พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมแก้ปัญหาเด็กออกกลางคัน เมื่อวันศุกร์ที่ 3 มิถุนายน 2559 ณ ห้องประชุมราชวัลลภ โดยมีผู้บริหารองค์กรหลัก, คณะกรรมการที่ปรึกษาในคณะกรรมการศูนย์ปฏิบัติการขับเคลื่อนงานตามนโยบายของรัฐมนตรี (ศปข.ศธ.), คณะทำงานรัฐมนตรี และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ได้หารือถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาเด็กออกกลางคัน ซึ่งข้อมูลในระหว่างปีการศึกษา 2556-2558 มีนักเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ออกกลางคันจำนวนกว่า 22,000 คน โดยเป็นนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นมากที่สุด ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากการย้ายถิ่นฐานตามผู้ปกครอง ปัญหาความยากจน ปัญหาในการปรับตัว และปัญหาอื่นๆ ตามลำดับ
แนวทางการป้องกันเด็กออกกลางคัน จะต้องสำรวจข้อมูลนักเรียนออกกลางคันรายบุคคลและรายจังหวัด พร้อมวิเคราะห์ปัญหาเด็กกลุ่มเสี่ยงจำแนกตามสาเหตุ และประสานความร่วมมือกับผู้ปกครอง ชุมชน ท้องถิ่น หน่วยงานต่างๆ เพื่อร่วมกันป้องกันต่อไป
ส่วนการแก้ไขปัญหาเด็กออกกลางคันนั้น กระทรวงศึกษาธิการได้เตรียมแผนงานทั้งในระยะเร่งด่วนและระยะยาว โดยสิ่งสำคัญคือการนำแผนไปสู่การบูรณาการการทำงานร่วมกันในระดับจังหวัด ทั้งผู้อำนวยการสถานศึกษา ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ศึกษาธิการจังหวัด ตลอดจนคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด พร้อมทั้งจัดทำระบบข้อมูลที่จะนำมาใช้ในการวางแผนติดตามนักเรียนให้กลับมาเรียนให้มากที่สุด และประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมมอบให้คณะทำงานรับประเด็นต่างๆ ไปปรับปรุงเพิ่มเติมให้มีความสมบูรณ์มากขึ้น ตลอดจนการขยายขอบเขตให้ครอบคลุมไปถึงเด็กที่ถึงเกณฑ์เข้าเรียน (3 ขวบ) แต่ไม่ได้เข้าเรียน เพื่อให้สอดรับกับปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการสร้างความเข้มแข็งด้านการศึกษาให้กับเด็กตกหล่น (ASEAN Declaration on Strengthening Education for Out-of-School Children and Youth) ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบและได้มีการรับรองในการประชุมรัฐมนตรีศึกษาอาเซียนที่ประเทศมาเลเซีย เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2559 แล้ว โดยปฏิญญาดังกล่าวได้ให้ความสำคัญกับทั้งเด็กที่ไม่สามารถเข้าถึงการศึกษา เด็กที่ไม่ได้เข้าเรียน เด็กที่เข้าเรียนแล้วไม่ไปเรียน และเด็กที่ออกกลางคัน จากนั้นจะนำปฏิญญาฯ เข้าสู่การประชุมซัมมิทช่วงเดือนกันยายน 2559 ต่อไป
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้ให้ความสำคัญและมีความห่วงใยในประเด็นนี้มาก จึงมอบให้กระทรวงศึกษาธิการเร่งดำเนินการแก้ไขให้เป็นรูปธรรม ดังนั้นในเร็วๆ นี้ จะแจ้งให้คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) รับทราบและเร่งขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาเด็กออกกลางคันอย่างเป็นระบบ พร้อมได้จัดเตรียมโมเดลที่จะให้ กศจ.นำไปปรับใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงาน เช่น โมเดลจังหวัดสตูล ซึ่งประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาอย่างมาก เพราะมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานในการบูรณาการการทำงาน และมี ศธจ.ช่วยสนับสนุน
ในส่วนของฐานข้อมูลเด็กออกกลางคันนั้น จะร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทยเพื่อจัดทำระบบฐานข้อมูลและขอใช้ข้อมูลตัวเลขเด็กที่ต้องเข้าเรียนตั้งแต่อายุ 3 ขวบ เด็กที่ไม่เข้าเรียนการศึกษาภาคบังคับ และเด็กที่ออกกลางคัน เพื่อนำมาวิเคราะห์สังเคราะห์หาสาเหตุและอุดช่องว่างในการติดตามเด็กเมื่อออกไปจากโรงเรียนแล้วว่าไปเรียนอยู่ที่ใดหรือไม่ ซึ่งในส่วนนี้จะช่วยลดปัญหาเด็กมีชื่อสองแห่งในการเบิกเงินอุดหนุนรายหัวซ้ำซ้อนด้วย
ขอบคุณข่าวจากเว็บไชต์ กระทรวงศึกษาธิการ
Post Views: 182