นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ครั้งที่ 10/2559 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 27 ตุลาคม 2559 โดยมี พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมว่า ก.ค.ศ.ได้เห็นชอบร่างหลักเกณฑ์ฯ การคัดเลือกและพัฒนาบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษา สพฐ. พร้อมกำหนด
• เห็นชอบ (ร่าง) หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
ที่ประชุมได้พิจารณาแล้ว มีมติ
-
หลักเกณฑ์และวิธีการนี้ฯ ให้ใช้คัดเลือกเฉพาะปี 2559 และใช้คัดเลือกผู้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษา สังกัด สพฐ. ทั่วประเทศ -
ผู้สมัครเข้ารับการคัดเลือกต้องมีคุณสมบัติครบถ้วน ตามมาตรฐานตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษา -
การคัดเลือกไม่มีการแบ่งกลุ่มทั่วไป และกลุ่มประสบการณ์ -
ผู้สมัครต้องเลือกสมัคร ในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา หรือสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา หรือสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ ได้เพียงแห่งเดียว หากสมัครเกินกว่า 1 แห่งจะตัดสิทธิ์การคัดเลือกทั้งหมด -
หลักสูตรการคัดเลือก แบ่งเป็น 2 ภาค คือ ภาค ก ความรู้ความสามารถทั่วไป และ ภาค ข ความเหมาะสมกับตำแหน่ง -
ให้ สพฐ. เป็นผู้ดำเนินการออกข้อสอบภาค ก และกำหนดตัวชี้วัด องค์ประกอบ และคะแนนการประเมินในภาค ข -
ให้คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) หรือ อ.ก.ค.ศ. สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ เป็นผู้ดำเนินการสอบ ภาค ก และประเมิน ภาค ข -
ผู้ได้รับการคัดเลือกต้องได้คะแนน ภาค ก ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 และต้องได้คะแนนภาค ก และภาค ข รวมกันไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60 -
การบรรจุและแต่งตั้ง ให้ กศจ. หรือ อ.ก.ค.ศ. สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ ดำเนินการ หากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา หรือสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษใด ยังมีบัญชีผู้ได้รับการคัดเลือกที่ยังไม่หมดอายุการขึ้นบัญชี ให้เรียกตัวผู้ที่ได้รับการคัดเลือกจากบัญชีก่อน หากไม่มีบัญชีผู้ได้รับการคัดเลือกอยู่เดิม หรือมีแต่เรียกจนหมดบัญชี หรือบัญชีถูกยกเลิกแล้ว ให้เรียกตัวผู้ได้รับการคัดเลือกจากบัญชี กศจ. หรือ บัญชี อ.ก.ค.ศ. สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ ที่ได้ดำเนินการคัดเลือกตามหลักเกณฑ์และวิธีการนี้ ตามลำดับที่ และตามจำนวนตำแหน่งว่างที่ประกาศรับสมัคร โดยไม่มีการขึ้นบัญชี -
ให้ผู้มีอำนาจตามมาตรา 53 สั่งบรรจุและแต่งตั้ง ผู้ได้รับการคัดเลือกที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามมาตรฐานตำแหน่งและผ่านการพัฒนาก่อนบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษาแล้ว ตามจำนวนตำแหน่งที่ประกาศรับสมัคร -
ผู้ได้รับการบรรจุและแต่งตั้งตามหลักเกณฑ์และวิธีการนี้ ต้องได้รับการประเมินการปฏิบัติงานในหน้าที่เป็นระยะเวลา 1 ปี ตามวิธีการ องค์ประกอบ และตัวชี้วัด ที่ สพฐ.กำหนด หากมีผลการประเมินไม่ผ่านเกณฑ์การประเมิน ให้ สพฐ. ดำเนินการตามกฎ ก.ค.ศ. ว่าด้วยการสั่งให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาได้รับเงินเดือนในอัตรากำลังทดแทน พ.ศ. 2551 ข้อ 1 (7) -
ให้ กศจ. หรือ อ.ก.ค.ศ. สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ แล้วแต่กรณี ดำเนินการยกเลิกบัญชีผู้ได้รับการคัดเลือก เป็นการเฉพาะบุคคล เมื่อผู้นั้นมีกรณีใดกรณีหนึ่ง ดังนี้
– ได้รับการบรรจุและแต่งตั้งจากบัญชีที่ได้รับการคัดเลือกที่มีอยู่เดิม หรือบัญชีที่ได้รับการคัดเลือกตามหลักเกณฑ์และวิธีการนี้ บัญชีใดบัญชีหนึ่งไปแล้ว
– ไม่มารายงานตัวเพื่อรับการบรรจุและแต่งตั้ง ตามวัน เวลา และสถานที่ที่กำหนด หรือไม่สมัครใจที่จะรับการบรรจุและแต่งตั้ง
– มารายงานตัวแต่ไม่เลือกสถานศึกษาที่จะบรรจุและแต่งตั้ง
– แจ้งสละสิทธิ์การบรรจุและแต่งตั้ง
– ในวันที่บรรจุและแต่งตั้ง มีคุณสมบัติไม่ครบถ้วนตามมาตรฐานตำแหน่งและไม่ผ่านการพัฒนาก่อนแต่งตั้ง
-
การพัฒนา กำหนดให้มีการพัฒนาข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ผ่านการคัดเลือกเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษา โดยให้มีการพัฒนาสมรรถนะผู้อำนวยการสถานศึกษา เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 60 ชั่วโมง ด้านคุณลักษณะผู้อำนวยการสถานศึกษาที่พึงประสงค์ ภาวะผู้นำ
ทางวิชาการ และการบริหารและจัดการในสถานศึกษา ผู้เข้ารับการพัฒนาต้องมีระยะเวลาเข้ารับการพัฒนา
ไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ของระยะเวลาการพัฒนา และต้องผ่านเกณฑ์การประเมินไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80
หากไม่ผ่านการประเมินต้องเข้ารับการพัฒนาใหม่ -
มาตรฐานการพัฒนา ให้ สพฐ. ดำเนินการดังนี้
1) การบริหารจัดการ จัดทำรายละเอียดหลักสูตรและคู่มือการพัฒนา แผนพัฒนา คัดเลือกวิทยากรและวิทยากรพี่เลี้ยง และดำเนินการพัฒนาตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.ค.ศ. กำหนด โดยวิทยากรและวิทยากรพี้เลี้ยงต้องเป็นผู้ที่มีบุคลิกภาพเหมาะสม มีความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ และเป็นที่ยอมรับในทางวิชาการ
2) สื่อ และนวัตกรรมการพัฒนา ให้จัดทำคู่มือและสื่อประกอบการพัฒนาให้ผู้เข้ารับการพัฒนาทราบ
3) สถานที่ที่ใช้ในการพัฒนาต้องเหมาะสม
4) การประเมินผลการพัฒนา ต้องมุ่งเน้นการประเมินตามสภาพจริงอย่างเป็นระบบและได้มาตรฐาน -
หลังจากผ่านการพัฒนาเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 60 ชั่วโมง ให้ สพฐ.ดำเนินการกำกับ ติดตาม และประเมินผลการปฏิบัติงานเป็นระยะ ๆ ภายใน 1 ปี หากไม่ผ่านจะต้องกลับไปดำรงตำแหน่งเดิม โดย ที่ประชุมมอบ สพฐ. และ ก.ค.ศ. ไปหารือเกี่ยวกับตำแหน่งในอัตราทดแทน -
หลังจากผ่านการพัฒนาเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 60 ชั่วโมง ให้มีการพัฒนาอีกไม่น้อยกว่า 120 ชั่วโมง สำหรับการบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษา และให้มีผลย้อนหลังไป ณ วันที่ผ่านการพัฒนาเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 60 ชั่วโมง -
การปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการนี้ ให้ใช้เฉพาะในการคัดเลือกตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษา สังกัด สพฐ. ในปี พ.ศ. 2559 เท่านั้น
"ส่วนมติอื่น ๆ จากการประชุม ก.ค.ศ.ในครั้งนี้ คือ การอนุมัติให้นำโปรแกรมการตรวจสอบการคัดลอกผลงานวิชาการมาใช้ในการประเมินวิทยฐานะ และ อนุมัติย้ายผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา 2 ราย ได้เผยแพร่ไปแล้วในข่าวที่ 449/2559
ดรุวรรณ บุญมาก, บัลลังก์ โรหิตเสถียร : สรุป/รายงาน
27/10/2559
เผยแพร่ 31 ตุลาคม 2559