เลขาธิการ กพฐ. ตรวจสนามสอบคัดเลือก ผอ.รร. พร้อมกำชับ สพท.ป้องกันทุจริต
***(3 ธันวาคม 2559) ณ โรงเรียนพญาไท กรุงเทพมหานคร นายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการ คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน พร้อมด้วยผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)เดินทางไปตรวจเยี่ยมสนามสอบคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ปี พ.ศ. 2559 โดยในกรุงเทพมหานครมีผู้เข้าสอบโรงเรียนพญาไท จำนวน 35 ราย และโรงเรียนพิบูลประชาสรรค์ จำนวน 92 ราย
เลขาธิการ กพฐ. เปิดเผยว่า การสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษาครั้งนี้มีสนามสอบทั้งสิ้น 77 สนาม ทั่วประเทศ (กศจ. 76 สนาม และ สศศ. 1 สนาม) ซึ่งมีตำแหน่งว่างทั้งสิ้น 2,890 อัตรา มีผู้สมัครสอบ 9,508 ราย มีสิทธิสอบ 9,471 ราย โดยการสอบมีขึ้นระหว่างวันที่ 3-4 ธันวาคม 2559 ซึ่งวันที่ 3 ธันวาคม 2559 เป็นการสอบภาค ก. ความรู้และความสามารถทั่วไปและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงาน ความสามารถในการบริหารงานในหน้าที่และสมรรถนะในการบริหาร และวันที่ 4 ธันวาคม 2559 เป็นการสอบสัมภาษณ์ ประกาศผลการคัดเลือกภายในวันที่ 9 ธันวาคม 2559 โดยผู้ที่ได้รับบรรจุและแต่งตั้งต้องได้รับการประเมินสัมฤทธิ์ผลการปฏิบัติงานในหน้าที่เพื่อพัฒนาการศึกษาเป็นระยะเวลา 1 ปี โดยให้มีการประเมิน 2 ครั้ง ทุก 6 เดือน หากผลการประเมินใน 6 เดือนแรก ไม่ผ่านเกณฑ์การประเมิน
ให้ผู้ประเมินแจ้งผลการประเมินให้ผู้รับการประเมินทราบ เพื่อพัฒนาตนเองและปรับปรุงการปฏิบัติงานในหน้าที่ และเมื่อครบ 6 เดือนหลัง ให้มรการประเมินครั้งที่ 2 แล้วให้ผู้ประเมินสรุปผลการประเมิน หากผลการประเมินรวมทั้ง 2 ครั้ง ผ่านเกณฑ์การประเมิน ให้ผู้รับการประเมินปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งผู้อำนวยการสงถานศึกษาต่อไป แต่หากผลการประเมินทั้ง 2 ครั้ง ไม่ผ่านเกณฑ์การประเมิน จะดำเนินการตามมาตรา 71 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 และ
กฎ ก.ค.ศ. ว่าด้วยการสั่งให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษารับเงินเดือนในอัตรากำลังทดแทน พ.ศ.2551 ทั้งนี้ผลการประเมินเป็นประการใดให้ถือเป็นอันสิ้นสุด
เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อไปว่า การสอบคัดเลือกครั้งนี้จะต้องเป็นไปด้วยความเรียบร้อย บริสุทธิ์ ยุติธรรม ซึ่ง สพฐ.ได้กำหนดมาตรการการป้องกันการทุจริตในการดำเนินการคัดเลือกทั้งก่อนสอบ ระหว่างสอบและหลังสอบ เพี่อให้การสอบแข่งขันเป็นไปอย่างรอบคอบ เอาใจใส่ ระมัดระวัง ป้องกันความเสี่ยงที่อาจจะมีข้อผิดพลาด โดยห้ามมิให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และข้าราชการในสังกัดเข้าไปเกี่ยวข้องหรือกระทำการใดๆ ที่มีเจตนาเป็นการกวดวิชา จำหน่าย แจก หรือกระบวนการอื่นใดที่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้สอบโดยเด็ดขาด พร้อมทั้งให้กำหนดบุคคลในทางลับ เพื่อตรวจสอบติดตามบุคคลที่มีพฤติกรรมในกรณีดังกล่าว และมิให้แต่งตั้งเป็นกรรมการที่เกี่ยวข้องกับการคัดเลือกอย่างเด็ดขาด รวมถึงการสอดส่องดูแลความเคลื่อนไหว สังเกตการณ์ หากพบความเสี่ยงปัญหาหรืออุปสรรคให้รายงานเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานทราบโดยทันที เพื่อให้การดำเนินการสอบแข่งขันเป็นไปตามหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี โดยยึดหลักระบบคุณธรรม ความเสมอภาค โปร่งใส ตรวจสอบได้ เพื่อให้ได้ผู้บริหารสถานศึกษาที่มีความรู้ความสามารถอย่างแท้จริง
ทิพวรรณ ข่าว