Home / ข่าวประชาสัมพันธ์ / MoU สานพลังประชารัฐ ด้านการศึกษาพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำ

MoU สานพลังประชารัฐ ด้านการศึกษาพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำ

ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ – นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และนางสาวเสาวณี มุสิแดง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MoU) "สานพลังประชารัฐ ด้านการศึกษาพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำ" ร่วมกับภาคประชาสังคม และภาคเอกชนกว่า 25 องค์กรชั้นนำระดับประเทศ นำโดยนายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ในฐานะหัวหน้าทีมภาคเอกชน เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 3 มีนาคม 2559 ณ ห้องบอลรูม โดยมี นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, นายโยธิน มูลกำบิล ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, พล.อ.สุทัศน์ กาญจนานนท์กุล ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, พ.อ.ณัฐพงษ์ เพราแก้ว เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, หม่อมหลวงปริยดา ดิศกุล ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, นายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, นายกมล รอดคล้าย เลขาธิการสภาการศึกษา, นายชัยยศ อิ่มสุวรรณ์ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ, นายพะโยม ชิณวงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, ผู้บริหารและผู้แทนจากหน่วยงานภาคเอกชนและภาคประชาสังคม ตลอดจนผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั้ง 225 เขต เข้าร่วมพิธีลงนาม

พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ ในฐานะหัวหน้าทีมภาครัฐ กล่าวว่า การลงนามในครั้งนี้ได้มี รมช.ศึกษาธิการ พร้อมด้วยผู้บริหารองค์กรหลัก และผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั้ง 225 เขตจากทั่วประเทศไทยเข้าร่วมด้วย เพราะบุคคลเหล่านี้จะเป็นผู้ร่วมกันขับเคลื่อนการดำเนินงานประชารัฐ

ภายหลังได้รับชมการแสดงในพิธีเปิด ซึ่งเด็กๆ ร้องเพลง "วันพรุ่งนี้" ได้เห็นแววตาและสิ่งที่เด็กๆ เปล่งออกมา ทำให้เกิดความรู้สึกว่าชีวิตลูกหลานขึ้นอยู่กับพวกเรา กึ่งหนึ่งชื่นชมในความสามารถ อีกกึ่งหนึ่งเกิดความกดดันที่จะต้องทำหน้าที่ให้เข้มแข็ง แต่ก็ถือเป็นพลังในการดำเนินการต่อไป

ที่ผ่านมา รัฐบาลพยายามแก้ปัญหาการศึกษามาโดยตลอด จะผิดหรือถูกก็ดำเนินการโดยลำพัง เอกชนมีส่วนร่วมน้อยมาก และผลปรากฏออกมาอย่างที่เห็นในสังคมว่ายังไม่ประสบความสำเร็จในเรื่องการศึกษาของประเทศไทยเท่าที่ควร จึงขอขอบคุณนายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรี (สมคิด จาตุศรีพิทักษ์) ที่ทำให้เกิดนโยบายประชารัฐขึ้นมา โดยเฉพาะการเข้ามามีส่วนร่วมของภาคเอกชน

ภายหลังจากที่ได้เริ่มมีการหารือกับภาคเอกชน ทำให้ทราบว่านี่คือ "ทองคำ" กล่าวคือ ความร่วมมือกับภาคเอกชนจะทำให้กระทรวงศึกษาธิการและคนไทยได้ประโยชน์ การรวมกันเป็นเรื่องเป็นราวและรวมพลังที่มีทิศทางในการเดินไปด้วยกัน ไม่ใช่ต่างคนต่างไป ในอดีตบริษัทของภาคเอกชนมีการทำ CSR ในหลาย ๆ ด้านตามความต้องการและขีดความสามารถของบริษัทตนเอง อาจจะตรงหรือไม่ตรงกับสิ่งที่รัฐดำเนินการ แต่ความร่วมมือของประชารัฐในครั้งนี้เป็น Social Enterprise ซึ่งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม จะร่วมดำเนินการไปด้วยกัน

ในช่วงแรกของการหารือที่มีผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนมากนั้น กระทรวงศึกษาธิการได้นำเสนอให้ภาคเอกชนได้รับทราบว่ากำลังดำเนินการสิ่งใดอยู่ ประสบปัญหาในการดำเนินงานอย่างไร และกำลังแก้ไขปัญหาการศึกษาด้านใดบ้าง ซึ่งหลายเรื่องภาคเอกชนก็ไม่เคยทราบว่าปัญหาคืออะไร เพราะมองในฐานะบุคคลภายนอก และเกิดความขัดข้องหมองใจว่าทำไมไม่ดำเนินการอะไรสักที แต่เมื่อภาคเอกชนได้รับฟังข้อมูลจากภาครัฐทำให้เข้าใจการดำเนินงานของรัฐมากขึ้น ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการ ก็ได้รับฟังความเห็นจากภาคเอกชน ทำให้ได้แนวทางการแก้ปัญหาใหม่ที่กระทรวงศึกษาธิการมองไม่เห็น เมื่อสองส่วนมารวมกัน จึงเกิดเป็นแนวทางในการดำเนินงานที่ภาครัฐและภาคเอกชนจะร่วมมือกัน

คณะทำงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ได้ประชุมหารือเพื่อหาแนวทางและกรอบการดำเนินงานร่วมกันอย่างเป็นทางการ 4 ครั้ง อีกทั้งมีการประชุมของคณะทำงานกลุ่มย่อยอีกหลายครั้ง ทำให้ขณะนี้ได้แนวทางการแก้ปัญหาการศึกษาของไทย ซึ่งสิ่งที่คณะทำงานนี้จะดำเนินการ อาจแก้ปัญหาไม่ได้ทั้งหมด แต่ก็เป็นแนวทางในการแก้ปัญหาที่เห็นผล ซึ่งการดำเนินการร่วมกันของทุกภาคส่วนจะสำเร็จได้ รัฐต้องช่วยสนับสนุน โดยการปรับกฎและกติกาให้สอดคล้องและสนับสนุนให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ การทำงานในยุคปฏิรูปต้องทำงานแบบหามรุ่งหามค่ำ จะต้องไม่ทำงานแบบเล่นไพ่รอตำรวจ นั่นคือต้องทำงานอย่างจริงจัง

สำหรับเป้าหมายการดำเนินงานในขณะนี้ คือ การรับสมัครโรงเรียนต้นแบบประชารัฐกว่า 10,000 แห่ง จากนั้นคัดกรองเหลือ 7,424 แห่ง และจะดำเนินงานในระยะแรก 3,322 แห่ง ซึ่งในการดำเนินงานขั้นต่อไป คือการภาคเอกชนจะเข้าไปดูแล และจัดสรรว่าองค์กรใดจะรับผิดชอบและดูแลโรงเรียนในเขตพื้นที่การศึกษาใดบ้าง โดยคาดว่าจะขับเคลื่อนการดำเนินงานดังกล่าวได้ในเดือนพฤษภาคมนี้

นอกจากนี้ จะมีการตั้งศูนย์ปฏิบัติการคณะทำงานแบบเต็มเวลา โดยมีบุคลากรของทั้งภาครัฐและภาคเอกชนดูแล โดยมีที่ทำการอยู่ที่อาคารทรู ทาวเวอร์ อีกทั้งจะมีศูนย์ปฏิบัติการย่อยในแต่ละจังหวัด เพื่อรองรับการนำนโยบายไปปฏิบัติในต่างจังหวัดด้วย

ขอขอบคุณรัฐบาลและรองนายกรัฐมนตรีที่ทำให้เกิดนโยบายประชารัฐขึ้นมา ส่งผลให้กระทรวงศึกษาธิการได้รับประโยชน์อย่างมาก และขอขอบคุณภาคเอกชนด้วยความจริงใจ เพราะภาคเอกชนทุกท่านที่มาร่วมเป็นกรรมการหลัก เป็นผู้ที่มีความรู้ด้านการศึกษามากเหลือเกิน คาดว่าการทำงานร่วมกันของทุกฝ่ายภายใต้คณะทำงานสานพลังประชารัฐนี้ จะดำเนินไปได้ด้วยดี

030359-1

นายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ในฐานะหัวหน้าทีมภาคเอกชน กล่าวว่า ในนามตัวแทนของภาคเอกชนและภาคประชาสังคม ขอขอบคุณนายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรีที่ได้สร้างนโยบายประชารัฐ ซึ่งจะตอบโจทย์ 3 ข้อให้กับประเทศ ได้แก่ การลดความเหลื่อมล้ำ การสร้างศักยภาพการแข่งขัน และการสร้างคุณภาพทรัพยากรมนุษย์

ทั้ง 3 เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก จึงแตกออกเป็นคณะทำงานประชารัฐ 12 คณะ โดยคณะทำงานประชารัฐด้านการศึกษาพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำ เป็น 1 ใน 12 คณะ จึงถือเป็นโอกาส การได้รับเกียรติ และการได้รับความไว้วางใจให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมกับการดำเนินงานของรัฐ เพราะที่ผ่านมาภาครัฐและภาคเอกชนทำงานกันคนละทิศคนละทาง ภาคเอกชนได้แต่บ่นว่าทำไมระบบการศึกษาของไทยยังพัฒนาสู้ประเทศอื่นไม่ได้ จึงขอเรียนตามตรงว่าในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมานี้ รัฐได้ปลุกให้ภาคเอกชนได้ตื่นขึ้น เพราะเอกชนได้เรียนรู้ข้อจำกัดในกระบวนการการทำงานของหน่วยงานภาครัฐ และเข้าใจความสำคัญของกระบวนการการเรียนรู้และการศึกษาของประเทศมากขึ้น

ที่ผ่านมาภาคเอกชนได้มีการทำโครงการ CSR อยู่บ้าง แต่ความมีส่วนร่วมของเรามีน้อย โดยมี Commitment หรือความมุ่งมั่นของภาคเอกชนก็ไม่สอดคล้องและไม่ชัดเจนในการนำไปสู่การพัฒนาการศึกษาพื้นฐานของประเทศ แต่ขณะนี้เอกชนหลาย ๆ กลุ่ม รวมทั้งภาคประชาสังคมได้ตื่นแล้ว และเริ่มรู้สึกกดดันเหมือนกระทรวงศึกษาธิการในการพัฒนาการศึกษาไทยให้ดีขึ้น "รู้สึกจุกถึงตรงลิ้นปี่" ว่าที่ผ่านมาภาคเอกชนยังดำเนินการไม่พอ แม้จะคิดว่าดำเนินการแล้วแต่โดยรวมยังไม่พอ เนื่องจากไม่ได้รวมพลังกับภาครัฐและภาคประชาสังคมดังเช่นทุกวันนี้ จึงขอให้ภาครัฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ครู อาจารย์ มองว่าภาคเอกชนจะเข้ามาเป็น Partner ภาคเอกชนที่มีการรวมตัวกันจะพยายามขยายตัว และปลุกให้เอกชนทุกภาคฝ่าย พร้อมทั้งประชาชนให้มีส่วนร่วม

การศึกษาไม่ใช่เรื่องของรัฐบาลหรือกระทรวงศึกษาธิการเท่านั้น หากมองให้ลึกซึ้งจะพบว่าการที่ภาคเอกชนมีการดำเนินกิจการที่ดีได้นั้น ขึ้นอยู่กับการถ่ายทอดองค์ความรู้ในการศึกษา ผ่านสถาบันที่ทำหน้าที่ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้เยาวชนจากรุ่นสู่รุ่น นั่นก็คือโรงเรียน หากทุกฝ่ายไม่รวมพลังเราจะสามารถเปลี่ยนแปลงประเทศได้อย่างไร

ดังนั้น แนวทางในการร่วมมือกันเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ แบ่งออกเป็น 4 ประการ คือ

  • การแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เพียงพอต่อการเปรียบเทียบแข่งขันระหว่างโรงเรียน นำไปสู่การพัฒนาวิธีการเรียนการสอน และการเรียนรู้อย่างก้าวหน้า

  • ผู้ที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ เป็นภาระหนักของผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา เพราะบุคคลเหล่านี้คือผู้นำที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับประเทศ โดยร่วมมือกับภาคเอกชน ไม่ว่าสถานศึกษาจะขาดอะไร และต้องการสิ่งใด ภาคเอกชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการสนับสนุนได้

  • การสร้างความมีส่วนร่วมของผู้ปกครองและชุมชน  เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนประชาชนหรือผู้ปกครอง ซึ่งไม่ควรมองว่าการศึกษาเป็นหน้าที่รัฐเพียงอย่างเดียว แต่เป็นหน้าที่ของผู้ปกครองโดยตรง และในขณะเดียวกันก็เป็นหน้าที่ของโรงเรียนและชุมชนในการที่จะสร้างคุณค่าในการถ่ายทอดองค์ความรู้จากรุ่นสู่รุ่น เหล่านี้เป็นวิธีการที่ได้วางยุทธศาสตร์ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ

  • การเปลี่ยนวิธีการสอนโดยให้นักเรียนเป็นศูนย์กลาง และครูทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยความสะดวก ส่งเสริมให้เด็กที่เรียนรู้ รู้จักตั้งคำถาม และรักการค้นคว้าหาความรู้มาแลกเปลี่ยนกับเพื่อน โดยมีศูนย์กลางของข้อมูลที่ส่งผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร รวมทั้งอินเทอร์เน็ต ทำให้เกิดการเรียนรู้อย่างมหาศาล สิ่งเหล่านี้เป็นการปลุกให้ระบบการศึกษาตื่น เช่นเดียวกับการที่รัฐปลุกให้เอกชนตื่น จากนั้นจะต่อยอดความรู้จากการศึกษาพื้นฐานไปสู่ระดับมหาวิทยาลัย อีกทั้งจะมีการคัดเลือกเยาวชนที่มีความเป็นผู้นำ มีจิตใจนึกถึงส่วนรวม ซึ่งอาจไม่ใช่คนเก่งที่สุด แต่เป็นการเปิดโอกาสให้ไปศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น เพื่อให้มีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล แม้ผู้นำพัฒนาไม่ได้ แต่เราสามารถเลือกผู้นำ และเปิดโอกาสให้พวกเขาเหล่านี้เป็นผู้นำที่ยิ่งใหญ่ได้

ในขั้นสุดท้ายของกระบวนการที่จะช่วยกันส่งเสริมและดำเนินการร่วมกับภาครัฐ นั่นคือ การศึกษาสูงสุดเกี่ยวกับการค้นคว้าวิจัย ซึ่งการค้นคว้าวิจัยในโลกยุคต่อไปประเทศจะสามารถแข่งขันได้ด้วยการอาศัยปัจจัยทางเทคโนโลยี 4 ด้าน ตาม Mega Trends ด้านเทคโนโลยีของโลก ได้แก่ เทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการพัฒนาการศึกษามากขึ้นตามแนวโน้มของเทคโนโลยีในโลกยุคปัจจุบันทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ Robotics, Nanotechnology, Biotechnology และ Digital Technology ในอนาคต ซึ่งเทคโนโลยีทั้ง 4 ด้านนี้ ประเทศไทยมีพื้นฐานที่ดีทั้งสิ้น

นอกจากนี้ ไทยยังมีอุตสาหกรรมด้าน Robotics ในอนาคตจะมี Robot ในทุกบ้านและทุกจุด ทั้ง 4 เทคโนโลยีนี้จะต่อยอดการวิจัยได้ จึงต้องมาพิจารณาว่ามหาวิทยาลัยหรือสถาบันใดจะเป็นหลักในการพัฒนาเทคโนโลยีใดบ้าง เพื่อให้เอกชนสามารถเชื่อมโยงการวิจัยได้ และโอกาสในการให้ทุนกับนักวิจัยและนักเรียนที่มีคุณภาพ ในการทำการวิจัยให้กับบริษัทขนาดใหญ่ทั้งในระดับภูมิภาค ระดับประเทศ และในระดับโลกได้อย่างไร สิ่งเหล่านี้นำไปสู่การพัฒนาที่ตอบสนองต่อความต้องการและสร้างมูลค่าเพิ่มที่ดีขึ้น

โดยมีความเชื่อว่าระบบการศึกษาไทยที่มีปัญหาเยอะจนกระทั่งเป็นวิกฤต แต่ทุกวิกฤตเป็นโอกาส ต้องเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาสในการเปลี่ยนแปลง ด้วยการสร้างทรัพยากรมนุษย์หรือเยาวชนไทยให้มีศักยภาพ เพื่อทำให้ประเทศมีความเจริญและผาสุก

ขอขอบคุณภาครัฐที่ก่อให้เกิดโครงการประชารัฐขึ้น และเปิดมิติใหม่อย่างแท้จริงในการทำให้ภาคเอกชนและภาคประชาชน มีโอกาสมีส่วนร่วมดำเนินการร่วมกัน และจะขยายผลการดำเนินงานให้ดีที่สุด

 

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานพิธีลงนามความร่วมมือ กล่าวว่า งานในครั้งนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด เพราะเกี่ยวข้องกับการสร้างคนไทยในอนาคตข้างหน้า เราพูดกันมานานว่าเด็กในวันนี้คือผู้ใหญ่ในวันหน้า แต่ไม่เคยทำ จริง ๆ แล้วทุกคนตระหนักอยู่ในใจแล้วว่าปัญหาอยู่ที่ส่วนใด แต่ยังไม่เคยลงแรงอย่างจริงจัง อีกทั้งยังพูดว่าการศึกษาล้มเหลว รู้ปัญหาแต่ไม่เคยมีการลงแรงอย่างจริงจังเพื่อที่จะแก้ไขสิ่งเหล่านี้

 ส่วนตัวนั้นทำงานด้านการเมืองมาพอสมควร และเราก็รู้ว่าความจริงจังและจริงใจยังมีน้อยเกินไป ภาครัฐเวลาขึ้นมาบริหารราชการแผ่นดินในอดีต จะมีกระทรวงเกรด A ที่ส่วนใหญ่จะเป็นกระทรวงหลัก ๆสำหรับกระทรวงศึกษาธิการความจริงแล้วเป็นกระทรวงที่สำคัญที่สุด แต่ก็ยังไม่ได้รับการดูแลเท่าที่ควร ทั้ง ๆ ที่เป็นกระทรวงที่ได้รับงบประมาณสูงที่สุดเลยก็ว่าได้

ดังนั้น การได้มาซึ่งรัฐมนตรีของกระทรวงศึกษาธิการ หรือกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับการสร้างคนในอนาคต ไม่ค่อยได้รับความสำคัญ กล่าวคือ เมื่อพลาดตำแหน่งจากกระทรวงอื่นแล้ว ถึงจะมาที่กระทรวงศึกษาธิการ เพราะในสายตาของการเมือง คือ ครูคือหัวคะแนนในการเลือกตั้ง จึงเกิดปัญหาสะสมที่ขาดการผ่าตัดที่จริงจัง อีกทั้งภาคเอกชนก็อยู่อีกซีกหนึ่งของโลก และภาคเอกชนก็บ่นว่าการศึกษามีปัญหาจำนวนมากแต่ลืมไปว่าส่วนหนึ่งเรามีความรับผิดชอบอยู่ในนั้น

ทุกคนรู้อยู่ว่าการดำเนินงานจะมีแผนและยุทธศาสตร์กี่ปี แต่สิ่งสำคัญอยู่ที่ "คน"  คนของประเทศนี้เมื่อเทียบกับคนของประเทศนั้นสู้กันได้หรือไม่ ทำไมประเทศเล็ก ๆ อย่างสาธารณรัฐสิงคโปร์ที่มีประชากรเพียงหยิบมือเดียว ใช้เวลาเพียง 30-40 ปี หากเทียบน้ำหนักกันแล้ว สิงคโปร์พัฒนาไปไกลกว่าประเทศอื่นหลายเท่าตัวทีเดียว หรือสาธารณรัฐเกาหลีใต้ ภายหลังสงครามเป็นประเทศที่ไม่มีอะไรเลย แต่ปัจจุบันเป็นประเทศที่อยู่ระดับแถวหน้าของโลก และก้าวหน้าไปไกลมาก ทั้งหมดขึ้นอยู่กับคุณภาพของคนในประเทศ

มีบางคนกล่าวว่า ประเทศที่มีประชากรจำนวนมากถือเป็นประเทศที่ได้เปรียบมีการพัฒนาสูง ซึ่งไม่จริงเสียทีเดียว เพราะประเทศที่มีประชากรจำนวนมาก แต่การศึกษาไม่ดี ทำให้คุณภาพคนต่ำ และคนจำนวนมากเหล่านั้นจะกลายเป็นภาระของประเทศ

ตอนที่ได้มีโอกาสไปเยี่ยมที่สาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน รองประธานาธิบดีของอิหร่านบอกว่า อิหร่านมีทรัพยากรมนุษย์ที่เป็นเลิศ โดยประชากรจำนวนมากในช่วงอายุ 20-25 ปี ซึ่งอยู่ในวัยทำงาน และประชากรส่วนใหญ่ที่ได้รับการศึกษาเป็นวิศวกรทั้งสิ้น เวลาเราพูดจากับเขาทำให้เรารู้ว่าคนของประเทศนี้มีองค์ความรู้สูงมากทีเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และวิศวกรรมศาสตร์ เพราะฉะนั้นประเทศนี้ หากมีโอกาสจะพุ่งทะยานอย่างแน่นอน ตรงข้ามกับประเทศอื่น ๆ ที่มีประชากรจำนวนมากแต่คุณภาพของประชากรไม่ดีจะกลายเป็นภาระของประเทศอย่างแน่นอน

ดังนั้น การสร้างทรัพยากรมนุษย์ขึ้นอยู่กับการศึกษา การศึกษาเป็นโรงงานอย่างหนึ่งที่มี Input, เบ้าหลอม และ Output

ในเรื่องของ Input ไม่เคยเชื่อว่าประเทศไทย เป็นที่สองรองจากใคร เพราะเด็กไทยมีคุณภาพสูงมาก เวลาไปแข่งขันที่ใดเราไม่เคยแพ้ใคร แม้กระทั่งคณิตศาสตร์ที่เราบอกว่าการสอนของเราผิดพลาด บริษัทต่างชาติที่จ้างคนไทยยังบอกว่าคุณภาพของเด็กไทยใช้ได้ทีเดียว

ดังนั้น ตัวทรัพยากรมนุษย์ในฐานะวัตถุดิบไม่เคยมีปัญหา แต่เวลาเด็กเหล่านี้เข้าเบ้าหลอม ซึ่งเบ้าหลอมนี้มีกระบวนการบางอย่างไม่เหมาะและไม่ถูกต้อง ทำให้ Output ที่ออกมาไม่ดีเท่าที่ควร คนที่ผลิตออกมาเริ่มไม่สอดรับกับสิ่งที่กำลังเปลี่ยนแปลงในอนาคต และ Output ไม่สอดคล้องกับตลาด ฉะนั้นความสามารถเชิงแข่งขันของคนที่เราผลิตมานั้น เริ่มต้นด้อยกว่าคนอื่น พูดภาษาง่าย ๆ ว่าหากเทียบกันปอนด์ต่อปอนด์ ยังสู้เขาไม่ได้ในบางด้านไม่ใช่ทุกด้าน ขึ้นอยู่กับทิศทางของโลกในอนาคตว่าจะไปในทิศทางใด และเรามีทักษะตรงนั้นเพียงพอหรือไม่

Input หรือเด็กที่เข้ามาในระบบการศึกษาที่เปรียบเทียบเป็นโรงงานมีอยู่ 2 ด้าน คือ ทักษะ (Skills) คือ การทำอย่างไรให้มีทักษะที่เหมาะสมกับอนาคตและเป็นทักษะที่เหมาะกับจุดแข็งของเรา ส่วนอีกหนึ่งด้านที่ไม่ได้แพ้กันเลย คือ รื่องของ Character หรือบุคลิกหลายอย่างบนตัวมนุษย์ที่แสดงออกมา เช่น ความซื่อสัตย์ ความรักชาติ การมองส่วนรวมมากกว่าส่วนตัว ความกตัญญูกตเวที การรักวัฒนธรรม ความเป็นผู้นำ เป็นต้น

สิ่งเหล่านี้เป็นอีกด้านหนึ่งของการผลิตทรัพยากรมนุษย์ โดยสองสิ่งนี้ (Skills และ Character) ต้องไปคู่กัน เชื่อว่าคนของประเทศไทยสามารถสู้กับคนของประเทศอื่นได้ หากจะสู้ไม่ได้เพราะทักษะ (Skills) ไม่ตรงกับสิ่งที่ควรจะเป็น หรือทักษะที่เราสร้างขึ้นมาไม่สอดรับ (Fit) กับความจริงในปัจจุบันที่เกิดขึ้น

ในขณะเดียวกันปัญหาที่กำลังเกิดในทุกวันนี้ เช่น ความวุ่นวาย การทะเลาะเบาะแว้ง และความขัดแย้งที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะในสังคมใดก็แล้วแต่ นั่นคืออาการของ Character ที่เริ่มมีปัญหาและมีสัญญาณที่แสดงว่า ทำไมคนสมัยนี้ไม่ยอมพูดคุยกัน ใช้ความรุนแรง ไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม และบูชาเงินมากกว่าคุณงามความดี สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นการผลิตคนที่ผิดพลาด ซึ่งอาจจะยังไม่วิกฤต แต่หากปล่อยไว้เช่นนี้ ในอนาคตจะรุนแรงขึ้นและจะทำให้สู้ไม่ได้แข่งขันไม่ได้ และสังคมไม่มีความสุข

ในบางครั้งเรารับ Character ของระบบการศึกษาในต่างประเทศมาเต็มรูปแบบ โดยไม่คำนึงว่า Character ที่เหมาะที่สุดของเด็กไทยเป็นแบบใด เด็กรุ่นใหม่ถูกบรรจุถูกครอบงำโดย Character ของซีกโลกอื่นอย่างชัดเจน คำถามคือ Character เหล่านั้นเหมาะสมกับสังคมไทยในอนาคตเพียงใด

ดังนั้น สิ่งสำคัญคือเบ้าหลอม หากเราเริ่มดำเนินการสร้าง Model ของหลักสูตรที่สร้างผู้นำขึ้นมา และสร้าง Character ที่ดีขึ้นมา ในส่วนของทักษะที่กำลังพยายามดำเนินการอยู่ด้วยความร่วมมือจากจากคณะทำงานที่หลากหลาย เพื่อพิจารณาดูว่าทักษะที่ควรจะเป็นนอกเหนือจาก STEM แล้วควรมีอะไร ไม่ใช่ว่าเขาบอกว่า STEM ดี เราก็ท่องจำอย่างเดียวว่า STEM นั้นดี แต่ STEM ยั่งยืนจริงหรือไม่ ชาติที่จะรุ่งเรืองจะต้องมีพื้นฐานทางศิลปศาสตร์ (Liberal Arts) หรือไม่ การเรียนวิศวกรรมศาสตร์ตั้งแต่เล็กจนโต จะสามารถแข่งกับโลกได้จริงหรือไม่ จึงต้องมีทีมที่สร้างสิ่งที่เหมาะสมที่สุดของการสร้างทักษะ

ขณะนี้เรากำลังสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น แต่จะทำอย่างไรให้ความเปลี่ยนแปลงนี้ไปถึงทุกหย่อมหญ้าทั่วทั้งประเทศ เช่น การสร้างอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (Broadband) เพื่อนำสิ่งดี ๆ ผ่านทางไกลไปถึงเด็กได้ เมื่อมีเครื่องมือแล้วจะสามารถนำครูมาปรับหรือฝึกฝนใหม่ เพราะครูจะเป็นคนที่มาช่วยสนับสนุนการสอนต่อไป ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถแก้ปัญหาได้ เนื่องจากกระทรวงศึกษาธิการมีครูเป็นแสนคน เราจะเริ่มแก้ปัญหาที่ในส่วนใดก่อน จากจุดที่เป็นหนี้หรือจุดที่เป็นทักษะของครู สิ่งที่ทำได้คือการดำเนินการผ่านครูเหล่านี้โดยใช้เทคโนโลยีการสื่อสารทางไกลเพื่อถ่ายทอดไปให้ถึงชนบท และสร้างความเท่าเทียม

อีกทั้งต้องทำทุกอย่างให้เป็นมาตรฐานสากล ด้วยการสนับสนุนให้มีการแข่งขันอย่างเสรี โดยไม่ต้องกลัวว่าชาวต่างชาติจะมาครอบงำการศึกษาไทย รัฐทำตัวให้เล็กลงด้วยการคุมไว้ทั้งหมด แต่มาตรฐานการสอนเราต้องเรียนรู้จากเขา ยิ่งมีสถานศึกษาเอกชนมากเท่าไร และยิ่งมีชาวต่างชาติเข้ามามากเท่าไร ก็จะทำให้การศึกษาพัฒนาดีขึ้น เรามีหน้าที่คุมกฎหรือมีหน้าที่ดูแลก็ทำหน้าที่ของเรา แต่ไม่ใช่ไปครอบงำครูต่างชาติ รัฐทำตัวให้เล็กลงแต่แข็งแรง (Small but Strong) โดยเชื่อว่าวันนี้คือจุดเริ่มต้นที่สำคัญ และเชื่อว่าทุกท่านจะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้โลก

ส่วนตัวมองว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการท่านนี้ เป็นคนที่ทำงานเป็น ทำงานไว คิดเป็น ทำเป็น และยินดีรับฟังผู้อื่น เป็นน้ำที่ไม่เต็มแก้ว ในส่วนของภาคเอกชนที่เข้ามามีส่วนร่วมก็เป็นองค์กรที่มีความสามารถมาก และในอนาคตจะดึงบริษัทในตลาดหลักทรัพย์มาช่วย ซึ่งจะกลายเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ สิ่งที่เรากำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้จะเป็นรูปแบบ (Model) ที่ประเทศอื่นจะนำไปใช้เป็นแบบอย่าง และยินดีอย่างยิ่งที่ทุกภาคส่วนให้ความร่วมมือ และเชื่อว่าพลังที่ยิ่งใหญ่จะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลง วิกฤตที่เกิดขึ้นนั้นเป็นโอกาสจริง ๆ เพราะหากการเมืองไม่มีปัญหาสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นไม่ได้แน่นอน

เรามีเวลาหนึ่งปีครึ่ง เปลี่ยนแปลงและวางรากฐานการศึกษาใหม่ เพื่อที่พ่อแม่ในอนาคตจะได้ไม่ต้องส่งลูกไปเรียนต่างประเทศ หากระบบการศึกษาของไทยดีและมีประสิทธิภาพ

pracharath-e5mou (1)

การลงนามบันทึกข้อตกลงสานพลังประชารัฐด้านการศึกษาพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำในครั้งนี้ ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ กระทรวงศึกษาธิการ/ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี/ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ภาคเอกชน ได้แก่ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)/ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน)/ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน)/ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)/ บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด (มหาชน)/ บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด/ บริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด (มหาชน)/ บริษัท ซีโอแอล จำกัด (มหาชน)/ สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย/ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน)/ บริษัท ซีพีออลล์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด/ บริษัท อักษร เอ็ดดูเคชั่น จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)/ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน)/ บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน)/ บริษัท ทีชชิ่งทอยส์ จำกัด/ และบริษัท เอ.พี. ฮอนด้า จำกัด และภาคประชาสังคม ได้แก่ คุณหญิงสุชาดา กีระนันทน์/ ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา/ ดร.วรภัทร์ ภู่เจริญ/ และดร.วิทิต รัชชตาตะนันท์


ขอบคุณข่าวจากเว็บไชต์ กระทรวงศึกษาธิการ http://www.moe.go.th/websm/2016/mar/103.html