ก.ค.ศ.เห็นชอบ
นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เผยที่ประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ครั้งที่ 9/2560 เมื่อวันศุกร์ที่ 19 พฤษภาคม 2560 โดยมี นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธาน ได้เห็นชอบ (ร่าง) หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และได้หารือแนวทางการคัดเลือกรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาในตำแหน่งที่ว่าง 209 อัตรา
นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ กล่าวว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบ (ร่าง) หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษา สังกัด สพฐ. ตามที่สำนักงาน ก.ค.ศ. เสนอ โดยมีหลักการสำคัญ ดังนี้
-
ให้คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) เป็นผู้ดำเนินการคัดเลือก โดยให้มีการสอบ 2 ภาค ได้แก่ 1) ภาค ก สอบข้อเขียน ความรู้ความสามารถทั่วไป กฎหมาย งานในหน้าที่ และสมรรถนะทางการบริหาร 2) ภาค ข ประเมินประวัติ ผลงาน และการสัมภาษณ์ โดย สพฐ. เป็น
ผู้ออกข้อสอบในภาค ก และกำหนดตัวชี้วัดตามภาค ข -
ผู้มีสิทธิ์สมัครเข้ารับการคัดเลือก ต้องเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา สังกัด
สพฐ. มีคุณสมบัติตามมาตรฐานตำแหน่ง และมีคุณสมบัติทั่วไปตามมาตรา 30 -
เลือกสมัครในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาหรือสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา ได้เพียงแห่งเดียว หากเกินกว่า 1 แห่ง ถูกตัดสิทธิ์ทั้งหมด
-
บรรจุและแต่งตั้งผู้ผ่านการคัดเลือก ผ่านการพัฒนาก่อนแต่งตั้ง โดยไม่มีการขึ้นบัญชี
-
ประเมินสัมฤทธิผลการปฏิบัติงานภายใน 1 ปี ทุก ๆ 6 เดือน หากผ่านการประเมินให้ปฏิบัติหน้าที่ต่อ หากไม่ผ่านให้ดำเนินการตามมาตรา 71 และ กฎ ก.ค.ศ.
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้หารือถึงการกำหนดหลักเกณฑ์การคัดเลือกผู้มาดำรงตำแหน่ง "รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา" สังกัด สพฐ. เพื่อสรรหาบุคคลมาลงตำแหน่งที่ว่างอยู่ 209 อัตรา ซึ่งที่ประชุมมีความเห็นว่าในช่วงของการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ระบบโครงสร้างใหม่ ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 19/2560 ซึ่งกำหนดให้มีสำนักงานศึกษาธิการภาค (ศธภ.) สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) พร้อมทั้งกำหนดบทบาทอำนาจหน้าที่ของทั้งสองหน่วยงานไว้ ทำให้อำนาจหน้าที่ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาบางส่วนไปเป็นอำนาจหน้าที่ของสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด ประกอบกับ สพฐ. ยังมีรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ตำแหน่งที่มีเงื่อนไขอีกกว่า 300 อัตรา ดังนั้น การจะสรรหาบุคคลมาดำรงตำแหน่งใหม่นั้น ควรมีการคิดพิจารณาอย่างรอบคอบ และขอให้บริหารจัดการจากอัตราตำแหน่งที่มีอยู่แล้ว เพื่อไม่ให้เกิดประเด็นปัญหาเหมือนในอดีตที่ผ่านมา ที่ต้องใช้ระยะเวลาในการเยียวยากว่า 10 ปี
ที่ประชุมจึงมอบสำนักงาน ก.ค.ศ. วิเคราะห์ภาระงานเพื่อกำหนดกรอบอัตรากำลังของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาใหม่ว่า ภายหลังเปลี่ยนแปลงตามโครงสร้างใหม่แล้ว ควรมีจำนวนรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา/มัธยมศึกษาเท่าใด จากนั้นจึงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการเกลี่ยอัตรากำลังในการเข้าสู่ตำแหน่งต่อไป คาดว่าหากใช้วิธีการเกลี่ยรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา "ตำแหน่งที่มีเงื่อนไข" ให้ไปดำรงตำแหน่งที่ว่างก่อน ก็อาจจะช่วยให้สามารถสรรหารองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแทนอัตราว่างได้เกือบครบทุกแห่ง
นวรัตน์ รามสูต, ดรุวรรณ บุญมาก
บัลลังก์ โรหิตเสถียร: สรุป/รายงาน
นวรัตน์ รามสูต: ถ่ายภาพ
22/5/2560