ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ โรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการและคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ – พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มอบนโยบายในการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อเตรียมความพร้อมผู้ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น รุ่นแรก ปีการศึกษา 2559 จำนวน 4,079 คน เมื่อวันจันทร์ที่ 17 ตุลาคม 2559 โดยมี พล.ต.ณัฐพงษ์ เพราแก้ว เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นวิทยากรบรรยายแผนการปฏิรูปการศึกษาด้านการผลิตและพัฒนาครู และมี ดร.สุภัทร จำปาทอง เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา นายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้บริหารและข้าราชการสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ให้การต้อนรับและร่วมการประชุมในครั้งนี้
รมว.ศึกษาธิการ นำที่ประชุมยืนสงบนิ่งเพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายอาลัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นเวลา 1 นาที พร้อมทั้งเปิดวีดิทัศน์กระแสพระราชดำรัสเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2539 เรื่อง การอบรมบ่มนิสัยในยุคเทคโนโลยี เพื่อช่วยกระตุ้นให้ครูมีสำนึกและจิตวิญญาณความเป็นครู การที่จะสอนคนให้เป็นคนดีได้นั้น เทคโนโลยีไม่สามารถทำได้ เพราะเทคโนโลยีไม่มีชีวิต ไม่มีจิตใจ เช่น การสอนทางไกลผ่านดาวเทียมซึ่งใช้โทรทัศน์เพียงเครื่องเดียวสอนเด็กเป็นพัน ๆ คน ซึ่งเป็นการใช้เทคโนโลยีเพื่อสอนความรู้วิชาการเท่านั้น แต่การจะสอนคนให้เป็นคนดี ต้องใช้คนสอน และคนที่จะสอนก็คือ “ครู” ที่จะต้องสอนให้เขาเป็นคนดีตั้งแต่เด็ก ๆ
นอกจากนี้ ได้ยกตัวอย่างกระแสพระราชดำรัสเกี่ยวกับเรื่องของคนด้วยว่า "ในสังคมเรา มีทั้งคนดีและคนไม่ดี เราไม่สามารถทำให้ทุกคนเป็นคนดีได้ แต่เราต้องไม่ทำให้คนดีกลายเป็นคนไม่ดี รวมทั้งไม่ส่งเสริมคนไม่ดีในทุกทาง และหากมีศักยภาพมากพอ เราอาจดึงคนไม่ดีให้กลับมาเป็นคนดี"
ในส่วนของการศึกษา กล่าวฝากให้ครูน้อมนำ "กระแสพระราชดำรัสเกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษา" เพื่อใช้เป็นแนวทางในการสอนเด็กและเยาวชนของไทย ได้แก่ "ให้ครูรักเด็กและเด็กรักครู, ให้ครูสอนเด็กให้มีน้ำใจต่อเพื่อน ไม่ให้แข่งขันกัน แต่ให้แข่งขันกับตัวเอง, ให้เด็กที่เรียนเก่งกว่าช่วยสอนเพื่อนที่เรียนช้ากว่า ให้ครูจัดกิจกรรมให้เด็กทำร่วมกัน เพื่อให้เห็นคุณค่าของความสามัคคี"
จากนั้น รมว.ศึกษาธิการ ได้มอบแนวทางการทำงานที่สำคัญ ดังนี้
-
การปรับตัว เมื่อลงไปสอนจริงในโรงเรียน เชื่อว่าทุกคนจะต้องพบเจอกับทั้งสิ่งที่คาดคิดไว้และไม่คาดคิด จึงจำเป็นต้องค่อย ๆ ปรับตัวกับสถานการณ์และสภาพแวดล้อมใหม่ให้ได้ เมื่อนั้นครูก็จะอยู่อย่างมีความสุข
-
เทคนิคการพูดและการสอน ผู้ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการครั้งนี้ ถือเป็นผู้มีความรู้ความสามารถอยู่แล้ว จากนี้ไปคือการถ่ายทอดความรู้ที่มีอยู่ให้กับเด็ก ๆ ซึ่งต้องยอมรับว่าเด็กยุคใหม่เป็นเด็กในศตวรรษที่ 21 ซึ่งต้องมีเทคนิคการพูดการสื่อสารต่างไปจากเดิม ถือได้ว่าเทคนิคของการสื่อสารเป็นเรื่องสำคัญอย่างมากต่ออาชีพครู เพราะครูต้องพูด ต้องสอนให้เด็กรู้และเข้าใจเรื่องต่าง ๆ อยู่ตลอดเวลา แต่อย่างไรก็ตามในเรื่องของการพูดและการสื่อสาร เชื่อว่าสามารถเรียนรู้และฝึกฝนกันได้
-
การเอาใจเขามาใส่ใจเรา เป็นสิ่งที่ตนใช้กับการทำงานอยู่เสมอ เพราะจะช่วยให้การทำงานสำเร็จด้วยความราบรื่นเรียบร้อย และมีความสุขทั้งสองฝ่ายคือผู้สั่งและผู้ปฏิบัติ จึงต้องการให้ทุกคนนำไปปรับใช้ในการทำงานของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นงานที่ผู้อำนวยการโรงเรียนมอบหมาย งานช่วยเหลือผู้อื่น งานสอนของตนเอง หรือแม้แต่วิธีการลงโทษ ขอให้คิดถึงจิตใจเด็ก ๆ ให้คิดว่าเมื่อตอนเราเป็นเด็ก เราต้องการให้ครูทำอย่างไร
-
การพัฒนาศักยภาพครูภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ กระทรวงศึกษาธิการเตรียมที่จะตรวจเลือด (คัดกรอง) ครูผู้สอนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 ที่สอนใน 3 วิชาดังกล่าวก่อน เพื่อหาจุดอ่อนครูจำแนกเป็นรายวิชา ที่จะได้พัฒนาฝึกอบรมให้มีทักษะและศักยภาพมากขึ้น ดังนั้นขอให้ทุกคนเตรียมตัวและติดตามข่าวสารเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว เพื่อแสดงศักยภาพของตนเองออกมาอย่างเต็มที่
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวด้วยว่า พระราชดำรัสและพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทุกเรื่อง ไม่เคยล้าสมัย แต่อยู่ที่เราจะนำมาใช้และแปลงให้มีความเข้าใจอย่างไร ทุกสิ่งที่พระองค์ท่านทรงพระราชทานแก่คนไทย เปี่ยมด้วยความบริสุทธิ์ใจ เพราะต้องการเห็นคนไทยเป็นคนดี อยู่ดีกินดี มีความรักและสามัคคีให้แก่กัน ในส่วนของรัฐบาลก็ยังมีหน้าที่ที่ต้องทำเพื่อประชาชนอีกมาก และในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการก็มีหลายเรื่องที่ต้องดำเนินการและปรับปรุงแก้ไข ซึ่งโครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่นก็เป็นอีกหนึ่งงานที่กระทรวงศึกษาธิการคาดหวังให้ได้ครูเป็นพลังเสริมการทำงานของครูที่มีอยู่เดิมกว่า 4 แสนคนที่ทำงานอย่างหนักในภูมิลำเนาของตนเองหรือในพื้นที่ขาดแคลนด้วย
ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการได้เตรียมอัตราบรรจุครูกลุ่มนี้ ให้เป็นข้าราชการครูตำแหน่งครูผู้ช่วย รุ่นแรกจำนวน 4,079 คน แบ่งเป็นสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) 3,845 คน, สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) 224 คน และสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) 10 คน พร้อมให้เร่งบรรจุครูให้ทันวันที่ 24 ตุลาคม 2559 เพื่อให้มีเวลาเตรียมการสอนก่อนเปิดภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2559 ด้วย
Post Views: 407