Home / ข่าวประชาสัมพันธ์ / ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี 332/2559 ให้นโยบายการปฏิรูปการศึกษาอุดมศึกษาแก่ผู้บริหารและบุคลากร มรภ.สุรินทร์

ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี 332/2559 ให้นโยบายการปฏิรูปการศึกษาอุดมศึกษาแก่ผู้บริหารและบุคลากร มรภ.สุรินทร์

1470828959944 

จังหวัดสุรินทร์ – พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย รศ.นพ.กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และนายขจร จิตสุขุมมงคล รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา ลงพื้นที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ เพื่อให้นโยบายการปฏิรูปการศึกษาระดับอุดมศึกษา แก่คณะผู้บริหาร คณาจารย์ บุคลากร และนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์กว่า 600 คน ภายหลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจมาตรา 44 ออกคำสั่งที่ 39/2559 ในการจัดระเบียบและแก้ไขปัญหาธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษา

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ตั้งใจมาที่นี่ภายหลังที่ คสช. มีคำสั่งที่ 39/2559 ในการแก้ปัญหาธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษา โดยเฉพาะปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วง 7-8 ปีที่ผ่านมาของมหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ ซึ่งหลังจากนี้เราคงจะต้องพากันเดินหน้าแก้ปัญหาต่อไป เรื่องที่เกิดขึ้นของมหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ไม่รู้ควรจะดีใจหรือเสียใจที่คนกว่า 60 ล้านคนทั่วประเทศ ต่างรู้จักมหาวิทยาลัยเป็นอย่างดี ทั้งนี้ เมื่อมีกรรมการสภามหาวิทยาลัยชุดใหม่เข้ามาดูแลแล้ว ในส่วนของกรรมการชุดเดิมที่หยุดการปฏิบัติหน้าที่ ส่วนตัวไม่ได้คิดว่าเลวร้ายอะไร อาจจะมีการทำงานที่ผิดช่องหรือใช้ช่องว่างต่างๆ ผิดพลาดไปบ้าง ก็ต้องมาช่วยกันแก้ปัญหาและเดินหน้าต่อไป

ยอมรับว่าช่วงที่เป็นรัฐมนตรีในช่วงระยะเวลา 2 เดือนแรก ได้พยายามศึกษากฎระเบียบต่างๆ ของกระทรวงศึกษาธิการมาโดยตลอด จนกระทั่งการทำงานในเดือนที่ 3 จึงเดินหน้าหลายเรื่อง แต่มีเรื่องหนึ่งที่ได้ยอมรับกับสื่อมวลชนมาตลอดเวลาว่าหนักใจ คือ เรื่องปัญหาธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษา เพราะที่ผ่านมาเราไม่สามารถผลิตกำลังคนให้ตรงกับความต้องการของประเทศอย่างมีคุณภาพ ในขณะเดียวกันเราก็ไม่สามารถเข้าไปทำอะไรได้โดยตรงเพราะทุกสิ่งทุกอย่างในการอนุมัติไปจบที่สภามหาวิทยาลัยแต่ละแห่ง ในขณะที่ปรัชญาการอุดมศึกษาต้องให้เสรีทางการศึกษา ดังนั้นจึงต้องมาดูเส้นความพอดีระหว่างเสรีทางการศึกษากับการกำกับดูแลว่าจะอยู่ตรงส่วนใด

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวฝากด้วยว่า ในการแก้ปัญหาทุกเรื่องในสภาวะวิกฤต เราต้องช่วยกันสร้างการรับรู้จากวิกฤตนั้นๆ ให้ทุกคนในองค์กรได้รับทราบตรงกันอย่างถูกต้อง อย่าบิดเบือน พร้อมทั้งสร้างการรับรู้ไปยังภายนอกองค์กร เพื่อให้การสนับสนุนแก้ปัญหาร่วมกันต่อไป

โอกาสนี้ รมว.ศึกษาธิการ ได้เปิดโอกาสให้คณบดี คณาจารย์ กล่าวถึงสภาพปัญหาความต้องการ และตอบข้อซักถามต่างๆ ดังนี้

  • นายกสภาคณาจารย์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์  ได้กล่าวแสดงความเห็นด้วยกับแนวทางการแก้ปัญหาของรัฐมนตรี ซึ่งประชาคมในมหาวิทยาลัยต้องรับรู้ปัญหาร่วมกัน ส่วนระยะเวลาในการแก้ไขปัญหานั้น เชื่อว่าต้องใช้เวลาเพราะปัญหาภายในสะสมมานาน รวมทั้งมีความห่วงใยคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนที่จะต้องเข้ามาแก้ปัญหาในหลายประเด็น โดยยืนยันว่าเราพร้อมยินดีให้ความร่วมมือและช่วยกันแก้ไขปัญหา หากมีข้อมูลที่จะช่วยให้เกิดประโยชน์ ก็จะส่งมอบให้ในโอกาสต่อไป
         (รมว.ศธ. กล่าวว่า ขอให้ทุกคนให้ความร่วมมือ เพื่อที่จะได้ช่วยกันแก้ไขปัญหา ไม่ควรปิดบังข้อมูล เพราะจะทำให้ปัญหากลับคืนมาอีก และคาดหวังว่าสภามหาวิทยาลัยจะใช้หลักธรรมาภิบาล ในการแก้ไขปัญหาและการบริหารงานให้เจริญก้าวหน้าต่อไป)

  • ผู้แทนอาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์  เสนอให้มีการรวมมหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสุรินทร์ ให้เป็นมหาวิทยาลัยเดียวกัน เพื่อเป็นการรวมทรัพยากร และจัดการศึกษาที่เข้มแข็งมากขึ้น ตลอดจนมีความเชื่อมโยงกับอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง และช่วยรัฐบาลประหยัดงบประมาณในการบริหารงานของมหาวิทยาลัยด้วย
         (รมว.ศธ. กล่าวว่า เห็นด้วยกับความคิดในการ่วมกันจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาในจังหวัดสุรินทร์ แต่อย่างไรก็ตาม ความมุ่งหมายในการตั้งมหาวิทยาลัยทั้ง 2 แห่งมีความแตกต่างกัน จึงมอบให้ผู้ปฏิบัติหน้าที่สภามหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ ไปศึกษาข้อมูลรายละเอียด และดูพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการรวมมหาวิทยาลัย เพื่อนำเสนอพิจารณาต่อไป นอกจากนี้ ขอให้เราปรับตัวตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะนโยบายของรัฐบาลด้าน Thailand 4.0 ที่เราจะต้องกล้าคิด กล้าทำ และกล้าตัดสินใจ เพื่อให้เราสามารถเดินหน้าต่อไปได้)

  • อาจารย์คณะครุศาสตร์  ได้สอบถามถึงช่วงเวลาที่จะใช้ในการบริหารจัดการและการแก้ไขปัญหาของมหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ให้เสร็จสิ้นสมบูรณ์ ตลอดจนแนวทางการปรับโครงสร้างภายใน รวมทั้งระเบียบการบริหารงานบุคคลเกี่ยวกับการเข้าสู่ตำแหน่งด้วยความเสมอภาค พร้อมทั้งเสนอให้มีการประชุมรับฟังความคิดเห็นของบุคลากรภายในมหาวิทยาลัยและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยร่วมกันจัดทำ SWOT เพื่อค้นหาจุดอ่อนจุดแข็งที่จะเป็นข้อมูลในการวางแผนการทำงานต่อไป
         (รมว.ศธ. กล่าวตอบในประเด็นนี้ว่า ช่วงเวลาของการบริหารจัดการมหาวิทยาลัยให้เข้าสู่สภาวะปกตินั้น อยู่ที่ความร่วมมือของทุกคน พร้อมมอบหมายให้ผู้ปฏิบัติงานแทนมหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ ดำเนินการศึกษาข้อมูลข้อเท็จจริง พร้อมจัดประชุมรับฟังความคิดเห็น และจัดทำ SWOT พร้อมระบุแนวทางการแก้ปัญหาในแต่ละประเด็นตลอด 8 ปีที่ผ่านมา เพื่อนำเสนอให้คณะกรรมการชุดใหม่นำเสนอต่อ รมว.ศธ. ต่อไป นอกจากนี้ เชื่อว่าปัญหาของมหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ย่อมกระทบถึงนักเรียนที่เรียนอยู่ในโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยราชภัฎสุรินทร์ด้วย ขอให้ทุกคนคำนึงถึงเด็กเหล่านี้ เพราะจะเป็นเด็ก Generation ใหม่ที่เราจะต้องเตรียมตัวให้สามารถแข่งขันได้ตามนโยบาย Thailand 4.0
         อย่างไรก็ตาม ในเรื่องของแนวทางการพัฒนาเด็กในแต่ละช่วงวัยจนถึงการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการได้จัดทำแผนการปฏิรูปการศึกษา โดยครอบคลุมการจัดการศึกษาทุกระดับ รวมทั้งเด็กปฐมวัยที่ต้องมีการหารือร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการปรับเปลี่ยนรูปแบบการดูแลเด็กอายุ 3 ขวบ ซึ่งเป็นช่วงที่มีพัฒนาการที่ดีที่สุด สอนและจดจำสิ่งต่างๆได้ง่าย ให้สามารถพัฒนาและเรียนรู้ได้อย่างเป็นธรรมชาติ)

  • ผู้แทนอาจารย์คณะวิทยาศาสตร์  ได้เสนอว่าการแต่งตั้งผู้บริหารมหาวิทยาลัยควรเป็นไปตามหลักกฎหมาย และเลือกสรรคนที่ดี ไม่มีพรรคมีพวกมาทำงาน
         (รมว.ศธ.กล่าวว่า ในการคัดสรรผู้บริหารหรือคนที่เข้ามาทำงานนั้น ส่วนตัวให้โอกาสกับทุกคน โดยจะดูที่วิธีการทำงาน ตลอดจนทัศนคติ ซึ่งมีส่วนสำคัญที่จะทำงานให้มีประสิทธิภาพได้ โดยไม่นำข้อมูลในอดีตของบุคคลในเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเสื้อสีเหลือง สีแดง สีเขียว หรือสีใด พวกใคร หรือลูกน้องใครมาดู แม้จะมีคนมาบอกเบื้องหลังว่าคนนั้นสีโน้นสีนี้ แต่ส่วนตัวไม่ได้สนใจ เพราะจะยึดผลของงานเป็นที่ตั้ง)

  • ผู้แทนอาจารย์สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์  ได้สอบถามถึงทิศทางในการพัฒนาการศึกษา ให้มีความก้าวหน้าในประเทศกลุ่มสมาชิกอาเซียน และทัดเทียมอารยะประเทศ
         (รมว.ศธ. กล่าวว่า หากจะพูดถึงแผนปฏิรูปการศึกษาในอีก 10 ปีข้างหน้า และแผนการศึกษาชาติ 15 ปี (พ.ศ.2560-2574) ขณะนี้อยู่ในช่วงของการร่างแผนให้มีความชัดเจน โดยได้ลงรายละเอียดตั้งแต่การออกจากหล่มของการศึกษาไทยในแต่ละประเด็น เพื่อที่จะวางแผนขึ้นมาจากหล่มนั้นๆ โดยแต่ละปัญหาก็มีช่วงระยะเวลาในการวางแผนดำเนินงานไม่เท่ากัน คงต้องใช้เวลาอีกสักระยะ เพื่อดำเนินการวางแผนอย่างรอบคอบรัดกุมในทุกประเด็นที่จะช่วยให้การขับเคลื่อนการศึกษาของไทยถูกทิศทางและปฏิบัติได้จริง)

  • รักษาการคณบดี คณะเกษตรและอุตสาหกรรม  เสนอให้มีการตั้งคณะเกษตรและอุตสาหกรรมเป็นโครงสร้างหลักโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เนื่องจากเป็นคณะใหม่ที่เพิ่งเปิดได้เพียง 3 ปี และได้รับงบประมาณน้อย แต่มีภารกิจในการจัดการศึกษาด้านการเกษตร ซึ่งเป็นอาชีพหลักของจังหวัดสุรินทร์ ทั้งการเลี้ยงไก่ การผลิตเนื้อวัววากิว เป็นต้น
         (รมว.ศธ.กล่าวว่า คณะนี้มีความสำคัญอย่างมาก เพราะการเกษตรเป็นวิถีของคนไทย เป็นอาชีพของบรรพบุรุษปู่ย่าตายาย แต่ในสภาพการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น ฝนแล้ง ทำให้ไม่มีน้ำทำการเกษตร จำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนเป็นเกษตรยุคใหม่ เช่น การปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย การปลูกพืชหมุนเวียน หรือพืชอื่นทดแทนพืชหลัก เป็นต้น โดยในเรื่องนี้ก็ต้องมีการเชื่อมโยงการทำงานกับวิทยาลัยการเกษตรและเทคโนโลยีของอาชีวะต่อไป
         นอกจากนี้ ต้องการเห็นแนวทางการจัดเรียนการเรียนการสอนในอนาคตมีความอ่อนตัว เลี้ยวซ้ายขวาได้ นักเรียนหรือผู้เรียนสามารถเลือกเรียนได้หลายแนวทาง เช่น เมื่อจบระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) สามารถเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยได้ โดยปรับเวลาเรียนจาก 3 ปีเหลือ 2 ปี ซึ่งก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะช่วยเปิดโอกาสให้คนมาเรียนสายอาชีวะมากขึ้น เพราะระบบการศึกษาอำนวยให้เขาเข้าถึงการศึกษาได้ตามต้องการ ในประเด็นนี้ได้มอบให้ สกอ. และ สอศ. ไปหารือร่วมกันต่อไป)

  • ผู้แทนอาจารย์คณะวิทยาการจัดการ  กล่าวถึงการจัดสรรงบประมาณของมหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ที่ผ่านมาว่า เป็นการจัดสรรที่ไม่มีความยุติธรรมต่อคณะต่างๆ รวมทั้งอาจารย์และนักศึกษาด้วย เพราะงบประมาณไปกระจุกอยู่ที่ส่วนกลางของมหาวิทยาลัย จึงต้องการเสนอให้สภามหาวิทยาลัยชุดใหม่ดูแลเรื่องนี้เป็นพิเศษ
         (รมว.ศธ. กล่าวเห็นด้วยกับการจัดสรรงบประมาณ ควรลงไปให้ถึงตัวผู้ใช้ในระดับปฏิบัติให้มากที่สุด เช่นเดียวกับการจัดสรรงบประมาณซ่อมแซมบ้านพักครู ที่กระทรวงศึกษาธิการได้จัดสรรงบประมาณโดยตรงไปยังพื้นที่ เพื่อที่จะดำเนินการซ่อมกันเองได้ และป้องกันไม่ให้เกิดเงินทอนหลายชั้น ซึ่งเป็นดำริของนายกรัฐมนตรีที่ต้องการให้มีระบบติดตามเพื่อประเมินผลการใช้งบประมาณโครงการต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ แต่หากพบข้อมูลที่มีการทุจริตเกิดขึ้น ก็จะดำเนินการอย่างเด็ดขาด)

ทั้งนี้ ในช่วงบ่ายวันเดียวกัน รมว.ศธ. และคณะ ได้เดินทางโดยเฮลิคอปเตอร์ต่อไปยังมหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ เพื่อให้นโยบายการปฏิรูปการศึกษาระดับอุดมศึกษา แก่คณะผู้บริหาร คณาจารย์ บุคลากร และนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ ซึ่ง คสช.ใช้อำนาจมาตรา 44 ออกคำสั่งที่ 39/2559 ในการจัดระเบียบและแก้ไขปัญหาธรรมาภิบาลเช่นเดียวกัน (รายละเอียดคำสั่งเพิ่มเติม)


นวรัตน์ รามสูต, บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป / รายงาน
ยุทธพงศ์ เลือกกลั่นดี: ถ่ายภาพ
10/8/2559