ศ
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวตอนหนึ่งว่า วันนี้ถือเป็นวันประวัติศาสตร์ที่มีครูและผู้บริหาร ศธ. ตั้งใจมาร่วมขับเคลื่อนที่จะพัฒนาครูด้วยกัน เพราะไม่มีใครรู้ดีที่สุดว่าครูควรพัฒนาอะไร นอกจากครูเอง การจัดประชุมครั้งนี้จึงให้คณะกรรมการจัดระบบการรับรองหลักสูตรฯ และคณะกองบรรณาธิการหลักสูตรฯ ได้ร่วมกันพิจารณาและประเมินหลักสูตรพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา ปี 2561 ซึ่งขณะนี้มีสมัครเข้ามาแล้ว 3,219 หลักสูตร ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาที่ได้รับอนุมัติจำนวน 1,460 หลักสูตร
ทั้งนี้ กรอบแนวคิดของการออกแบบหลักสูตร จะพิจารณาการบูรณาการระหว่างเนื้อหาสาระวิชา (Content Knowledge) กับหลักวิชาชีพครู (Pedagogical Knowledge) มุ่งพัฒนาสมรรถนะและความสามารถในการจัดการเรียนการสอนและเท่าทันต่อโลกศตวรรษที่ 21 ตามสาระวิชาเฉพาะที่บูรณาการเนื้อหากับศาสตร์วิชาชีพครู (Pedagogical content knowledge: PCK) หรือหลอมรวมเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ากับการจัดการเรียนการสอนเฉพาะทาง (Technology content knowledge) ตลอดจนนำกรณีศึกษาหรือแนวทางต่าง ๆ มาช่วยสนับสนุนให้ครูเกิดแนวคิดและแรงบันดาลใจในการพัฒนาปรับปรุง เปลี่ยนกระบวนการเรียนการสอน และปฏิบัติตามกระบวนการชุมชนการเรียนรู้วิชาชีพ (Professional Learning community)
สิ่งสำคัญคือ การกำหนดเกณฑ์และวิธีการประเมินหลักสูตร เพื่อให้ได้หลักสูตรที่มีคุณภาพ สอดคล้องกับหลักเกณฑ์และวิธีการพัฒนาข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา สายงานการสอน ของแต่ละสังกัด ซึ่งจะต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 5 มีนาคมนี้ เพื่อให้หน่วยงานนำไปใช้ และประกาศลงเว็บไซต์สถาบันคุรุพัฒนา (www.kurupatana.ac.th) ต่อไป
หลักสูตรพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาในปีนี้ จะเน้นในเรื่องของคุณภาพ และมีความเข้มข้นตั้งแต่ขั้นตอนคัดเลือกหลักสูตร ที่จะเปิดกว้างหลักสูตรจากทั้งหน่วยงานราชการ เอกชน และอื่น ๆ ส่วนหลักสูตรที่เป็นเทคนิคการสอนต่าง ๆ (Active Learning) จะปรับปรุงให้บูรณาการเนื้อหาวิชากับศาสตร์วิชาชีพครูมากขึ้น จะแยกเทคนิคการสอนกับเนื้อหาวิชาเหมือนที่ผ่านมาไม่ได้ และวิทยากรต้องมีความเชี่ยวชาญในสาขาวิชาด้วย รวมทั้งการรับสมัครครูเข้ารับการอบรมก็ต้องมีความเข้มข้นมากขึ้น
หวังว่าการดำเนินงานครั้งนี้จะเป็นจุดกำเนิด "ราชวิทยาลัยครู" ในอนาคต เช่นเดียวกับวิชาชีพแพทย์ เพื่อเป็นแหล่งวิชาการในการพัฒนาครูทั้งประเทศต่อไป