(24 พ.ย.2558) พลเอก ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
(รมว.ศธ.) พร้อมด้วย นายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการ กพฐ. ร่วมรับฟังการรายงานผลการติดตามการดำเนินโครงการ “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” เพื่อติดตามความก้าวหน้าของ Smart Trainer ที่เป็นศึกษานิเทศก์ จากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ๒๒๕ เขต จำนวน ๖๐๐ คน ณ โรงแรมเอเชีย ราชเทวี กรุงเทพมหานคร รมว.ศธ. กล่าวว่า จากนโยบาย “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ (Moderate Class More Knowledge)” ของกระทรวงศึกษาธิการ ที่ได้เริ่มดำเนินการวางแผนแนวทางการบริหารจักการเวลาเรียนเป็นระยะ โดยได้ดำเนินการใน ๔ เรื่องหลัก คือ ๑. หลักสูตร ๒. กระบวนการ เรียนรู้ ๓. การวัดและประเมินผล ๔. การทบทวนหลังการปฏิบัติ ซึ่งล้วนเป็นเรื่องที่จะต้องดำเนินการให้ต่อเนื่อง เพื่อให้นโยบายมีความสมบูรณ์ ครบถ้วน นำไปสู่การปฏิบัติอย่างมี ประสิทธิภาพ เพื่อให้การดำเนินการตามนโยบายลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ ซึ่งมีเจตนาการ ปรับลดเวลาเรียนให้น้อยลง เป้าหมายเพื่อให้เด็กไม่ต้องเครียดจนเกินไป เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จึงได้ดำเนินการตามนโยบายดังกล่าว ด้วยการนำ ร่องโรงเรียนที่พร้อมก่อนจำหน่วย ๓,๘๓๑ แห่ง ทั้งในระดับประถมศึกษา และ มัธยมศึกษาตอนต้นทั่วประเทศ เริ่มตั้งแต่เปิดภาคเรียนที่ ๒ ปีการศึกษา ๒๕๕๘ และจัดตั้งศึกษานิเทศก์ ผู้ดำเนินการนิเทศกิจกรรม “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” (Smart Trainer) จำนวน ๓๐๐ ทีม เพื่อให้การนิเทศ กำกับ ติดตาม ดูแล ให้ความช่วยเหลือ สนับสนุนการดำเนินงานด้านการบริหารเวลา เรียนและการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ของโรงเรียนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเริ่มดำเนินการ ตั้งแต่วันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ ที่ผ่านมา
ขณะนี้ ศึกษานิเทศก์ผู้ดำเนินการนิเทศกิจกรรม “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” (Smart Trainer) ได้ดำเนินการนิเทศ ติดตามการดำเนินงานของโรงเรียนไประยะหนึ่งแล้ว สพฐ. จึงได้จัดประชุมติดตาม และรายงานความก้าวหน้า Smart Trainer ในการนิเทศ ติดตามการจัดกิจกรรม “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” ครั้งที่ ๑ ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ในการติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานเกี่ยวกับ นโยบายลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ เพื่อให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับความพร้อมของโรงเรียน เพื่อรวบรวมปัญหา อุปสรรคในการดำเนินงานกิจกรรม “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” ในระดับเขตพื้นที่การศึกษาและระดับโรงเรียน เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ในการนิเทศกิจกรรม “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” เพื่อพัฒนากิจกรรมลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ ให้มีประสิทธิภาพ รมว.ศธ. กล่าว
ด้าน เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่าหลังจากนี้ สพฐ. จะมีการติดตามการวัดและประเมินผลของการจัดทำโครงการ ลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ โดยให้เขตพื้นที่การศึกษา ติดตามประเมินผลทุก ๆ เดือน ว่ากิจกรรมที่ได้ขับเคลื่อนไปนั้น ได้มีปัญหาหรืออุปสรรคอะไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็นการบริหารจัดการเมนูกิจกรรมให้เด็กได้เข้าร่วมอย่างหลากหลาย ซึ่งจะต้องมีการสอบถามจากผู้ปกครอง ชุมชน และนักเรียนด้วยว่า มีความพึงพอใจและมีความเข้าใจในบริบทของกิจกรรมดังกล่าวมากน้อยเพียงใด ทั้งนี้ สพฐ. ได้มอบหมายให้ สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา (สวก.) และสำนักติดตามและประเมินผล ( สตผ.) แต่งตั้งคณะทำงานติดตามประเมินผลการขับเคลื่อนกิจกรรม ซึ่งคณะทำงานจะได้วางรูปแบบการประเมินถึงผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของเด็กในการร่วมกิจกรรมดังกล่าว จากนั้นเดือนเมษายน 2559 ซึ่งเป็นช่วงปิดภาคเรียน จะมีการสรุปผล ปัญหา อุปสรรคและความสำเร็จของโครงการ ก่อนที่จะขยายผลโครงการให้ครอบคลุมโรงเรียนสังกัด สพฐ. ทั่วประเทศ ต่อไป
ทิพวรรณ ปชส.ข่าว
Post Views: 230