รมช.ศธ. พบปะผู้ร่วมประชุมอบรมเชิงปฏิบัติการ การจัดทำแผน และแนวทางการดำเนินงานโรงเรียนคุณธรรม ในเขตภาคเหนือ
***(วันที่ 5 มีนาคม 2560) หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(รมช.ศธ.) เป็นประธานในพิธีปิดการประชุมอบรมเชิงปฏิบัติการ การจัดทำแผนการดำเนินงานโครงการโรงเรียนคุณธรรม ระดับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา พร้อมบรรยายพิเศษและพบปะกับผู้เข้าร่วมการประชุม เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้เกิดผลสัมฤทธิ์ตามวัตถุประสงค์ของโครงการอย่างเป็นรูปธรรมและมีความยั่งยืน โดยมีศึกษานิเทศก์ นักวิชาการศึกษา และบุคลากรทางการศึกษาจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาภาคเหนือ เข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียงกัน ณ โรงแรมเชียงใหม่ภูคำ จังหวัดเชียงใหม่
ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล กล่าวถึงหลักคิดของโรงเรียนคุณธรรมว่า การที่จะพัฒนาให้คนในสังคมเป็นคนมีความรู้ ควบคู่ไปกับการเป็นคนดี มีคุณธรรมนั้น ควรเริ่มจากการดำเนินชีวิตให้เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับคนในสังคมเล็กๆ และค่อยๆ ขยายผลไปสู่สังคมที่ใหญ่ขึ้น โครงการโรงเรียนคุณธรรม ของสพฐ. ถือเป็นการสร้างโอกาสให้เยาวชน ได้คิด วิเคราะห์ และเริ่มต้นพัฒนาคุณธรรม จริยธรรมในประเด็นที่สอดคล้องกับความต้องการของสังคมที่ตนอาศัยอยู่ ซึ่งแนวทางการพัฒนาโรงเรียนคุณธรรม ของ สพฐ. ไม่ใช่เป็นเพียงการพัฒนานักเรียนเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการพัฒนาผู้บริหาร ครู และบุคลากรทางการศึกษา ให้มีคุณธรรม จริยธรรม อันนับว่าเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการประกอบวิชาชีพ หากบุคคลใดหรือวิชาชีพใดไม่มีคุณธรรมจริยธรรมเป็นหลักยึดเบื้องต้นแล้วก็ยากที่จะก้าวไปสู่ความสำเร็จแห่งตนและแห่งวิชาชีพนั้นๆ
“การจะเป็นโรงเรียนคุณธรรมได้นั้น จำเป็นต้องมีแบบอย่าง (Idol) ที่ยั่งยืน เพื่อดำรงความเป็นคนไทยไว้ให้ได้ ทั้งความซื่อตรง ซื่อสัตย์ สุจริต มีความเป็นสุภาพชน และอ่อนน้อมถ่อมตน สิ่งสำคัญคือการตามรอยเบื้องพระยุคลบาทของในหลวงรัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10 รวมทั้งเรื่องของครูอาจารย์ก็ถือเป็นเรื่องสำคัญสำหรับการอบรมสั่งสอนเด็กและเยาวชน ตลอดจนนำแผนงานที่ได้เตรียมไว้เข้าไปสู่การเรียนการสอนในห้องเรียน เพื่อให้เกิดมรรคผลในการสร้างศิษย์ เพื่อให้ศิษย์ไปสร้างชาติ เช่นเดียวกับการสร้างวิทยากรโรงเรียนคุณธรรม ที่จะต้องมีแบบมีแผนในการดำเนินงาน นำแผนไปสู่การปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง ปรับปรุงและพัฒนาด้วยความมุ่งมั่นอดทน เพื่อไปให้ถึงเป้าหมายที่วางไว้ ก็คือการขยายโรงเรียนคุณธรรมให้ครบทั้ง 76 จังหวัด และกรุงเทพมหานคร” รมช.ศธ. กล่าว
ทั้งนี้ หลังจากได้จัดการประชุมอบรมเชิงปฏิบัติการในภาคใต้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือเสร็จสิ้นแล้ว หลังจากนั้นจะมีการติดตามประเมินผลเพื่อปรับปรุง แก้ไข เพิ่มเติม ตลอดจนสำรวจปัญหาอุปสรรคจากการดำเนินงาน ซึ่งทั้งหมดนี้กระทรวงศึกษาธิการ โดย สพฐ. จะต้องทำงานควบคู่กับคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน อย่างต่อเนื่องต่อไป
อัฉลา ข่าว /สุชาติ ภาพ