รมว.ศธ.
นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มอบนโยบายในการประชุมการพัฒนาข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาก่อนแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษา (หน่วยพัฒนาที่ 4) โดยมีนายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน,
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ตลอดช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา มีผลการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับลักษณะของ “โรงเรียนที่ดี”จำนวนมาก อาทิ งานวิจัยของ Edmonds (1979) พบว่าโรงเรียนที่ดีมีลักษณะ 5 ประการ คือ มีภาวะผู้นำในการบริหารงานที่เข้มแข็ง, คาดหวังให้เด็กมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูง, มีบรรยากาศเป็นระเบียบเหมาะแก่การเรียนรู้, เน้นการให้ได้มาซึ่งทักษะพื้นฐาน เช่น การอ่าน การพูด และมีการติดตามความก้าวหน้าของนักเรียนบ่อยครั้ง รวมทั้งงานวิจัยของ Brookover และ Lezotte (1979) ระบุว่า โรงเรียนที่ดีต้องเน้นการอ่านและคณิตศาสตร์ ครูมีความคาดหวังสูงว่าเด็กสามารถทำได้ พ่อแม่เข้ามามีส่วนร่วมกับโรงเรียนมากขึ้น เป็นต้น
นอกจากนี้ งานวิจัยยังพบว่า บรรยากาศของโรงเรียน (School Climate) หมายถึง เป้าหมาย ปรัชญา และค่านิยมที่โรงเรียนยึดถือ ภาวะความเป็นผู้นำของครูใหญ่ ขวัญและกำลังใจของบุคลากร การดูแลอาคารและทรัพย์สินของโรงเรียน โดยบรรยากาศของโรงเรียนและการเรียนการสอนในชั้นเรียน มีผลโดยตรงกับอุปนิสัยและความสำเร็จทางวิชาการของนักเรียน ทั้งการตรงต่อเวลา ที่ผู้บริหารและครูต้องสร้างบรรยากาศ และเป็นตัวอย่างแก่เด็ก ๆ มิใช่เพียงแต่พร่ำสอนเท่านั้น
ในส่วนของงานวิชาการ งานวิจัยยังพบว่า การสอนที่มีประสิทธิผล คือ การสอนอย่างมีเป้าหมายทางวิชาการ และมีโครงสร้างการใช้เวลาที่ชัดเจน พร้อมทั้งเน้นการสอนที่กระตือรือร้น มุ่งให้เด็กทำงานอย่างมีสมาธิ และคาดหวังให้เด็กประสบความสำเร็จสูง สำหรับการจัดการชั้นเรียน ก็ควรใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการสอนในชั้นเรียน ส่งเสริมให้ครูมีปฏิสัมพันธ์กับนักเรียนทั้งชั้น และทำการประเมินนักเรียนอย่างตรงไปตรงมา เป็นต้น
จากตัวอย่างข้อมูลของผลการวิจัยที่กล่าวมาข้างต้น จึงอาจสรุปได้ว่า “โรงเรียนที่ดี” คือ โรงเรียนที่ทำให้นักเรียนเป็นบุคคลที่มีอุปนิสัยที่ดีงาม ประสบความสำเร็จทางวิชาการ และเป็นพลเมืองที่ดีของสังคม เมื่อโรงเรียนมีบรรยากาศดี ก็จะส่งผลต่ออุปนิสัยดี และมีผลการเรียนดีไปด้วย สิ่งสำคัญจึงควรเริ่มที่บรรยากาศของโรงเรียน (School Climate) ซึ่งผู้บริหารสถานศึกษา คือ บุคคลที่มีบทบาทสำคัญที่สุดที่จะเปลี่ยนแปลงการศึกษาและเปลี่ยนโรงเรียนได้มากที่สุด อีกทั้งให้สังเกตการสอนของครูที่ต้องใช้เวลาไปกับการสอนมากกว่าทำเรื่องอื่น รวมทั้งพัฒนาครูให้มีทัศนคติที่ดีกับการสอน และไม่รอการสั่งการจากส่วนกลางเพียงอย่างเดียว
นอกจากนี้ ขอฝากให้น้อมนำพระราชดำรัสคำสอนของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่ทรงตรัสกับ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ไว้ 3 ประการ คือ “มองสิ่งที่ฉันทำ จดสิ่งที่ฉันพูด สรุปสิ่งที่ฉันคิด” โดยขอให้นำคำสอนนี้มาปรับใช้กับการเป็นผู้บริหารสถานศึกษา ทั้งกระทำในสิ่งที่เป็นตัวอย่างที่ดีกับเด็ก ๆ, การพูดอธิบายหรือสอนในสิ่งที่นักเรียนจดได้ และการคิดและทำในสิ่งที่สามารถสรุปได้
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวด้วยว่า สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งที่ผู้บริหารสถานศึกษาควรให้ความสำคัญ คือ การประกันคุณภาพการศึกษา เนื่องจากการประเมินตนเองอย่างเข้มงวดเป็นหัวใจของการพัฒนาโรงเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยการประกันคุณภาพการศึกษารูปแบบใหม่นี้ จะให้ผู้อำนวยการสถานศึกษาเป็นผู้ประเมินโรงเรียนตนเอง เพื่อตอบคำถามเกี่ยวกับการจัดการศึกษาจัดการศึกษาอยู่ในมาตรฐานใด มีหลักฐานใดที่สนับสนุนการประเมินนั้น และสถานศึกษามีแผนจะพัฒนาตนเองต่อไปอย่างไร โดยเน้นยำให้กล้าที่จะวัดและประเมินตนเองตามความเป็นจริง และมั่นใจว่าโรงเรียนในประเทศไทยมีคุณภาพไม่แพ้ประเทศอื่น ๆ เราสามารถช่วยกันพัฒนาการศึกษาไทยได้