Home / ข่าวประชาสัมพันธ์ / ศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนา อย่างยั่งยืน

ศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนา อย่างยั่งยืน

ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน วันศุกร์ที่ 23 พฤศจิกายน 2561

title

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย วันศุกร์ที่ 23 พฤศจิกายน 2561 เวลา 20.15 น.

สวัสดีครับ พ่อแม่พี่น้องชาวไทยที่รัก ทุกท่าน
เนื่องในโอกาสที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระราชานุญาตให้จัดงาน “อุ่นไอรัก คลายความหนาว สายน้ำแห่งรัตนโกสินทร์” ระหว่างวันที่ 9 ธันวาคม 2561 ถึง วันที่ 19 มกราคม 2562 ณ พระลานพระราชวังดุสิตและสนามเสือป่า  และได้พระราชทานพระราชานุญาตให้จัดกิจกรรมปั่นจักรยาน “Bike อุ่นไอรัก” ในโอกาสพิธีเปิดงานอุ่นไอรักฯ วันอาทิตย์ที่ 9 ธันวาคม เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนเห็นความสำคัญในการรักษาสุขภาพด้วยการออกกำลังกาย  อีกทั้งยังเป็นการเสริมสร้างความรัก ความสามัคคี ในครอบครัวและสังคม ในการนี้จะทรงจักรยานในเส้นทางประวัติศาสตร์ ผ่านสายน้ำคูคลองสำคัญต่าง ๆ อาทิ คลองมหานาค คลองผดุงกรุงเกษม คลองหลักของกรุงรัตนโกสินทร์ ไปยังคลองลัดโพธิ์ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ  ซึ่งเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ   ด้านการบริหารจัดการน้ำของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รวมระยะทางไป – กลับ 39 กิโลเมตร
ซึ่งกิจกรรมปั่นจักรยานนี้จะดำเนินการอย่างพร้อมเพียงกัน ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค  ประชาชนผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว สามารถลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันที่ 19 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ณ ศาลากลางจังหวัด ที่ว่าการอำเภอทั่วประเทศ และระบบออนไลน์ผ่านทางเว็บไซต์บนหน้าจอ ทั้งนี้ ปัจจุบัน มีผู้ลงทะเบียนแล้วทั้งสิ้นกว่า 2 แสนคนจากทั่วประเทศ นอกจากนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานเสื้อที่ทรงออกแบบด้วยพระองค์เอง แก่ผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมปั่นจักรยานในกิจกรรม “Bike อุ่นไอรัก” ในครั้งนี้ด้วย โดยเป็นเสื้อพระราชทานสีเหลืองคาดด้วยสีฟ้า ด้านหลังมีภาพวาดการ์ตูนฝีพระหัตถ์ พร้อมทั้งพระปรมาภิไธย ซึ่งในวันที่ 28 พฤศจิกายน นี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด จะเข้ารับพระราชทานเสื้อ เพื่อเชิญไปมอบแก่ผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมกิจกรรมทุกคน ในวันที่ 1 และ 2 ธันวาคม นี้ ณ ศาลากลางจังหวัด ทุกจังหวัด ส่วนในกรุงเทพฯ รับที่สนามศุภชลาศัย สนามกีฬาแห่งชาติ นะครับ
 
พี่น้องประชาชนครับ
ผมยังมีเรื่องติดค้างจากภารกิจ ณ ต่างประเทศ ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็คือการเข้าร่วมประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจ เอเปค ครั้งที่ 26 ที่รัฐเอกราชปาปัวนิวกินี โดยหัวข้อหลักในการประชุม ได้แก่ “การสร้างโอกาสอย่างครอบคลุมเพื่อเปิดรับอนาคตทางดิจิทัล” ที่เน้นการหารือในประเด็นสำคัญ 3 เรื่อง ได้แก่ (1) การพัฒนาความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจในภูมิภาค  (2) การส่งเสริมการเจริญเติบโตให้ทั่วถึงและยั่งยืน  และ (3) การเสริมสร้างการเจริญเติบโตอย่างทั่วถึง ผ่านการปฏิรูปโครงสร้าง ทั้งนี้ ในระหว่างการประชุมร่วมกับตัวแทนสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจ เอเปค นั้น ผมได้เล่าเรื่องให้ที่ประชุมฟัง ถึงความก้าวหน้าของไทยในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล ด้วยการติดตั้งอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ที่เราเรียกว่า “เน็ตประชารัฐ” ให้กับประชาชนทั่วประเทศ แม้ในพื้นที่ห่างไกล การปรับปรุงกฎระเบียบให้เหมาะสมกับยุคดิจิทัล และการร่วมมือกับภาคเอกชน เพื่อจะพัฒนาทักษะวิชาชีพให้กับแรงงานและผู้มีรายได้น้อย เพื่อจะเพิ่มรายได้ นอกจากนี้ ยังได้จัดตั้ง Platform ส่งเสริมวิสาหกิจขนาดย่อม – ขนาดเล็ก และขนาดกลาง หรือที่เรียกกว่า Micro SMEs ให้สามารถทำการค้าขาย Online และ e-Commerce ได้ เพื่อเปิดกว้างสู่ตลาดโลก  อีกทั้งมีความร่วมมือกับบริษัทใหญ่ อย่างAlibaba เพื่อจะเสริมสร้างศักยภาพให้ Micro  SMEs ของเราด้วย ก็จะทำให้ไทยมีความพร้อมในการเชื่อมโยง ทั้งด้านการค้าและการลงทุนกับธุรกิจในภูมิภาค

ในการประชุมกับผู้นำเอเปค นั้น ผมได้ชักชวนให้เอเปคมองไปข้างหน้า และกระชับความร่วมมือในเรื่องของการพัฒนาทักษะและการศึกษา เพื่อจะรองรับการการเข้าสู่ยุคดิจิทัล การเสริมสร้างศักยภาพและบุคลากรด้าน Cyber Security การสนับสนุนการค้าแบบพหุภาคีและการจัดตั้งเขตการค้าเสรีระหว่างกัน ที่จะช่วยส่งเสริมให้เกิดความมั่นคงทางอาหาร เกษตรกรรม และประมง ที่ยั่งยืน  ซึ่งผมได้ขอให้เน้นส่งเสริมการเปิดเสรีการค้า ควบคู่ไปกับการสนับสนุนให้เกิดการเจริญเติบโตอย่างครอบคลุม โดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง รวมทั้งส่งเสริมธุรกิจที่ต้องเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่ออนาคตของคนรุ่นหลังด้วย

จากการประชุมครั้งนี้ เราได้เห็นถึงประเด็นปัญหาด้านการค้าระหว่างประเทศใหญ่ ๆ ที่ยังมีความเห็นอาจจะไม่ตรงกันอยู่บ้าง ซึ่งก็เป็นประเด็นที่เราได้ยิน ได้ฟัง มาระยะหนึ่งแล้ว รัฐบาลได้ตระหนักและเตรียมมาตรการรองรับล่วงหน้าสำหรับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น สำหรับท่าทีของไทยนั้น ยังคงสนับสนุนความร่วมมือกับมิตรประเทศ ในการที่จะส่งเสริมการค้าแบบพหุภาคี ที่เปิดกว้าง เสรี ทั่วถึง และยั่งยืน อันจะเป็นประโยชน์กับบ้านเมืองและพี่น้องประชาชนในระยะยาว ขณะเดียวกัน ประเทศในภูมิภาคนี้ ก็ยังสามารถร่วมมือกัน ยกระดับความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจระหว่างกัน เพื่อการสร้างศักยภาพในด้านอื่น ๆ ให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลก เช่น การส่งเสริมให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ทั่วถึงและยั่งยืน และเศรษฐกิจดิจิทัล

ทั้งนี้ในการเตรียมคนไทย เยาวชนไทยไปสู่อนาคต เพื่อจะรองรับการเปลี่ยนแปลงดังที่ผมได้กล่าวไปแล้วนั้น ในที่ประชุมต่าง ๆ เราได้มีการจัดกิจกรรมที่หลากหลายมาอย่างต่อเนื่อง โดยช่วงสุดสัปดาห์นี้ ระหว่างวันที่ 23 – 25 พฤศจิกายน ก็จะมีการจัดงาน “ขับเคลื่อน ไทยแลนด์ 4.0 ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม” ณ พื้นที่สยามสแควร์ เพื่อแสดงให้เห็นทิศทางในการขับเคลื่อนประเทศในยุคดิจิทัลของรัฐบาลนี้ เพื่อจะนำไปสู่การเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ การขยายผลและการต่อยอดงานวิจัยและพัฒนาไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มในเชิงพาณิชย์ อีกทั้งการยกระดับ SMEs และ Startup ผ่านกลไกประชารัฐ เป็นต้น  ผมขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนที่สนใจ  ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กและเยาวชน ที่จะเติบโตขึ้นมาเป็น “คนไทยในศตวรรษที่ 21” ได้มาร่วมในงานตามวันและเวลาดังกล่าวด้วยนะครับ
 
พี่น้องประชาชนที่เคารพครับ
ภายใต้สภาวะสงครามการค้า และเศรษฐกิจโลกที่ยังคงชะลอตัว เศรษฐกิจไทยในภาพรวม ยังสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง การส่งออก 9 เดือนแรก ยังขยายตัว 8.1% เมื่อเทียบช่วงเดียวกัน ของปีก่อน รายได้จากการท่องเที่ยว โดยเฉพาะจากนักท่องเที่ยวชาวจีน แม้จะลดลง แต่ไทยก็ยังครองความเป็นที่หมายอันดับ 1 ของชาวจีนอยู่ในปัจจุบัน สิ่งสำคัญที่รัฐบาลให้ความสนใจอยู่เสมอ คือทำอย่างไรการกระจายรายได้ลงไปสู่พี่น้องประชาชนได้อย่างทั่วถึง โดยเฉพาะกลุ่มฐานราก และพี่น้องประชาชนผู้มีรายได้น้อย ซึ่งรัฐบาลก็ได้ดำเนินการในหลาย ๆ เรื่องด้วยกัน เพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนกลุ่มนี้ ทั้งการเพิ่มรายได้ การปรับปรุงและขยายโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนน และอินเทอร์เน็ต การเสริมทักษะและฝึกอาชีพ รวมทั้งแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ หรือความเดือดร้อนจากการขายฝากที่ไม่เป็นธรรม เพื่อให้พี่น้องประชาชนสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างไม่ลำบากจนเกินไป อีกหนึ่งมาตรการสำคัญที่รัฐบาลนี้ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง  ก็คือการช่วยเหลือพี่น้องผู้มีรายได้น้อย ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ อาทิ การบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันด้านต่าง ๆ เช่น การซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น ก๊าซหุงต้ม ค่าเดินทาง เงินเพิ่มสำหรับผู้ต้องการพัฒนาอาชีพ และผู้สูงอายุ รวมถึงการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มเข้าไปในกระเป๋าเงิน ในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเป็นต้น

อย่างไรก็ดี จากการสำรวจและสอบถามถึงปัญหา และความต้องการได้รับความช่วยเหลือผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รวมทั้งการวิเคราะห์ฐานข้อมูลที่มีในปัจจุบัน ทราบว่าการดำเนินการที่ผ่านมานั้น สามารถตอบโจทย์ความต้องการที่หลากหลายได้ ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่ทั้งหมด เราก็จำเป็นต้องมีมาตรการที่เจาะจงเฉพาะกลุ่มลงไปเพื่อให้ได้รับประโยชน์สูงสุด ผมคิดว่าการอยู่ร่วมกันในสังคม เราจำเป็นต้องเฉลี่ยทุกข์ เฉลี่ยสุข โดยเฉพาะความทุกข์ที่เป็นผลมาจากการขาดโอกาสในอดีต หรือเลือกเกิดไม่ได้ ซึ่งเขาเหล่านั้นต้องการโอกาสตั้งตัว หรือการผ่อนปรนภาระบางส่วน ซึ่งรัฐบาลก็พยายามจะปรับมาตรการให้ตรงจุด ตรงความเดือดร้อนของแต่ละกลุ่ม โดยล่าสุดก็ได้มีมาตรการเพิ่มเติม อีก 4 มาตรการ คือ

1. มาตรการช่วยเหลือค่าน้ำ – ค่าไฟฟ้า ซึ่งเป็นความช่วยเหลือเพิ่มเติมจากการที่ผู้มีรายได้น้อยใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 50 หน่วยต่อเดือน ติดกัน 3 เดือน ซึ่งจะมีสิทธิค่าไฟฟ้าฟรีอยู่แล้ว ซึ่งมาตรการนี้ จะช่วยเหลือผู้ที่ใช้ไฟฟ้าเกิน 50 หน่วย แต่ไม่เกิน 230 บาทต่อเดือน และน้ำประปาไม่เกิน 100 บาทต่อเดือน ซึ่ง 1 ครัวเรือน ใช้ได้เพียง 1 สิทธิ เท่านั้น โดยให้ไปชำระค่าน้ำ – ค่าไฟ ตามปกติ พร้อมกับยื่นบัตรสวัสดิการ จากนั้นภาครัฐจะโอนเงินคืนไปยังกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ให้สามารถถอนเงินสดออกมาได้ในเดือนถัดไป มาตรการชั่วคราวนี้ จะเริ่มตั้งแต่เดือนธันวาคม 2561 ถึงเดือนกันยายน 2562 คิดเป็นระยะเวลา 10 เดือน เท่านั้นครับ
2. การสนับสนุนค่าใช้จ่ายช่วงปลายปีคนละ 500 บาท ในเดือนธันวาคมเพียงเดือนเดีย ซึ่งจะมีการโอนเข้ากระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ของท่านเช่นกัน เพื่อจะรองรับค่าใช้จ่ายที่จะเพิ่มขึ้น ในช่วงสิ้นปีสำหรับผู้ถือบัตรสวัสดิการฯ ที่มีรายได้น้อยอยู่แล้ว แต่มักมีรายจ่ายเพิ่มเป็นค่าเดินทางกลับภูมิลำเนา กลับไปหาครอบครัว หรือซื้อของฝาก
3. ค่าเดินทางไปรักษาพยาบาล และค่าใช้จ่ายอื่นเกี่ยวกับสุขภาพ คนละ 1,000 บาท สำหรับผู้มีบัตรสวัสดิการฯ ที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป โดยจะได้รับครั้งเดียวในเดือนธันวาคมนี้ และจะสามารถใช้วงเงินนี้ได้ จนถึงเดือนกันยายนปีหน้า
และ 4. ค่าเช่าบ้าน คนละ 400 บาทต่อเดือน สำหรับผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยจะได้รับเงินในกระเป๋าอิเล็กทรอนิกส์ตั้งแต่เดือนธันวาคม ปีนี้ ถึงเดือนกันยายน ปีหน้า

ซึ่งเป็นการเติมเงินเข้ากระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ จากทั้ง 4 มาตรการนี้ ผู้มีรายได้น้อยสามารถจะถอนเป็นเงินไปใช้จ่ายได้ เหมือนบัตร ATM โดยงบประมาณที่ใช้ เป็นเงินจากกองทุนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม เพื่อให้สามารถตอบโจทย์ผู้มีรายได้น้อย ได้อย่างตรงจุดมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ เนื่องจากประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สู่วัย ปัจจุบันยังมีผู้สูงอายุต้องเผชิญกับปัญหารายได้ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย เนื่องจากค่าครองชีพสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อค่ายา และค่าเดินทาง ซึ่งข้าราชการเกษียณจำนวนไม่น้อย หากได้รับการปรับอัตราและวิธีการจ่ายบำเหน็จ – บำนาญใหม่ ให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจอย่างเหมาะสม ก็จะช่วยให้สามารถดำรงชีพอยู่ได้อย่างมีความสุขมากขึ้น โดยอยู่ระหว่างการปรับแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง 2 เรื่อง ได้แก่
1.  การปรับเพิ่มเบี้ยหวัดบำนาญ ซึ่งปัจจุบันยังต่ำกว่าเดือนละ 10,000 บาท ให้ได้รับเต็มจำนวน 10,000 บาทต่อเดือน
และ 2. การขยายเพดานของวงเงินบำเหน็จดำรงชีพ ให้แก่ผู้รับบำนาญซึ่งมีอายุตั้งแต่ 70 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป เพิ่มอีก 100,000 บาท จากเดิมเพดาน ไม่เกิน 400,000 บาท ปรับใหม่เป็น 500,000 บาท  อันนี้ก็เป็นวงเงินของท่านอยู่แล้วนะครับ
นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มประชาชนที่พอมีรายได้แต่ไม่มากนัก ทำให้ไม่สามารถมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองได้  รัฐบาลต้องสร้างความมั่นคงให้กับพี่น้องประชาชนและครอบครัวในกลุ่มนี้ จึงได้ให้ธนาคารอาคารสงเคราะห์ จัดทำ "โครงการบ้านล้านหลัง" ขึ้น เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยได้มีบ้านเป็นของตนเอง ในระดับราคาที่ไม่สูงมาก และเหมาะสมกับศักยภาพการหารายได้ของประชาชนในแต่ละกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ กลุ่มวัยทำงาน หรือประชาชนที่กำลังเริ่มต้นสร้างครอบครัว รวมถึงกลุ่มผู้สูงอายุ โดยจะมีการสนับสนุนสินเชื่อที่อยู่อาศัย ในเงื่อนไขผ่อนปรนสำหรับลูกค้ารายย่อย เพื่อจะนำไปจัดซื้อหรือปลูกสร้างที่อยู่อาศัย วงเงินไม่เกิน 1 ล้านบาท มีระยะเวลากู้สูงสุดไม่เกิน 40 ปี เป็นต้น ซึ่งโครงการนี้ จะมีระยะเวลาดำเนินโครงการ ตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบโครงการ คือ วันที่ 20 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ไปจนถึง วันที่ 30 ธันวาคม ปีหน้าครับ

ทั้งนี้ รายละเอียดสวัสดิการต่าง ๆ ผมอยากให้พี่น้องประชาชนได้ติดตาม สอบถาม ตรวจสอบข้อมูล ตามช่องทางต่าง ๆ ของภาครัฐด้วย เพื่อจะขอรับสวัสดิการหรือสิทธิที่พึงมี พึงได้           ของท่าน จะได้ไม่ขาดตกบกพร่อง เนื่องจากเป็นโอกาสที่รัฐบาลพยายามที่จะหยิบยื่นให้ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ผมเข้าใจดี ถึงความรู้สึกพี่น้องประชาชนผู้มีรายได้น้อยและปานกลาง เป็นอย่างดี และรัฐบาลนี้ ก็มีเจตนาที่ชัดเจนว่าเราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง แม้จะเป็นความสุขเพียงเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ตาม คนที่มีรายได้น้อยเราต้องดูแล อันนี้เป็นเรื่องของความเป็นธรรม
 
พี่น้องประชาชนที่เคารพครับ
สำหรับความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยาง  ผมก็อยากให้ทุกคนได้เข้าใจสภาพแวดล้อมที่เกี่ยวกับตลาดยางพาราเสียก่อนนะครับ มิฉะนั้นคงไม่อาจเข้าใจว่าเราจะทำอะไร เพื่ออะไร  แล้วการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า และระยะยาว ควรจะเป็นอย่างไรจึงจะเหมาะสม ที่สำคัญก็คือ เราต้องร่วมือกันในการแก้ปัญหา ด้วยความเข้าใจซึ่งกันและกัน นับตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา เป็นเวลา 10 กว่าปีแล้ว ที่ได้มีการสนับสนุนให้มีการปลูกยางพารา ในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศนับล้านไร่  โดยไม่ได้มีการวางแผนการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด จึงส่งผลให้ประเทศไทยเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้ส่งออกยางพารามากที่สุดในโลก แต่ในปัจจุบันราคายางพาราในประเทศและในตลาดโลก มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกษตรกรชาวสวนยางส่วนใหญ่ประสบความเดือดร้อน มีรายได้ไม่เพียงพอ รัฐบาลก็จำเป็นต้องเข้ามาช่วยเหลือ เช่นเดียวกับพืชเศรษฐกิจอื่น ๆ โดยได้ทำการศึกษาข้อมูลพื้นฐานของปัญหา ที่มาของภาวะวิกฤติ ราคายางพาราและแนวทางแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำ จากข้อมูลและข้อเท็จจริงในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ รวมทั้งรวบรวมข้อมูลจากองค์การศึกษาเรื่องยางระหว่างประเทศ (IRSG) หน่วยงานของรัฐ และสถาบันการศึกษาต่าง ๆ จนค้นพบข้อเท็จจริงที่สำคัญ สรุปได้ดังนี้
1. ประเทศไทยมีพื้นที่กรีดยางมากที่สุด ในกลุ่มประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ อันได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย จีน เวียดนาม อินเดีย และไทย โดยในปี 2560 ประเทศไทยมีพื้นที่กรีดยางได้มากกว่า 20 ล้านไร่ ทำให้ประเทศไทยมีผลผลิตยางมากที่สุดในโลก เมื่อเทียบกับการผลิตยางธรรมชาติของทั้ง 6 ประเทศรายใหญ่ของโลก คือประมาณ 4.5 ล้านตัน
2. ต้นทุนการผลิตยางแผ่นดิบของประเทศไทย ปี 50 – 59 มีอัตราการเติบโตสูงขึ้น เป็นระยะ ๆ ประมาณร้อยละ 7 โดยไม่มีท่าทีว่าจะลดลงแต่อย่างใด
3. ในขณะที่ต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้น แต่ราคาขายยางพารากลับลดลง โดยปี 50 – 59 มี ต้นทุนเฉลี่ยเท่ากับร้อยละ 6.94  แต่ราคาขายเฉลี่ยติดลบ ร้อยละ 3.76
4. ปัจจุบัน ราคายางพาราอยู่ในภาวะขาลง โดยช่วงปี 51 – 60 ราคายางแท่งหดตัวลง เฉลี่ยร้อยละ 4.12 และราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 หดตัวลงเฉลี่ยร้อยละ 2.86
และ 5. สถานการณ์ราคายางพาราเมื่อเปรียบเทียบกับผลผลิตทั้งประเทศ ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ปริมาณผลผลิตยางเฉลี่ยในประเทศไทย มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเป็นระยะ ๆ โดยช่วง 4 ปีท้ายนี้ มีปริมาณผลผลิตยางมากที่สุดราว 4.5 ล้านตัน ซึ่งมากกว่าทุก ๆ ช่วงเวลาที่ผ่านมา ในขณะที่ราคายางพาราในตลาดโลก กลับลดลงเรื่อย ๆ สวนทางกับปริมาณผลผลิตที่เพิ่มขึ้น ยิ่งกว่านั้น ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ช่วงปี 2557 – 2561 ก็มีราคาลดต่ำลง ทำให้มีการใช้ยางสังเคราะห์แบบน้ำมัน แทนการใช้ยางพาราเพิ่มสูงขึ้น อีกทั้ง ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน และประเทศคู่ค้าอื่น ๆ ของสหรัฐอเมริกา  ส่งผลให้การส่งออกยางพาราจากไทยไปยังประเทศจีน หรือ ประเทศลูกค้ารายสำคัญลดลง ทำให้ราคายางในประเทศไทยลดลงตามไปด้วย

 จากข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่าการแก้ไขปัญหาราคายางพาราในประเทศไทยให้ยั่งยืน และไม่มีผลกระทบต่อระบบการคลังของประเทศ ก็คือการลดการพึ่งพาการส่งออกเพราะราคายางพาราในต่างประเทศอยู่ในภาวะเวลาลดลงทุกตลาด  และราคายางพาราซื้อขายในประเทศ ก็ยังอิงกับราคาซื้อขายยางพาราล่วงหน้าในต่างประเทศด้วย ขณะเดียวกันก็ต้องเพิ่มปริมาณการใช้ยางพาราในประเทศให้มากขึ้น พร้อมกับการปรับสมดุลลดปริมาณ ยางพาราลงด้วย ซึ่งก็จะทำให้ราคายางพาราในประเทศมีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น 

ดังนั้น รัฐบาลก็จึงมีข้อเสนอในการแก้ไขปัญหายางพาราต่อคณะกรรมการยางพารา และ คณะกรรมการนโยบายยางพาราธรรมชาติ ในระยะเร่งด่วน เพื่อจะทุเลาความเดือดร้อนของเกษตรกรชาวสวนยาวพารา ดังนี้
1. การจัดทำโครงการเร่งด่วนพัฒนาอาชีพ เพื่อจะสร้างความเข้มแข็งแก่เกษตรกรชาวสวนยางและเป็นรายครอบครัว เพื่อให้มีรายได้เพิ่มขึ้นในระหว่างราคายางพาราตกต่ำ
2. การลดปริมาณการผลิตยางพารา โดยส่งเสริมให้มีการปรับเปลี่ยนต้นยางพาราที่มีอายุ 25 ปีขึ้นไป หรืออายุ 15 ปีที่มีต้นโทรม ให้น้ำยางน้อย ไม่คุ้มค่าไปปลูกพืชอื่น ๆ รวมทั้งมีการสนับสนุนให้มีการปลูกพืชอื่นแซมในสวนยาง  โดยอาจพิจารณาให้แรงจูงใจกับเกษตรกรมากกว่าปัจจุบัน  เพื่อจะเร่งการตัดสินใจลดปริมาณการผลิตยาง โดยจะต้องทำควบคู่กับการให้แรงจูงใจกับผู้ผลิตในอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ ที่ใช้ไม้ยางพาราในประเทศเป็นวัตถุดิบ หรือลดภาษีสินค้าเฟอร์นิเจอร์ที่ใช้ไม้ยางพาราในประเทศเป็นวัตถุดิบ เพื่อจะเพิ่มอุปสงค์ไม้ยางพารา ให้สอดรับกับอุปทานที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้น
3. เชิญชวนและเปิดรับสมัครเกษตรกรชาวสวนยางทั่วประเทศ ที่สนใจจะเข้าร่วมโครงการฝากน้ำยางไว้กับต้นยาง ช่วงราคาตกต่ำ หรืออาจจะช่วยกันหยุดกรีดยาง เป็นเวลา 1 – 2 เดือน อาจจะทำให้ยางพาราลดลงจากตลาดไปในทันที จำนวน 5 แสนตันต่อเดือน ทั้งนี้เพื่อเป็นการกระตุ้นราคายางพาราในตลาด เพราะการซื้อขายยางนั้นใช้รูปแบบเดียวกับสินค้าโภคภัณฑ์อื่น ๆ ที่มีการซื้อขายแบบส่งมอบสินค้า และซื้อขายล่วงหน้า มีสัญญาส่งมอบสินค้า เมื่อครบอายุสัญญา ซึ่งวิธีการหยุดกรีดยางนี้ หากสามารถควบคุมการหยุดกรีดได้จริง ก็จะมีผลต่อราคายางพาราให้สูงขึ้นมาก หากมีเกษตรกรชาวสวนยางทั้งประเทศเห็นด้วย ร่วมมือกับมาตรการดังกล่าว และสมัครเข้าร่วมโครงการ มากกว่าร้อยละ 80 ของเกษตรกรชาวสวนยางทั่วประเทศ ก็จะได้ให้ กยท. ไปจัดทำโครงการ อันนี้ไม่ได้บังคับนะครับ เชิญชวนความสมัครใจของท่าน ถ้าถึง 80% เราก็จะไปจัดทำโครงการเหล่านี้ ในการที่จะส่งเสริมอาชีพชาวสวนยางระหว่างโครงการเพื่อให้มีรายได้มาชดเชย ช่วงหยุดกรีดยางต่อไป
4. ขอความร่วมมือบริษัทหรือภาคเอกชน ที่มีธุรกิจแปรรูปหรือโรงงานอุตสาหกรรมผลิตล้อยางส่งขายในต่างประเทศ และภายในประเทศ  เพื่อจะขอให้เข้าร่วมรณรงค์เชิญชวนให้ประชาชนเปลี่ยนยางล้อรถยนต์ในช่วงเทศกาลปีใหม่ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยทางถนน ในราคาถูก โดยให้ประชาชนได้สิทธินำใบเสร็จซื้อยางล้อรถยนต์ไปลดภาษีเงินได้บุคคล หรือนิติบุคคลประจำปี ในขณะที่บริษัทเอกชน หรือโรงงานที่เข้าร่วมโครงการผลิตยางรถยนต์ราคาถูก ก็จะได้สิทธิพิเศษทางภาษีเช่นกัน โดยมีเงื่อนไขและหลักฐานว่า ได้ซื้อยางพาราจากกลุ่มเกษตรกร หรือสถาบันเกษตรกรที่มี กยท. รับรองโดยตรงด้วย รวมทั้งให้เชิญชวนบริษัทเอกชนทั้งของไทยและต่างประเทศ ให้เข้ามาลงทุนผลิต หรือรับแปรรูปยางส่งไปขายต่างประเทศ ให้มีสิทธิพิเศษทางการลงทุน ตามที่หน่วยงานรัฐ และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) จะได้กำหนดต่อไป
และ 5. ส่งเสริมและเร่งรัดการใช้ยางพาราในประเทศให้มากขึ้นอย่างเร่งด่วน โดยส่งเสริมการใช้ยางพารา และผลิตภัณฑ์จากยางพาราในทุกรูปแบบ โดยเริ่มจากหน่วยงานต่าง ๆ ของภาครัฐก่อน แล้วขยายไปสู่ตลาด หรืออุตสาหกรรมต่าง ๆ 

ทั้งนี้ แนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าวข้างต้น เป็นการดำเนินการในระยะเร่งด่วน เพื่อจะบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรเท่านั้น รัฐบาลยังคงสำรวจมาตรการใหม่ ๆ ที่จะสร้างความยั่งยืนให้กับวงการยางพาราของไทย  สิ่งสำคัญที่สุดก็คือความเข้าใจในข้อมูลพื้นฐานที่ผมได้กล่าวไปแล้ว จะทำให้เกิดความร่วมมือที่เราจะร่วมกันทำ ดำเนินการต่อไปให้เป็นผลตามที่รัฐบาลแนะนำนะครับ เรื่องยางพารานี่ก็มีปัญหาอีกอัน ก็คือเราไม่ใช่มีเฉพาะเจ้าของยางพารา เรามีผู้กรีดยางอีกด้วย เพราะฉะนั้นเราต้องพิจารณาสัดส่วนในการที่จะช่วยเหลือทั้งเจ้าของสวนยางและผู้รับจ้างกรีดยางด้วย ซึ่งขณะนี้ได้มีการขึ้นทะเบียนไปแล้ว เราจะดูแลในส่วนนี้ได้
สุดท้ายนี้ ผมได้เตรียมของขวัญปีใหม่สำหรับเยาวชน และพี่น้องประชาชนทุกคน ด้วยการสนับสนุนให้รักการอ่าน และการเข้าถึงหนังสือคุณภาพของทางราชการ และสถาบันการศึกษา โดยได้สั่งการให้มีการจัดทำสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (e-Books) วีดิทัศน์ ไฟล์เสียง เป็นต้น เพื่อให้มีความทันสมัย และเป็นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้อมูลเอกสารความรู้ และ หนังสือแบบเรียนของกระทรวงศึกษาธิการ หรือหน่วยงานต่าง ๆ ให้ได้ใช้ประโยชน์ ซึ่งก็มีเป้าหมายจะเปิดตัวโครงการ National e-Library ในงานวันเด็กแห่งชาติปีหน้า ประกอบไปด้วย 2 ระบบ ก็คือ ประเภทสื่อการเรียนรู้ และข้อมูลความรู้สำหรับเยาวชน และประชาชนโดยทั่วไป ขอให้ทุกกระทรวงตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกระดับ ได้จัดทำไฟล์ข้อมูลเพื่อการอัพโหลดเข้าสู่ระบบ ที่ได้พัฒนาขึ้นภายใต้โครงการนี้ ทั้งนี้ก็เพื่อจะเพิ่มประสิทธิภาพในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จาก e-Library ของนักเรียนและประชาชนทั่วประเทศ ขอให้ติดตามผลงานที่สร้างสรรค์ เพื่อให้ทุก ๆ คน ได้เติบโต ก้าวหน้า พัฒนาตนเอง เป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพของบ้านเมืองในอนาคตด้วย
 ผมเชื่อว่าศักยภาพของคนทุกคนไร้ขีดจำกัด หากได้รับการพัฒนาอย่างถูกต้อง เหมาะสม รวมทั้งการสนับสนุนที่ดี และต่อเนื่อง อาทิ “โปรเม” เอรียา จุฑานุกาล นักกอล์ฟสาวไทยมือ 1 ของโลก ได้สร้างประวัติศาสตร์กวาดรางวัลใหญ่ ปิดท้ายฤดูกาลของ LPGA Tour ได้ครบทุกรางวัล และ รางวัลใหญ่ประจำปี อีกหลายรางวัล และ “ครูไอซ์” ดำเกิง มุ่งธัญญา  หรือ “อัจฉริยะในโลกมืด”ที่แม้จะพิการทางสายตา แต่ก็สามารถจะเอาชนะข้อจำกัดทางร่างกาย ด้วยจิตใจที่เข้มแข็ง สามารถจบการศึกษาคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เกียรตินิยมอันดับ 1 มาเป็นครูภาษาอังกฤษ สมความตั้งใจ ก็ขอชื่นชม ขอให้เป็นแรงบันดาลใจให้กับคนไทยทุก ๆ คน อย่าได้ลดละความพยายาม อย่ายอมจำนนต่ออุปสรรค หรืออย่าย่อท้อต่อโชคชะตานะครับ
        ขอบคุณนะครับ  ขอให้ทุกคนมีจิตใจที่มุ่งมั่น และทุกครอบครัวมีความอบอุ่น สวัสดีครับ