รมว.ศธ.ให้นโยบายในการประชุม ส.บ.ม.ท.
นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ บรรยายพิเศษ "Education in Thailand Evidence-based Policy" ในโครงการประชุมสัมมนาทางวิชาการ เรื่อง "การเรียนรู้ตามรอยพระยุคลบาท เพื่อเป็นข้าราชการที่ดี และพลังของแผ่นดิน" และการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2560 ครั้งที่ 47 ของสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย (ส.บ.ม.ท.) เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 15 มีนาคม 2561 ณ โรงแรมสตาร์ จังหวัดระยอง โดยมี พล.ท.โกศล ประทุมชาติ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, เรือโท ศตวรรษ อนันตกูล รองผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง, นายรัชชัยย์ ศรสุวรรณ นายก ส.บ.ม.ท. และผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาทั่วประเทศ เข้าร่วมงาน
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวตอนหนึ่งว่า ในเรื่องของการปฏิรูปการศึกษา มักจะมีผู้คอยห่วงใยและมีนักคิดเสนอความเห็น พร้อมมีรายงานด้านการศึกษาต่าง ๆ ประกอบการปฏิรูปเสมอ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ไม่มีการปฏิรูปใดที่ทำได้สำเร็จด้วยการถอนรากถอนโคน แต่จะต้องดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไป บนหลักการและข้อมูลพื้นฐานความจริง เป็นไปได้ และคำนึงถึงบริบทที่เกี่ยวข้อง
สิ่งหนึ่งที่เป็นข้อมูลสำคัญสะท้อนการปฏิรูปการศึกษาไทย คือการวิเคราะห์ผลการสอบ PISA ซึ่งเป็นการวัดผลความสามารถของเด็กอายุ 15 ปี ที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก ทั้งด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และการอ่าน โดยมีประเทศที่เข้าร่วมกว่า 70 ประเทศทั่วโลก ทั้งประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา ส่วนในภูมิภาคอาเซียนมีประเทศที่เข้าร่วมโครงการ อาทิ ไทย สิงคโปร์ เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เป็นต้น และสำหรับค่าคะแนนเฉลี่ยของ PISA จะอยู่ที่ 500 คะแนน และความห่างทุก 30 คะแนน นั่นหมายถึงความห่าง 1 ปีการศึกษา
สำหรับการสุ่มโรงเรียนไทยเข้าร่วมโครงการ PISA ประกอบด้วยโรงเรียนในหลากหลายลักษณะ อาทิ กลุ่มโรงเรียนวิทยาศาสตร์ ได้แก่ โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์และโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย, โรงเรียนสาธิตในสังกัด สกอ., โรงเรียนมัธยมฯ ระดับจังหวัดและอำเภอ, โรงเรียนเอกชน, โรงเรียนขยายโอกาสฯ ตลอดจนโรงเรียนสังกัด กทม. และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ซึ่งผลการวิเคราะห์คะแนน PISA พบว่า เด็กไทยที่เก่งที่สุด ได้คะแนน PISA สูงในระดับเดียวกับเด็กในประเทศที่ได้อันดับหนึ่ง รวมถึงประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่ในขณะเดียวกัน เด็กไทยที่เก่งที่สุดมีคะแนนห่างกับเด็กไทยที่อ่อนที่สุด ประมาณ 7 ปีการศึกษา ซึ่งมากกว่าความห่างระหว่างคะแนนเด็กไทยกับเด็กสิงคโปร์ แสดงให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของไทย นอกจากนี้ยังพบว่าความยากจนไม่ใช่ชะตากรรม เด็กที่ยากจนที่สุดและพ่อแม่ไม่สนใจการศึกษา 10% ของเวียดนาม สามารถทำคะแนนได้สูงเท่ากับเด็กในประเทศที่เจริญแล้ว
จากข้อมูลข้างต้น เป็นภาพสะท้อนอย่างดีว่า หากเรายังปฏิรูปแบบเดิม ๆ ผลก็จะออกมาแบบเดิมเช่นกัน ดังนั้น การจัดประชุมใหญ่สามัญประจำปีในครั้งนี้ จะเป็นโอกาสอันดีที่ผู้บริหาร ส.บ.ม.ท.จะได้ร่วมคิดร่วมหารือเพื่อยกระดับการศึกษามัธยมศึกษา ให้เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปการศึกษา โดยจัดครูที่เก่งที่สุดให้ไปสอนเด็กที่อ่อนที่สุด ตลอดจนสร้างแรงจูงใจให้เด็กกระตือรือร้นในการเรียนและแสวงหาความรู้ตลอดเวลา พร้อม ๆ กับสร้างแรงบันดาลใจในการค้นหาตัวตนให้เจอ สามารถเลือกเรียนต่อตามความถนัดและความสนใจ เติบโตเป็นกำลังคนที่เก่งวิชาชีพหรือมีทักษะและสมรรถนะตอบโจทย์การพัฒนาประเทศต่อไป
โอกาสนี้ รมว.ศึกษาธิการ ได้ตอบข้อซักถามเกี่ยวกับการจัดการมัธยมศึกษาด้วยว่า เร็ว ๆ นี้ กระทรวงศึกษาธิการจะเร่งสอบบรรจุครู เพื่อแก้ปัญหาบรรจุครูล่าช้า ไม่ให้ส่งผลต่อการจัดการศึกษาในโรงเรียนที่ขาดแคลน ส่วนการจัดตั้งสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเพิ่มเติม ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาด้านข้อกฎหมาย และข้อเสนอให้จัดตั้ง "กรมมัธยมศึกษา" ก็ถือเป็นความคิดที่ดี โดย ส.บ.ม.ท.สามารถหารือในประเด็นนี้กับคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาได้
ส่วนเรื่องการตรวจสอบการทุจริตของกระทรวงศึกษาธิการ ได้มอบให้ พล.ท.โกศล ประทุมชาติ ที่ปรึกษา รมว.ศึกษาธิการ ตรวจสอบเกี่ยวกับการทุจริตก่อสร้างสนามฟุตซอล เพื่อให้ข้าราชการชั้นผู้น้อยที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตจริง ๆ ต้องได้รับความเดือดร้อนไปด้วย
ขอบคุณข่าวจาก http://www.moe.go.th