Home / ข่าวประชาสัมพันธ์ / รมช.ศธ. เปิดการประชุมเรียนรู้ประวัติศาสตร์ตามแนวพระราชดำริ

รมช.ศธ. เปิดการประชุมเรียนรู้ประวัติศาสตร์ตามแนวพระราชดำริ

รมช.ศธ. เปิดการประชุมเรียนรู้ประวัติศาสตร์ตามแนวพระราชดำริ

***30 สิงหาคม 2560 ณ โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพฯ หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีช่วย
ว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(รมช.ศธ.) เป็นประธานเปิดการประชุมปฏิบัติการ “การเรียนรู้ประวัติศาสตร์ที่สร้างเสริมทักษะทางประวัติศาสตร์ตามแนวพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชการที่ ๙ และพิธีมอบรางวัลการประกวดกิจกรรมประวัติศาสตร์ ที่ใช้ทักษะทางประวัติศาสตร์และแหล่งเรียนรู้ในท้องถิ่น”
รมช.ศธ. กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการได้น้อมนำพระบรมราโชบายด้านการศึกษาของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพวรางกูร ที่ว่า “การศึกษาต้องมุ่งสร้างพื้นฐานให้แก่ผู้เรียนใน 2 ด้าน คือ ส่งเสริมให้นักเรียนมีทัศนคติที่ถูกต้อง และมุ่งสร้างพื้นฐานชีวิต หรืออุปนิสัยที่มั่งคงเข้มแข็ง อาทิ การสร้างบุคลิก และอุปนิสัยที่ดีงาม” เพื่อให้การศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นพลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ จึงได้ดำเนินโครงการ “การพัฒนาการจัดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ชาติไทย ตามแนวพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชการที่ ๙” ด้วยการเสริมสร้างทักษะการคิดวิเคราะห์ผ่านกิจกรรม Active Learning การเรียนรู้ประวัติศาสตร์ชาติไทย ซึ่งเป็นโครงการที่มุ่งเน้นพัฒนาการจัดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ เพื่อให้ผู้เรียนมีความรู้ความเข้าใจ ความเป็นมาของประวัติศาสตร์ชาติไทย ความเป็นไทย ความรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ได้รับการฝึกฝนทักษะการคิดวิเคราะห์ผ่านการลงมือปฏิบัติกิจกรรมรูปแบบ Active Learning และได้แสดงความจงรักพักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เกิดความภาคภูมิใจในความเป็นไทย โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมจากผู้แทนสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาและมัธยมศึกษาที่รับผิดชอบสาระประวัติศาสตร์ ครูแกนนำการจัดการเรียนการสอนสาระประวัติศาสตร์ ผู้บริหารและนักวิชาการศึกษา จำนวน 600 คน
อีกทั้งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้จัดทำเอกสาร “แนวการจัดกิจกรรม Active Learning ที่เสริมสร้างทักษะการคิดวิเคราะห์ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย” และเอกสาร “การเรียนรู้ประวัติศาสตร์ผ่านแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์” ขึ้น ซึ่งเป็นชุดกิจกรรมที่มุ่งเน้นการพัฒนาทักษะทางประวัติศาสตร์ 3 ขั้นตอน คือ ขั้นการรู้จักหลักฐานที่หลากหลาย (Sourcing) ขั้นการประเมินคุณค่าของหลักฐานหรือการวิพากษ์หลักฐาน (Corroboration) และขั้นการวิเคราะห์สังเคราะห์โดยการใช้ข้อมูลที่ผ่านการวิพากษ์กับข้อมูลอื่นๆ (contextualizing) รวมเรียกว่าทักษะทางประวัติศาสตร์ 1S2C ซึ่งจะเป็นแรงบันดาลใจให้แก่ครูผู้สอนที่จะมีต้นแบบในการพัฒนาและปรับเสริมรูปแบบการสอนของตนต่อไป
บรรพต ข่าว/ชุติมา ภาพ