Home / ข่าวประชาสัมพันธ์ / ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี 327/2559 แนวทางการพัฒนาโครงการลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้

ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี 327/2559 แนวทางการพัฒนาโครงการลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้

30859 

ศึกษาธิการ – พล.อ.ดาว์พงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังหารือการดำเนินงานโครงการ "ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้" ปีการศึกษา 2559 ร่วมกับนายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นายบุญรักษ์ ยอดเพชร ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน รวมทั้งผู้บริหารจากสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สพฐ. เมื่อวันพุธที่ 3 สิงหาคม 2559 ที่ห้อง MOC

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า สพฐ.ได้มาสรุปรายงานการถอดบทเรียนการดำเนินโครงการลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ ปีการศึกษา 2558 ซึ่งได้พบประเด็นทั้งเชิงบวกและปัญหาอุปสรรคที่ต้องแก้ไข พร้อมเสนอแนวทางการพัฒนาการดำเนินงานในโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการในปีการศึกษา 2559 จำนวน 15,837 โรงเรียน

ทั้งนี้ ได้เน้นย้ำให้ สพฐ. รับทราบว่า คนในสังคมให้กำลังใจในการดำเนินงานโครงการนี้อย่างต่อเนื่อง ประกอบกับผลการดำเนินงานตามที่ สพฐ.รายงาน ทำให้มั่นใจได้ว่ากระทรวงศึกษาธิการดำเนินโครงการนี้มาถูกทางแล้ว อย่างไรก็ตาม สพฐ.ต้องยอมรับความจริงที่เกิดขึ้น อย่าหมกเม็ด เพราะจะแก้ปัญหาไม่ได้

สำหรับประเด็นสำคัญ ข้อเสนอแนวทางการพัฒนาโครงการลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ ของ สพฐ. มีดังนี้

  • การปรับโครงสร้างเวลาเรียน โดยเสนอให้ปรับเวลาเรียนระดับประถมศึกษาให้เหลือไม่เกิน 1,000 ชั่วโมงต่อปี และระดับมัธยมศึกษาตอนต้นให้เหลือไม่เกิน 1,200 ชั่วโมงต่อปี คาดว่าจะประกาศโครงสร้างเวลาเรียนใหม่ได้ในช่วงเดือนสิงหาคมนี้ เพื่อให้โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการนำไปปรับเวลาเรียนได้ภายในเดือนตุลาคมนี้  หรือก่อนเปิดภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2559 ซึ่งจะช่วยลดความกังวลใจของครูในการปรับการสอนให้ได้ทันเวลาด้วย ส่วนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายยังคงกำหนดโครงสร้างเวลาเรียนไว้เช่นเดิม จนกว่าการพัฒนาระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาจะมีความสมบูรณ์

  • การปรับลดเนื้อหาหลักสูตร  สพฐ.ได้กำหนดตัวชี้วัดใหม่ แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ
         – เนื้อหาที่ต้องรู้ : เป็นเนื้อหาหลัก ที่ต้องเรียนทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ และใช้ในการสอบ O-NET
         – เนื้อหาที่ควรรู้ : เป็นเนื้อหาที่ควรเรียน ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ เพื่อเพิ่มทักษะในศตวรรษที่ 21 และทักษะอันพึงประสงค์ให้แก่ผู้เรียน

  • หนังสือเรียน จากการกำหนดตัวชี้วัดดังกล่าว จะนำไปสู่การกำหนดเนื้อหาหนังสือเรียน ที่จะทำให้มีเนื้อหาลดลงตามขอบเขตเรื่องที่ต้องรู้และเรื่องที่ควรรู้ และเป็นการเปลี่ยนชื่อใหม่ให้มีความชัดเจนมากขึ้น จากเดิมที่ใช้คำว่า “ตัวชี้วัดสำคัญ” เปลี่ยนเป็น “ต้องรู้” และ “ควรรู้” พร้อมทั้งได้กำหนดสัดส่วนโครงสร้างเวลาเรียนในแต่ละชั้นเรียนตามตัวชี้วัดดังกล่าวด้วย ซึ่งจะช่วยให้ครูปรับการเรียนการสอนให้ครอบคลุมเนื้อหาที่จะต้องสอนได้อย่างครบถ้วนต่อไป โดยคาดว่าในช่วงเดือนตุลาคมนี้ สพฐ. จะสามารถออกประกาศตัวชี้วัดและเนื้อหาหลักต้องรู้และควรรู้ในหนังสือเรียน พร้อมทั้งประกาศแจ้งให้โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการนำไปปฏิบัติตั้งแต่ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2559 เป็นต้นไป ส่วนจะประกาศใช้กับทุกโรงเรียนเมื่อไรนั้น สพฐ.ขอหารือและรับฟังความคิดเห็นด้านความพร้อมของโรงเรียนต่างๆ เสียก่อน

โอกาสนี้ รมว.ศึกษาธิการ ได้ฝากให้ สพฐ.ดำเนินการใน 2 เรื่องที่สำคัญ คือ

  • ออกแบบกิจกรรมลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ ในปีการศึกษา 2559 ให้มีความเชื่อมโยงกับตัวชี้วัดสำคัญตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 กล่าวคือ การนำความรู้ที่ต้องรู้ในห้องเรียน มาผสมผสานกับกิจกรรมนอกห้องเรียน โดยมีครูคอยอธิบายและตอบคำถาม ก็จะช่วยฝึกความเชื่อมโยงให้กับนักเรียน ทำให้สามารถจดจำและเข้าใจเนื้อหาต่างๆ ได้ไปในตัวโดยไม่ต้องท่องหนังสือมากมายเช่นเดิม

  • ให้มีการประชุมชี้แจงกับสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทศ. ภายหลังจัดทำรายละเอียดเสร็จสมบูรณ์แล้ว  เพื่อให้ สทศ.ได้รับทราบและมีความเข้าใจในเนื้อหาตามตัวชี้วัดที่กำหนดใหม่ไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งจะทำให้ สทศ.ออกข้อสอบได้ตามแนวทางที่ครูสอนและตามสิ่งที่ สพฐ.ต้องการก็คือตัวชี้วัดต่างๆ ได้ ซึ่งต้องยอมรับว่าที่ผ่านมามีการทำงานเชื่อมโยงกันอยู่บ้าง แต่คิดว่ายังไม่เพียงพอ ในการดำเนินงานปีนี้จึงต้องประสานงานกันอย่างเข้มข้นมากขึ้น ส่วน สทศ.จะออกข้อสอบในสิ่งที่ควรรู้บ้างได้หรือไม่นั้น ก็มีความเป็นไปได้ เพื่อฝึกให้เด็กใช้ความคิดเชื่อมโยง แต่ในเบื้องต้น สทศ.ต้องรู้ก่อนว่า ความรู้หลักหรือเรื่องที่ต้องรู้มีอะไรบ้าง และมีสัดส่วนเวลาเรียนอย่างไร เชื่อว่าจะทำให้การจัดสอบต่างๆ เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น


นวรัตน์ รามสูต, บัลลังก์ โรหิตเสถียร สรุป/รายงาน
ยุทธพงศ์ เลือกกลั่นดี : ถ่ายภาพ
4/8/2559