Home / ข่าวประชาสัมพันธ์ / พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยผลการประชุมคณะรัฐมนตรี ว่า….

พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยผลการประชุมคณะรัฐมนตรี ว่า….

12410530_1062270853803172_4096384750842003712_n

พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยผลการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันอังคารที่ 12 มกราคม 2559 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงศึกษาธิการ คือ อนุมัติการดำเนินงานโครงการทุนการศึกษาเฉลิมราชกุมารี ระยะที่ 2 และขออนุมัติปรับเพิ่มอัตราทุนเดิม รวมทั้งการพิจารณาทบทวนเพื่อเพิ่มสัดส่วนการใช้ยางพารา ในวัสดุ ครุภัณฑ์ และสิ่งก่อสร้างของกระทรวงศึกษาธิการ 

 

– อนุมัติการดำเนินงานโครงการทุนการศึกษาเฉลิมราชกุมารี ระยะที่ 2 และขออนุมัติปรับเพิ่มอัตราทุนเดิม

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนอ ดังนี้

1. อนุมัติการดำเนินงานโครงการทุนการศึกษาเฉลิมราชกุมารี ระยะที่ 2 จำนวน 600 คน/ทุน/ปี จำนวน 10 รุ่น รวม 6,000 คน/ทุน โดยแต่ละทุนจะได้รับทุนการศึกษาต่อเนื่อง ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 – 2577 ระยะเวลา 17 ปีการศึกษา (18 ปีงบประมาณ) หรือผู้รับทุนจบครบตามระยะเวลาของหลักสูตรในระดับปริญญาตรี

2. อนุมัติการปรับเพิ่มอัตราทุนการศึกษาให้กับผู้รับทุนที่กำลังศึกษาในโครงการทุนการศึกษาเฉลิมราชกุมารี ในปีการศึกษา 2558 จำนวนทั้งสิ้น 1,801 รูป/คน ระยะเวลา 5 ปี จนสิ้นสุดโครงการฯ เดิม

สาระสำคัญของเรื่อง

เนื่องในโอกาสสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เจริญพระชนมายุ 5 รอบ 60 พรรษา ซึ่งทรงให้ความสำคัญกับการพัฒนาการศึกษา โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกลและทุรกันดารอย่างต่อเนื่อง ศธ. จึงได้จัดทำโครงการทุนการศึกษาเฉลิมราชกุมารี ในระยะที่ 2 โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1. ขอขยายโครงการทุนการศึกษาเฉลิมราชกุมารี ระยะที่ 2 จำนวน 10 รุ่น จำนวน 600 ทุน/ปี รวม 6,000 ทุน (เดิมปีละ 480 ทุน) โดยแบ่งสัดส่วนผู้รับทุนสังกัด สพฐ.:สอศ.:พศ. คือ 35 : 50 :15 ของจำนวนทุนที่จัดสรร 600 ทุน/ปี โดยมีผู้รับทุนในสังกัด สพฐ. จำนวน 210 คน/ปี สังกัด สอศ. จำนวน 300 คน/ปี และสามเณรในสังกัด พศ. จำนวน 90 รูป/ปี

2. ขอขยายอัตราทุนให้กับผู้รับทุนการศึกษาโครงการฯ ระยะที่ 2 และขอปรับเพิ่มอัตราทุนให้กับผู้รับทุนการศึกษาโครงการฯ ระยะที่ 1 (โครงการเดิม) เนื่องจากปัจจุบันค่าครองชีพได้ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ค่าอุปโภคและบริโภคมีราคาสูงขึ้น ประกอบกับผู้รับทุนในโครงการฯ ระยะที่ 1 ต้องหารายได้เสริมหลังจากเลิกเรียนแล้ว เช่น เป็นครูผู้สอนให้กับรุ่นน้อง

 


– ความต้องการใช้ยางพาราในการดำเนินโครงการของส่วนราชการ

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า จากการที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติรับทราบปริมาณความต้องการใช้ยางพาราและวงเงินงบประมาณของส่วนราชการ โดยมีมติให้ส่วนราชการพิจารณาทบทวนเพื่อเพิ่มสัดส่วนการใช้ยางพาราในวัสดุ ครุภัณฑ์ และสิ่งก่อสร้างต่างๆ โดยคำนึงถึงคุณลักษณะเฉพาะที่มีความเหมาะสมทางด้านเทคนิคนั้น

ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ กำลังรวบรวมรายละเอียดเกี่ยวกับข้อมูลการนำยางพารา มาสร้างสนามกีฬาให้กับโรงเรียนต่างๆ ซึ่งจะได้ข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนสนามที่จะสร้างในเร็วๆ นี้ คาดว่าจะสามารถนำยางพารามาสร้างสนามกีฬาหลายประเภทจำนวนกว่า 10,000 สนาม ซึ่งจะเป็นสนามกีฬาที่มีขนาดไม่ใหญ่มาก ประมาณ 15×15 เมตร และจะเชิญหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมาประชุมหารือเพื่อหาแนวทางการดำเนินงานอีกครั้งหนึ่ง

ทั้งนี้ จะพิจารณาตามความเหมาะสมและความจำเป็นเร่งด่วน รวมทั้งคำนึงถึงงบประมาณด้วย โดยเบื้องต้นคาดว่าจะนำงบประมาณประจำปี 2559 จำนวนกว่า 500 ล้านบาท มาใช้ในการสร้างสนามกีฬาดังกล่าว ส่วนงบประมาณที่เหลือจะเสนอให้รัฐบาลพิจารณาอีกครั้ง

นอกจากนี้ มีบางโรงเรียนที่ขอดำเนินการก่อสร้างทั้ง 3 สนาม คือ ฟุตซอล วอลเลย์บอล และตระกร้อ จึงต้องพิจารณางบประมาณด้วยว่าจะสามารถสนับสนุนการก่อสร้างได้มากน้อยเพียงใดโดยอาจจะพิจารณาให้สร้างสนามฟุตซอลก่อน เพราะมีขนาดใหญ่และสามารถแปลงเป็นสนามวอลเลย์บอล รวมทั้งสนามตระกร้อได้ อีกทั้งความพร้อมของโรงเรียนในการสร้างสนามกีฬาก็มีความสำคัญ เพราะจะต้องทำการสำรวจสนาม และการให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยของนักเรียนด้วย

ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการยังไม่ได้ทำสัญญาว่าจ้างบริษัทหรือภาคเอกชนในการสร้างสนามกีฬาดังกล่าว และจะไม่เอื้อประโยชน์ให้กับใครทั้งสิ้น แต่จะเอื้อประโยชน์ให้เกษตรกรสวนยาง ซึ่งกำลังเดือดร้อน เพราะราคายางตกต่ำ โดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะเป็นผู้ดำเนินการในเรื่องดังกล่าวตามระบบการจัดซื้อจัดจ้างต่อไป