตรี ปาฐกถาการขับเคลื่อน Thailand 4.0 ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ขอนแก่น

ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี 318/2560 นายกรัฐมนตรี ปาฐกถาการขับเคลื่อน Thailand 4.0 ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ขอนแก่น

นายกรัฐมนตรี ปาฐกถาการขับเคลื่อน Thailand 4.0 ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ขอนแก่น


นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และอีกหลายกระทรวง เดินทางไปปฏิบัติราชการที่ขอนแก่น เพื่อปาฐกถา "การขับเคลื่อน Thailand 4.0 ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ" พร้อมทั้งพบปะกับนักเรียนนักศึกษา คณาจารย์ และเยี่ยมชมนิทรรศการที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยและการพัฒนานวัตกรรม

เมื่อวันพุธที่ 21 มิถุนายน 2560 เวลา 09.00 น.  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี, พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย, พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์, นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ, นางอรรชกา สีบุญเรือง รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เดินทางถึงศูนย์ประชุมอเนกประสงค์กาญจนาภิเษก มหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อปาฐกถาเรื่อง "การขับเคลื่อน Thailand 4.0 ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ" โดยมีคณาจารย์ ข้าราชการ และนักเรียนนักศึกษากว่า 2 พันคนร่วมรับฟัง โดยนายพงษ์ศักดิ์ ปรีชาวิทย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ให้การต้อนรับ และ รศ.กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย  อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นผู้กล่าวแนะนำมหาวิทยาลัยและผลงานนวัตกรรมของมหาวิทยาลัย

ทั้งนี้ เมื่อเดินทางถึง นายกรัฐมนตรีและคณะได้พบกับ น.ส.กิตติรัตน์ ชุมแก้ว นักเรียนโรงเรียนขอนแก่นวิทยายน ซึ่งสอบได้คะแนนแอดมิชชั่นอันดับ 1 ของคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมทั้งได้พบปะกับนักเรียนที่สอบโอเน็ตคะแนนเต็ม 100 ในวิชาคณิตศาสตร์ พร้อมมอบทุนการศึกษา

จากนั้น นายกรัฐมนตรีได้ขึ้นเวทีปาฐกถาเรื่อง "การขับเคลื่อน Thailand 4.0 ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ"  โดยมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาตอนหนึ่งว่า การที่นำรัฐมนตรี รวมทั้งผู้บริหารระดับปลัดกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่จำนวนมากในครั้งนี้ เพราะรัฐบาลให้ความสำคัญกับจังหวัดขอนแก่น และมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่มีชื่อเสียงในระดับแนวหน้าทั้งเรื่องการเรียน การสอน และการวิจัย ทั้งนี้ รัฐบาลมีนโยบายให้ทุกกระทรวง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำนวัตกรรมและผลงานวิจัยเหล่านั้นไปขับเคลื่อนให้ได้ เพื่อนำไปสู่การผลิต การใช้งาน สร้างมูลค่าจากงานวิจัย มหาวิทยาลัยควรมีการจับกลุ่มเพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณลงไปได้อย่างถูกต้อง เหมือนการตัดเสื้อให้พอดีตัว ทำให้ประชาชนได้อยู่ดีกินดี เข้าถึงสิ่งที่รัฐบาลกำลังเร่งปฏิรูปและพัฒนา ทั้งทางรถไฟ รถไฟฟ้า โทรศัพท์ ที่ได้นำระบบดิจิทัลเข้ามาขับเคลื่อน

วันนี้รัฐบาลต้องมองประเทศว่าติดกับดักอะไรบ้าง ไม่ต้องการให้ประเทศกลับไปสู่วังวนปัญหาเดิม ๆ อีก เราจึงต้องเตรียมคนรุ่นใหม่ในศตวรรษที่ 21 เพราะผู้ใหญ่ในยุคปัจจุบันก็จะเข้าสู่สังคมสูงวัยมากขึ้น ดังนั้น การจัดการศึกษาจึงต้องจัดการเรียนรู้แบบสื่อสารสองทาง ให้นักเรียนได้โต้ตอบชี้แจง เรียนรู้นอกห้องเรียน ค้นหาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต โดยครูและนักเรียนต้องเรียนรู้ไปด้วยกัน ทั้งยังฝากให้ครูอาจารย์ให้ความสำคัญกับการอ่านหนังสือของเด็ก เพราะการผลิตหนังสือที่กว่าจะพิมพ์ออกมาเป็นหนังสือเล่มหนึ่ง ๆ ต้องผ่านการกลั่นกรองหลายอย่าง ต่างไปจากการอ่านบนมือถือ และการอ่านหนังสือมาก ๆ จะช่วยให้เราเปิดโลกทัศน์ของตัวเราเอง เพราะตัวอักษรในหนังสือยังมีจิตวิญญาณ สร้างความรู้สึก สร้างกระบวนการเรียนรู้ที่ดีให้เกิดขึ้น

นอกจากนี้ ล่าสุดได้กล่าวในรายการ "ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย เมื่อวันศุกร์ที่ 16 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยให้ 50 ประเด็น ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตั้งเป็นโจทย์ในการทำงานขับเคลื่อนประเทศและปฏิรูปประเทศในปัจจุบัน โดยไม่ต้องการให้นำเอาแต่ความขัดแย้งมาสู้กันอีก เพราะเป็นความเป็นความตายของคนทั้งประเทศไม่ว่าจะเป็นวันนี้หรือวันหน้าก็ตาม จะรอให้ใครมาทำให้ไม่ได้ ประเทศไทยจึงต้องเดินไปให้ถึง Thailand 4.0

นายกรัฐมนตรีอธิบายในส่วนของการพัฒนาประเทศเพื่อมุ่งไปสู่ Thailand 4.0 ด้วยว่า เราจำเป็นต้องมีอะไรนำหน้าประเทศไทยที่จะก้าวไปสู่การเป็นประเทศที่ "มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน" รัฐบาลจึงได้กำหนดนโยบายสำคัญที่จะพัฒนาไปสู่เป้าหมายดังกล่าว ก็คือ Thailand 4.0 เพื่อให้เราได้มองโลก ประชาคมอาเซียน และประชาคมอื่น ๆ ในโลก พร้อมทั้งนำมาเปรียบเทียบกับสภาพพื้นที่ จังหวัด กลุ่มจังหวัด หมู่บ้าน ตำบลของเรา ซึ่งทุกสิ่งล้วนเกี่ยวโยงกันทั้งหมด เพราะกระแสโลกวันนี้มีการเปลี่ยนแปลง 3 แบบ คือ

1) การเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันจากหน้ามือเป็นหลังมือ

2) โลกแห่งความย้อนแย้งในตัวเอง ปัจจุบันกฎระเบียบต่าง ๆ หลายด้านใช้ไม่ได้ กฎเดิมเคยเป็นอย่างนี้ แต่วันนี้กลับจะต้องมีข้อยกเว้นมากมาย ซึ่งหลายประเทศก็เป็นเช่นเดียวกัน ดังนั้น เมื่อกฎในสังคมเปลี่ยนไป เราจะยึดแบบศตวรรษที่ 20 ไม่ได้แล้ว รัฐบาลจึงจำเป็นที่จะต้องมีข้อยกเว้น ปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์กติกาในสังคม ต้องคิดใหม่ ทำใหม่ มีวิสัยทัศน์ คิดนอกกรอบมากขึ้น เพราะการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 ต่างไปจากการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 20 เป็นอย่างมาก ทั้งด้านโครงสร้าง พลวัตการเปลี่ยนแปลง การเปลี่ยนผ่านจากสังคมเกษตรไปสู่อุตสาหกรรมหนัก จาก Thailand 1.0 ไปสู่ 4.0 ดังนั้น หากใครที่พัฒนาไปสู่ 4.0 ได้ ก็พร้อมจะส่งเสริมสนับสนุนเต็มที่ แต่ใครที่ยังคงเป็น 1.0 (ยุคของเกษตรกรรม) หรือ 2.0 (ยุคอุตสาหกรรมเบา) หรือ 3.0 (ยุคอุตสาหกรรมหนัก ซึ่งเป็นยุคปัจจุบัน) รัฐบาลก็จะยังคงส่งเสริมสนับสนุนให้เป็น Smart 1.0 Smart 2.0 หรือ Smart 3.0 เพื่อให้ทุกคนมีรายได้ที่สูงขึ้น เพราะไทยยังคงมีพื้นที่การเกษตรมากถึง 149 ล้านไร่ รัฐบาลจึงต้องช่วยเหลือคนกลุ่มใหญ่ของประเทศทุกอย่าง เช่น การบริหารจัดการน้ำ การคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อช่วยสร้างรายได้

3) โลกแห่งความสุดโต่ง มีหลายมิติ ทั้งทางธรรมชาติและเรื่องของการเมือง เช่น สหรัฐอเมริกาที่เคยสนับสนุนเรื่องสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย วันนี้กลายมาเป็นชาตินิยมไปแล้ว ทางยุโรปและตะวันออกกลางก็มี และจะมีผลกระทบต่อประเทศไทย ทุกคนต้องศึกษาและปรับตัว

ดังนั้น จะเห็นว่าในวันนี้เราพยายามเปลี่ยนจากสังคมอุตสาหกรรมไปสู่สังคมดิจิทัล หรือ Thailand 4.0 ซึ่งถือเป็นโมเดลการเปลี่ยนประเทศของไทย เช่นเดียวกับนานาประเทศต่างก็มีโมเดลในการพัฒนาประเทศของตน เช่น Smart Nation ของสิงคโปร์ ฯลฯ นอกเหนือจากคำ Thailand 4.0 ที่รัฐบาลใช้แล้ว ยังคงมีอีกหลายคำที่รัฐบาลนำไปขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ เช่น Make a Difference for Future (ทำให้แตกต่างจากเดิมโดยต้องไม่มองจากข้อขัดแย้งหรือปัญหาเดิม ๆ), Stronger Together (เราจะเติบโตและแข็งแกร่งไปด้วยกัน), Leave No One Behind (เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง) เพื่อผลักดันให้ประเทศไปสู่อนาคตที่ยั่งยืน

ทั้งนี้ คนไทยเป็นคนเก่ง แต่ปัญหาคือหลายคนมักจะฟังหรืออยากพูดในสิ่งที่ตัวเองต้องการ เวลาประชุมจึงได้ข้อสรุปร่วมกันยาก จึงต้องนำสิ่งเหล่านี้มาคิดด้วย วันนี้เรากำลังเดินหน้าประเทศตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ซึ่งจำเป็นต้องมีการสร้างการรับรู้ การทำประชาพิจารณ์กฎหมายต่าง ๆ แต่หากเราทุกคนไม่ฟังกัน ค้านอย่างเดียว ไม่มีอะไรสำเร็จหรอก ซึ่งจะส่งผลให้เราก้าวไปสู่ 4.0 ไม่ได้ และจะไปบังคับไม่ได้ เพราะเป็นกลไกของรัฐธรรมนูญ  ของประชาธิปไตย ที่เราไปฝืนไม่ได้ วันนี้จึงต้องเปลี่ยนแปลงใหม่ทั้งหมด และหากหาเป้าหมายได้ จึงจะแก้ปัญหาได้ วันนี้ประเทศไทยยังคงติดกับดัก 3 ข้อ คือ 1) กับดักรายได้ปานกลาง 2) รายได้เหลื่อมล้ำ ซึ่งก็คือเงินอยู่เป็นกระจุก แต่ไม่กระจาย คนรวยก็รวยขึ้น คนจนก็จนลง จึงต้องหาตรงกลางให้เชื่อมโยงกันได้ เพื่อให้คนรวยและคนจนมาเชื่อมกัน นั้นก็คือโครงการสานพลังประชารัฐ 3) รายได้ไม่สมดุล ที่ยังปรับสู่ความยั่งยืนไม่ได้ เพราะทุกอย่างต้องมุ่งไปในเรื่องของการลงทุนทางเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม ในด้านการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการกำลังปฏิรูปการศึกษาทั้งระบบ เพื่อขับเคลื่อนประเทศให้สังคมไทยเป็นสังคมที่สมดุล มีคุณภาพการศึกษา 4.0 จึงฝากให้ช่วยกันส่งเสริมให้เด็กรุ่นใหม่คิดแบบมีเหตุผล คิดนอกกรอบได้ ต้องไม่ลืมคนที่อยู่เลยวัยการศึกษาไปแล้ว ฝากให้มหาวิทยาลัยทุกแห่งไปดูว่าประเทศชาติต้องการแรงงานแบบไหน วันนี้อาชีวศึกษาจะต้องไม่ตีกันอีก ปัญหาเด็กแว้นควรจะต้องหมดไป ซึ่งปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเหล่านี้เกิดจากสังคมไทยไม่อบอุ่น และที่สำคัญขอให้กระทรวงศึกษาธิการน้อมนำ "ศาสตร์พระราชา" เข้าสู่การพัฒนา Thailand 4.0 และระบบการศึกษาและเรียนรู้ เพื่อต้องการให้ความรู้ที่จะติดตัวเด็กและเยาวชนคนรุ่นใหม่ไปจนเติบโต และเพื่อให้ศาสตร์พระราชาเป็นแกนในการขับเคลื่อนประเทศได้อย่างยั่งยืน

นายกรัฐมนตรีกล่าวสรุปด้วยว่า สิ่งต่าง ๆ ทั้งหมดที่รัฐบาลทำพร้อมกันหลายเรื่องในเวลานี้ เพราะเป็นความจำเป็นที่จะให้เกิดการเชื่อมโยงกันทั้งหมด เพื่อให้สังคมไทยมีความเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำ ทุกอย่างต้องเริ่มสร้างด้วยการ "สร้างคน" ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการเป็นหน่วยงานหนึ่งที่สำคัญต่อการขับเคลื่อน Thailand 4.0


จากนั้น นายกรัฐมนตรีได้ร่วมถ่ายภาพเซลฟี่กับนักเรียนนักศึกษา และเยี่ยมชมนิทรรศการ "วิจัยและนวัตกรรม มข.เพื่อ Thailand 4.0" ซึ่งนำความก้าวหน้างานวิจัยและนวัตกรรมด้านการเกษตร อาหาร วัสดุ และพลังงานในอนาคตมาจัดแสดง รวมทั้งเยี่ยมชมผลการดำเนินการของมหาวิทยาลัยขอนแก่นในด้านต่าง ๆ เช่น Green & Smart Campus, ความร่วมมือกับจังหวัดขอนแก่นในการจัดทำโครงการ Khon Kaen Smart City, โครงการสานพลังประชารัฐ เช่น Bioeconomy, โครงการศูนย์กลางการแพทย์, KKU Science Museum เป็นต้น โดยเสนอแนะให้เร่งทำผลงานวิจัยให้ได้มาตรฐานอุตสาหกรรม มีการจดทะเบียน มอก. ให้พัฒนานวัตกรรมไปสู่เชิงพาณิชย์ และนำผลวิจัยมาพัฒนาให้สามารถใช้ได้จริง


บัลลังก์ โรหิตเสถียร: สรุป/รายงาน
อิทธิพล รุ่งก่อน: ถ่ายภาพ
ขอบคุณภาพถ่ายปาฐกถา: ถนนข่าว Follow UP 4.0
21/6/2560