สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) – พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.) ครั้งที่ 2/2559 เมื่อวันจันทร์ที่ 6 มิถุนายน 2559 ที่ห้องประชุมศาสตราจารย์วิจิตร ศรีสอ้าน ชั้น 5 โดยมีสาระสำคัญสรุปดังนี้
เห็นชอบแนวทางการดำเนินงาน ก.พ.อ. : เน้นธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษาให้มากขึ้น
ที่ประชุมได้รับทราบรายงานผลการศึกษาวิเคราะห์การประชุม ก.พ.อ. ปี 2558 ตามที่ฝ่ายเลขานุการเสนอ ซึ่งตลอดทั้งปีมีวาระประชุมรวมทั้งสิ้น 128 วาระ แบ่งเป็นวาระเพื่อทราบ 42 วาระ วาระเพื่อพิจารณา 44 วาระ และวาระเพื่อพิจารณาทักท้วง 42 วาระ โดยส่วนใหญ่เป็นการดำเนินงานตามอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการพิจารณาตำแหน่งวิชาการ การอุทธรณ์ต่างๆ การให้ความเห็นชอบเงินประจำตำแหน่ง และเรื่องเสนอแนะและให้คำปรึกษาแก่คณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับนโยบายการบริหารงานบุคคลในสถาบันอุดมศึกษา
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้เห็นชอบให้มีการกำหนดวาระการดำเนินงานของ ก.พ.อ. ปี 2559 ให้มีความเข้มข้นมากขึ้น นอกเหนือจากการพิจารณาตามอำนาจหน้าที่ ทั้งในส่วนของการดำเนินงานของ ก.พ.อ.และมหาวิทยาลัย โดยควรเพิ่มเรื่องของธรรมาภิบาลให้มากขึ้น รวมทั้งด้านวิชาการเพื่อพัฒนาคุณภาพอาจารย์ พนักงานมหาวิทยาลัย ด้านงานวิจัยที่เกิดประโยชน์ต่อผู้เรียน ตอบโจทย์อุตสาหกรรมและความต้องการของประเทศ ตลอดจนการรายงานโครงการต่างๆ ไม่เพียงแต่รายงานว่าทำอะไร แต่ต้องรายงานผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นด้วย
มหาวิทยาลัย |
กรอบอัตรากำลัง (เพิ่มเติม) สายวิชาการ |
กรอบอัตรากำลัง (เพิ่มเติม) สายวิชาการ |
รวม |
มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ |
150 |
78 |
228 |
มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา |
73 |
42 |
115 |
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ |
68 |
11 |
79 |
รวม |
291 |
131 |
422 |
ที่ประชุมได้รับทราบ ข้อมูลโครงสร้างอายุของบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ ปี 2558 จำนวน 77 แห่ง ซึ่งมีบุคลากรจำนวนทั้งสิ้น 176,849 คน ประกอบด้วยข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พนักงานมหาวิทยาลัย พนักงานราชการ ลูกจ้างประจำ ลูกจ้างชั่วคราว และบุคลากรประเภทอื่นๆ โดยมีโครงสร้างอายุของบุคลากรโดยรวมเฉลี่ย 39.78 ปี เป็นผู้ที่มีอายุสูงสุด 89 ปี และผู้มีอายุต่ำสุด 16 ปี และในส่วนของระดับการศึกษานั้น บุคลากรส่วนใหญ่มีการศึกษาระดับปริญญาตรีมากที่สุด โดยมีค่าอายุเฉลี่ย 37.14 ปี รองลงมาคือระดับปริญญาโท มีค่าอายุเฉลี่ย 42.17 ปี ระดับปริญญาเอก มีค่าอายุเฉลี่ย 44.26 ปี และต่ำกว่าปริญญาตรี มีค่าอายุเฉลี่ย 39.75 ปี ตามลำดับ
ในส่วนของโครงสร้างอายุเฉลี่ยบุคลากรโดยรวม สามารถจำแนก 4 ประเภทเรียงตามลำดับ คือ 1) กลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏ มีอายุเฉลี่ยมากที่สุดคือ 42.24 ปี (บุคลากร 27,031 คน อายุสูงสุด 86 ปี,อายุต่ำสุด 16 ปี) 2) กลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏ มีอายุเฉลี่ย 39.82 ปี (บุคลากร 14,231 คน อายุสูงสุด 69 ปี, อายุต่ำสุด 18 ปี) 3) สถาบันอุดมศึกษาของรัฐ มีอายุเฉลี่ย 39.71 ปี (บุคลากร 66,500 คน อายุสูงสุด 84 ปี, อายุต่ำสุด 21 ปี) และ 4) สถาบันอุดมศึกษาในกำกับ มีอายุเฉลี่ยน้อยที่สุด 38.88 ปี (บุคลากร 69,087 คน อายุสูงสุด 89 ปี, อายุต่ำสุด 18 ปี)
ในส่วนของอายุบุคลากรสายวิชาการ สามารถจำแนกตามประเภทตำแหน่งวิชาการโดยลำดับ ดังนี้ 1) ศาสตราจารย์รับเงินเดือนขั้นสูงหรือเทียบเท่า มีอายุเฉลี่ยสูงที่สุด 57.53 ปี 2) ศาสตราจารย์ มีอายุเฉลี่ย 56.09 ปี 3) รองศาสตราจารย์ มีอายุเฉลี่ย 53.19 ปี 4) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ มีอายุเฉลี่ย 47.82 ปี และ 5) อาจารย์ มีอายุเฉลี่ยน้อยที่สุด 40.42 ปี
นอกจากนี้ สกอ. ได้รายงานข้อมูลจำนวนข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาที่เกษียณอายุในช่วงปี 2558-2571 ซึ่งในปี 2563 จะเป็นปีที่มีการเกษียณอายุมากที่สุด จำนวน 1,691 คน รองลงมา คือปี 2564 จำนวน 1,686 คน ปี 2562 จำนวน 1,662 คน ตามลำดับ โดยในปี 2570-2571 จะเป็นปีที่มีจำนวนข้าราชการเหลือต่ำสุดคือเหลือน้อยกว่า 10,000 คน
ดังนั้น เพื่อเป็นการสร้างความสมดุลในระบบการบริหารงานบุคคลในสถาบันอุดมศึกษา ที่ประชุมจึงได้เห็นชอบให้คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจยกร่างปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติระเบียบการบริหารงานบุคคลในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ. …. ตลอดจนระเบียบและข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง ให้ครอบคลุมระบบการบริหารงานบุคคลของข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พนักงานมหาวิทยาลัย และลูกจ้าง พร้อมมอบให้ สกอ.เร่งจัดทำแผนพัฒนากำลังคน โดยเฉพาะในตำแหน่งสายวิชาการ ไม่ว่าจะเป็นศาสตราจารย์รับเงินเดือนขั้นสูงหรือเทียบเท่า, ศาสตราจารย์, รองศาสตราจารย์, ข้าราชการวุฒิปริญญาเอก เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอายุต่อไป
ที่ประชุมเห็นชอบในหลักการ ให้นำมาตรฐานกำหนดตำแหน่งที่ ก.พ.อ.กำหนด มาใช้กำหนดตำแหน่งประเภททั่วไป วิชาชีพเฉพาะ หรือเชี่ยวชาญเฉพาะ ให้กับข้าราชการพลเรือนสามัญที่ปฏิบัติงานอยู่ในสถาบันวิทยาลัยชุมชน 21 แห่ง จำนวน 11 ตำแหน่ง ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป, บุคลากร, นิติกร, นักวิชาการพัสดุ, นักวิชาการเงินและบัญชี, นักวิชาการศึกษา, นักประชาสัมพันธ์, นักวิเคราะห์นโยบายและแผน, นักวิชาการคอมพิวเตอร์, นักวิเทศสัมพันธ์ และนักตรวจสอบภายใน ซึ่งตำแหน่งดังกล่าวมีลักษณะงานทั่วไป ชื่อตำแหน่งในสายงานและระดับตำแหน่ง หน้าที่ความรับผิดชอบหลัก คุณสมบัติเฉพาะตำแหน่ง ความรู้ความสามารถ ตลอดจนทักษะและสมรรถนะที่จำเป็น เทียบได้กับมาตรฐานกำหนดตำแหน่งที่ ก.พ.อ.กำหนดไว้
นอกจากนี้ ได้เห็นชอบให้เทียบเคียงชื่อตำแหน่งที่ไม่มีตามที่ ก.พ.อ.กำหนด 2 ตำแหน่ง คือ ตำแหน่งเจ้าพนักงานธุรการและผู้ปฏิบัติงานบริหาร เป็นตำแหน่งบริหารงานทั่วไป ซึ่งมีลักษณะงานที่ใกล้เคียงกัน เพื่อจัดข้าราชการลงตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่งที่ ก.พ.อ.กำหนดไว้แล้วต่อไป
สกอ.ได้รายงานให้ที่ประชุมรับทราบ ผลการสอบเพื่อวัดความรู้ความสามารถทั่วไปเพื่อบรรจุบุคลากรเข้ารับราชการ ประจำปี 2558 สำหรับผู้สำเร็จการศึกษาหรือผู้ที่กำลังจะสำเร็จการศึกษาในปีการศึกษา 2558 ในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ-ในกำกับของรัฐทุกสังกัด ซึ่งดำเนินการจัดสอบโดยสำนักงาน ก.พ. โดยมีหลักสูตรการทดสอบ คะแนนรวม 200 คะแนน แบ่งเนื้อหาออกเป็น 2 ส่วน คือ วิชาความสามารถทั่วไปและวิชาภาษาไทย 150 คะแนน และวิชาภาษาอังกฤษ 50 คะแนน
โดยมีผลการสอบของสถาบันอุดมศึกษาใน 2 ระดับ ได้แก่ 1) ระดับปริญญาตรี มีสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ-ในกำกับของรัฐที่มีผู้สอบผ่านสูงสุด 3 อันดับ ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์ฝึกพาณิชย์นาวี และสถาบันการบินพลเรือน 2) ระดับปริญญาโท มีสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ-ในกำกับของรัฐที่มีผู้สอบผ่านสูงสุด 3 อันดับ ได้แก่ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยมหิดล
ทั้งนี้ ที่ประชุมขอให้แจ้งผลการสอบเพื่อวัดความรู้ความสามารถทั่วไปของสำนักงาน ก.พ.ประจำปี 2558 ให้สภาสถาบันอุดมศึกษานำไปใช้ประกอบการวางแผนพัฒนาปรับปรุงคุณภาพการเรียนการสอน พร้อมมอบ สกอ. หารือร่วมกับสำนักงาน ก.พ. เพื่อศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลผลสอบเชื่อมโยงกับข้อมูลการจัดการอุดมศึกษาที่มีผลต่อการคุณภาพนักศึกษา อาทิ คุณวุฒิของผู้สอน ตำแหน่งทางวิชาการ สัดส่วนอาจารย์ต่อนักศึกษา งบประมาณที่สถาบันอุดมศึกษาได้รับ เป็นต้น พร้อมจัดระบบการเข้าถึงผลสอบเพื่อให้สถาบันอุดมศึกษานำไปใช้ประโยชน์ได้โดยง่ายต่อไป
ที่ประชุมรับทราบการแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์และรองศาสตราจารย์ และให้ความเห็นชอบการได้รับเงินประจำตำแหน่งดังกล่าว จำนวน 258 ราย ดังนี้
|
ผศ. (ราย) |
รศ. (ราย) |
รวม |
1) สถาบันอุดมศึกษาของรัฐ (เดิม) |
88 | 55 | 143 |
2) มหาวิทยาลัยราชภัฏ |
42 | 13 | 55 |
3) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล |
48 | 12 | 60 |
รวม |
178 | 80 |
|
นวรัตน์ รามสูต
บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน
ยุทธพงศ์ เลือกกลั่นดี : ถ่ายภาพ
7/6/2559