Home / ข่าวประชาสัมพันธ์ / ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี 333/2559 ทปอ.นำเสนอแผน “มหาวิทยาลัยรวมใจ ขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0”

ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี 333/2559 ทปอ.นำเสนอแผน “มหาวิทยาลัยรวมใจ ขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0”

WU6A3570 สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา – พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และผู้บริหาร 5 องค์กรหลัก ร่วมรับฟังรายงานเสนอเรื่อง "มหาวิทยาลัยรวมใจขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0" จากคณะทำงานด้านการวิจัย ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 11 สิงหาคม 2559 ณ ห้องประชุมศาสตราจารย์วิจิตร ศรีสอ้าน

ดร.พีระพงศ์ ทีฆสกุล ประธานคณะทำงานด้านการวิจัย ทปอ. กล่าวว่า ในนามของมหาวิทยาลัยที่เป็นสมาชิก ทปอ.ทั้ง 27 แห่ง ถือว่ามีบทบาทหน้าที่สำคัญในการพัฒนานวัตกรรมของประเทศ ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้กล่าวไว้ว่า "สิ่งสำคัญคือ จะทำอย่างไรที่จะใช้เทคโนโลยีให้มีประสิทธิภาพ และยังคงความเป็นไทย ในแบบที่ควบคู่กับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยแลนด์ 4.0" ซึ่งถือเป็นโจทย์และจุดเริ่มต้นที่สำคัญของ ทปอ.ในการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้มีส่วนสำคัญต่อการขับเคลื่อน "Thailand 4.0" ทั้งด้าน "เศรษฐกิจ 4.0" เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ และ "คนไทย 4.0" เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม และนำไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนในอนาคต

โดย ทปอ.ได้วางแผนวิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้สอดคล้องกับวาระของชาติ (National Agenda) ซึ่งเน้นใน 5 กลุ่มเทคโนโลยี คือ

1) Biotechnology เพื่อมุ่งหวังให้ไทยเป็นศูนย์กลางการแปรรูปผลิตผลทางการเกษตรระดับพรีเมี่ยมและส่งออกเทคโนโลยีด้านการเกษตรเมล็ดพันธุ์ วัคซีน และอาหารสัตว์

2) Bio-Medical  เพื่อให้ไทยเป็น Medical Hub ของอาเซียน

3) Robotics โดยกำหนดเทคโนโลยีหลักที่มีหรือต้องพัฒนาเพื่อเป็นผู้นำของภูมิภาคด้านระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์อุตสาหกรรม และหุ่นยนต์บริการ

4) Digital & IOT เพื่อให้ประเทศใช้เทคโนโลยี Internet of Things ไปสู่การเป็นผู้นำด้านการเกษตร สุขภาพ และการท่องเที่ยวในเอเชีย

5) Creative & Culture เพื่อออกแบบประเทศไทยให้ก้าวไกลอย่างสร้างสรรค์

สำหรับข้อเสนอของคณะทำงาน คือ ควรใช้มหาวิทยาลัยเป็นฐานการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ทั้งกลุ่มมหาวิทยาลัยวิจัย กลุ่มมหาวิทยาลัยเฉพาะทาง และกลุ่มมหาวิทยาลัยเพื่อชุมชน โดยดึงมหาวิทยาลัยต่างประเทศที่มีชื่อเสียงมาเข้าร่วม และมีการทำงานในลักษณะเชิงประชารัฐ โดยร่วมกับหน่วยงานวิจัยของประเทศ ภาคเอกชนเพื่อร่วมให้การสนับสนุน ตลอดจนสถาบันการเงินและการลงทุนในรูปแบบต่างๆ ในขณะเดียวกันภาครัฐก็ควรสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานและผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ที่จำเป็นอีกทางหนึ่งด้วย

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า จากการรับฟังในครั้งนี้ ได้เสนอแนะให้เน้นให้พิจารณาถึงการผลิตกำลังคนให้รองรับ Thailand 4.0 รวมทั้งงบประมาณดำเนินการซึ่งต้องให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมสนับสนุน โดยข้อมูลจากการรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกันในครั้งนี้ จะได้นำไปเสนอให้นายกรัฐมนตรีได้พิจารณาในการประชุมร่วมกันวันที่ 15 สิงหาคมนี้ ที่ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งนอกจากแนวทางการวิจัยและพัฒนาเพื่อรองรับ 5 กลุ่มเทคโนโลยีดังกล่าวแล้ว จะได้นำเสนอถึงองค์ประกอบที่สำคัญของแผน "Thailand 4.0 กับการวิจัยและพัฒนาของมหาวิทยาลัย" 5 ด้าน คือ การสร้างมูลค่าจากทรัพยากรที่มี (Value-based Economy), โจทย์มาจากผู้ใช้ (Demand Driven), เลือกทำในสิ่งที่จำเป็น (Very Focused), ต่อเชื่อมภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง (Connectivity) และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (Left Nobody Behind)


บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป / รายงาน
ยุทธพงศ์ เลือกกลั่นดี: ถ่ายภาพ
11/8/2559