พลเอกไพบูลย์ คุ้มฉายา องคมนตรีตรวจเยี่ยมการฟื้นฟูโรงเรียนและพื้นที่จากปัญหาอุทกภัย พร้อมพบนักเรียนที่ได้รับทุนการศึกษาพระราชทาน ณ จังหวัดนครศรีธรรมราช
***เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2560 พลเอกไพบูลย์ คุ้มฉายา องคมนตรี พร้อมด้วย นายจำเริญ ทิพญพงศ์ธาดา ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช นายประหยัด อนุศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครศรีธรรมราช เขต 1ปฏิบัติหน้าที่ศึกษาธิการจังหวัดนครศรีธรรมราช และคณะผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตรวจเยี่ยมการฟื้นฟูโรงเรียนและพื้นที่จากปัญหาอุทกภัย พร้อมพบนักเรียนที่ได้รับทุนการศึกษาพระราชทาน ณ จังหวัดนครศรีธรรมราช
ตามที่ได้เกิดภัยพิบัติอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2559 – 12 กุมภาพันธ์ 2560 ที่ผ่านมา มีพื้นที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยรวม 12 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี นราธิวาส ตรัง สุราษฎร์ธานี พัทลุง และกระบี่ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ที่ทรงมีความห่วงใยพสกนิกรชาวไทยที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ ด้วยการพระราชทานเงินช่วยเหลือโรงเรียนและครอบครัวผู้เสียชีวิตจากอุทกภัยในครั้งนี้ จำนวน 40,000,000 บาท (สี่สิบล้านบาท) เพื่อช่วยเหลือสถานศึกษาและครอบครัวผู้เสียชีวิตจากอทุกภัยในพื้นที่ภาคใต้ที่ได้รับผลกระทบทั้ง 12 จังหวัด แบ่งเป็นทุนการศึกษา จำนวน 15,000,000 บาท (สิบห้าล้านบาท) ให้แก่บุตรของครอบครัวผู้เสียชีวิตจากอุทกภัยในพื้นที่ 6 จังหวัด 27 ครอบครัว และพระราชทานครุภัณฑ์โต๊ะ – เก้าอี้ นักเรียน และครู จำนวน 25,000,000 บาท (ยี่สิบห้าล้านบาท) ให้แก่โรงเรียนที่ได้รับความเสียหาย ในพื้นที่ 10 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดสุราษฎร์ธานี สงขลา นครศรีธรรมราช ชุมพร ตรัง พัทลุง กระบี่ นราธิวาส ปัตตานี ประจวบคีรีขันธ์ รวมจำนวนโรงเรียนที่ได้รับการพระราชทานความช่วยเหลือ 267 โรงเรียน จังหวัดนครศรีธรรมราชถือเป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากพิบัติอุทกภัย โดยมีผลกระทบต่อพื้นที่รวม 23 อำเภอ 166 ตำบล/เทศบาล 1,461 หมู่บ้าน 160 โรงเรียน ราษฎร์ได้รับผลกระทบ 301,557 คน 108,695 ครัวเรือน ยอดผู้เสียชีวิต 8 ราย อีกทั้งถนนสาธารณะได้รับผลกระทบเสียหาย จำนวน 1,678 สาย คอสะพาน 65 แห่ง ฝาย 19 แห่ง ท่อระบายน้ำ 12 แห่ง วัด 2 แห่ง บ้านเรือน 890 หลัง พื้นที่นาข้าวที่ประสบภัย 159,363 ไร่ เสียหาย 100,967 ไร่ อีกทั้งพื้นที่พืชไร่ที่ประสบภัย 15,889 ไร่ คาดว่าจะเสียหาย 12,151 ไร่ และพืชส่วนอื่น ๆ ที่ประสบภัย 1,101,359 ไร่ เสียหายกว่า 309,687 ไร่ ส่งผลให้ประชาชนต่างได้รับความเดือนร้อนอย่างหนัก
ทั้งนี้ในด้านความช่วยเหลือได้มีหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนทุกภาคส่วน เข้ามาสนับสนุนการปฏิบัติ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้ประสบภัยอย่างร่วมมือร่วมใจกัน ส่งผลให้ชาวนครศรีธรรมราชสามารถฝ่าวิกฤติภัยพิบัติครั้งล่าสุดนี้มาได้ โดยสำหรับการลงพื้นที่ขององคมนตรี พร้อมด้วย คณะผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อตรวจเยี่ยมการฟื้นฟูโรงเรียนและพื้นที่จากปัญหาอุทกภัยและพบนักเรียนที่ได้รับทุนการศึกษาพระราชทาน ณ จังหวัดนครศรีธรรมราช ในครั้งนี้ถือเป็นการสร้างขวัญกำลังใจที่ดีให้แก่ คณะครู นักเรียน และผู้ที่ได้รับกระทบจากภัยพิบัติอุทกภัย ณ ครอบครัวโต๊ะหว่าง โรงเรียนเมืองนครศรีธรรมราช โรงเรียนราชประชานุเคราห์ 19 และโรงเรียนวัดจันดี พร้อมกันนี้ องคมนตรีได้พบนักเรียนนักศึกษาที่ได้รับทุนการศึกษาพระราชทานซึ่งบิดาหรือมารดาได้เสียชีวิตจากอุทกภัยทั้ง 12 ราย ได้แก่ 1.) นายคมสัน อนรรฆจีระพงษ์ อายุ 18 ปี 2.) เด็กหญิงเกศรา ขุนบุญจันทร์ อายุ 14 ปี 3.) นายฤชกรณ์ คงมีชัย อายุ 17 ปี 4.) นางสาวอมรรัตน์ อ่อนเกตุพลอายุ 19 ปี 5.) นางสาวยุวธิดา ชูแก้วอายุ 20 ปี 6.) นายนัทธพงศ์ อุ่นอำไพ อายุ 17 ปี 7.) เด็กหญิงอลิสา โต๊ะหวาง อายุ 2 ปี 8.) เด็กชายวงศ์กร โต๊ะหวาง อายุ 6 ปี 9.) เด็กหญิงกัญญารัตน์ โต๊ะหวาง อายุ 7 ปี 10.) นางสาวสุมลฑา โต๊ะหวาง อายุ 16 ปี 11.) เด็กชายธนวัต หอมหวล อายุ 1 ปี 12.) เด็กหญิงปัทมา หอมหวล อายุ 5 ปี ที่จะได้รับพระราชทานทุนการศึกษาเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการศึกษา ค่าครองชีพ ค่าหอพัก และค่าอุปกรณ์การศึกษา ให้แก่เด็กนักเรียนหรือนักศึกษา ที่มีบุคคลในครอบครัวเสียชีวิต ด้านการดูแลและช่วยเหลือนักเรียนทุนการศึกษาพระราชทาน มีหลักเกณฑ์คือ ให้ได้รับการศึกษาต่อเนื่องจนจบการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ หรือปริญญาตรี
ขณะที่นายประหยัด อนุศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครศรีธรรมราชเขต 1 ปฏิบัติหน้าที่ศึกษาธิการจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า ในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติมากที่สุด มีนักเรียนนักศึกษาที่ได้รับทุนการศึกษาพระราชทาน โดยจะมีคณะกรรมการจังหวัดดูรายการใช้จ่ายเงินพร้อมแจ้งปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงานและรายงานผลการเรียนของนักเรียนหรือนักศึกษาให้แก่คณะกรรมการจังหวัดทราบทุกภาคเรียน พร้อมระบบการดูแลเกี่ยวกับการเรียนความเป็นอยู่ มีครูรับผิดชอบช่วยเหลือให้คำปรึกษาแนะแนวและประสานงานกับผู้ปกครองพร้อมให้ความช่วยเหลือนักเรียน นักศึกษาอย่างต่อเนื่อง ต่อไป
ทิพวรรณ ข่าว/ธนิสร ภาพ