Home / ข่าวประชาสัมพันธ์ / สพฐ.ประชุมกำหนดเกณฑ์คัดกรองโรงเรียนประชารัฐ (รร.ดีใกล้บ้าน) ปี 2561

สพฐ.ประชุมกำหนดเกณฑ์คัดกรองโรงเรียนประชารัฐ (รร.ดีใกล้บ้าน) ปี 2561

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จัดประชุมทางไกล (Video Conference) เพื่อชี้แจงการสำรวจความต้องการจำเป็นสำหรับการจัดการศึกษาของโรงเรียนประชารัฐ (รร.ดีใกล้บ้าน) แก่ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ผู้อำนวยการสำนัก และศึกษานิเทศก์ 176 เขตทั่วประเทศ โดยมี ม.ล.ปริยดา ดิศกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, รศ.เอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธานอนุกรรมการด้านการบริหารจัดการโรงเรียนประชารัฐฯ, ดร.เบญจลักษณ์ น้ำฟ้า ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สพฐ., นายสนิท แย้มเกษร ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. ร่วมประชุมทางไกล เมื่อวันจันทร์ที่ 5 มีนาคม 2561 ณ ห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการ สพฐ.

ม.ล.ปริยดา ดิศกุล กล่าวตอนหนึ่งว่า โครงการโรงเรียนประชารัฐ (รร.ดีใกล้บ้าน) เป็นโครงการที่ริเริ่มจากงานวิจัยของธนาคารโลก (World Bank) และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (Thailand Development  Research Institute: TDRI) เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาให้นักเรียนที่อยู่ห่างไกล ได้มีโอกาสได้เรียนในโรงเรียนดีและอยู่ใกล้บ้าน โดยดำเนินการในรูปแบบ "ประชารัฐ" ที่ถือเป็นความร่วมมือระหว่าง ศธ. ในฐานะภาครัฐ โดยการสนับสนุนและการมีส่วนร่วมจากภาคเอกชน รวมทั้งภาคประชาสังคม

สำหรับการดำเนินงานในปีนี้ คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ได้แต่งตั้งอนุกรรมการด้านการบริหารจัดการโรงเรียนประชารัฐ (รร.ดีใกล้บ้าน) โดย รศ.เอกชัย กี่สุขพันธ์ เป็นประธาน พร้อมกำหนดหลักเกณฑ์และแนวทางการดำเนินงานที่มีความชัดเจน เพื่อช่วยคัดกรองโรงเรียนที่จะเข้าร่วมโครงการฯ ประจำปี 2561 ให้ตรงตามวัตถุประสงค์มากที่สุด

รศ.เอกชัย กี่สุขพันธ์ กล่าวถึงเกณฑ์ในการพิจารณาโรงเรียนประชารัฐในปีนี้ 3 ข้อ คือ

1) กำหนดโรงเรียนที่มีศักยภาพเป็น "โรงเรียนหลัก" ซึ่งเป็นโรงเรียนที่มีแนวโน้มพัฒนาสู่การเป็นโรงเรียนดีใกล้บ้านได้ อาทิ มีจำนวนครูเพียงพอ คุณภาพผู้เรียนอยู่ในเกณฑ์ค่าเฉลี่ยของประเทศ ฯลฯ สามารถโน้มน้าวจูงใจผู้ปกครองให้ส่งบุตรหลานมายังโรงเรียนหลัก

2) คุณสมบัติของ "โรงเรียนหลัก" มีดังนี้

– มีจำนวนนักเรียนไม่น้อยกว่า 120 คน เพื่อแสดงถึงความพร้อมทางกายภาพ ห้องเรียน สิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เพื่อสะท้อนความวางใจของชุมชน

– เป็นโรงเรียนขยายโอกาส เพื่อสะท้อนศักยภาพในอดีต

– มีสนามฟุตบอลขนาดใหญ่ (ฟ.3 และ ฟ.3 พิเศษ) เพื่อสะท้อนว่ามีพื้นที่มากเพียงพอ โดยต้องไม่เป็นโรงเรียนการศึกษาพิเศษ

3) หาพิกัดโรงเรียนหลักในระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์: GIS (Geographic Information System)มาใช้ในการกำหนดพิกัด (ปักหมุด) โรงเรียนหลัก ที่สามารถรองรับนักเรียนจากโรงเรียนอื่นในรัศมีการเดินทางไม่เกิน 30 นาที

ทั้งนี้ พบว่ามีจำนวนโรงเรียนหลักที่จะเป็นโรงเรียนประชารัฐ จำนวนทั้งสิ้น 1,662 แห่ง แยกเป็นสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) 1,644 โรงเรียน ใน 168 เขต และสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) 18 โรงเรียน ใน 8 เขต รวมทั้งสิ้น 176 เขต และคาดว่าเมื่อดำเนินการตามเกณฑ์ดังกล่าว โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการในปีนี้ ทั้งโรงเรียนหลักและโรงเรียนเครือข่าย สามารถจัดการเรียนการสอนรวมทั้งในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษากว่า 3,000 โรงเรียน โดยขอให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาได้ตรวจสอบข้อมูลและการใช้พิกัด GIS ให้ถูกต้องชัดเจน พร้อมสำรวจความต้องการจำเป็นของโรงเรียนด้านความขาดแคลน และส่งผลโดยตรงต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษา (Direct Impact) เป็นหลัก

เมื่อดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้วจะเสนอรายชื่อโรงเรียนประชารัฐ (ดีใกล้บ้าน) ประจำปี 2561 ต่อที่ประชุม กพฐ. เพื่อขอความเห็นชอบ ก่อนประกาศให้ทราบโดยทั่วกันต่อไป


Written by ศุภล้กษณ์ แจ้งใจ
Photo Credit ศุภล้กษณ์ แจ้งใจ
Rewriter นวรัตน์ รามสูต
Editor บัลลังก์ โรหิตเสถียร