(13 พฤษภาคม 2563) นายประเสริฐ บุญเรือง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยนายอำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และนายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ร่วมแถลงข่าว “การสรรหาข้าราชการสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)” ในปี 2563
ปลัด ศธ. กล่าวว่า ต้องการสร้างความเข้าใจให้แก่ศึกษาธิการจังหวัด ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และผู้บริหารโรงเรียน ให้รับทราบและดำเนินการตามแนวทางการสรรหาข้าราชการในสังกัด สพฐ. เนื่องจากมีตำแหน่งว่างจำนวนมาก และต้องการให้กระบวนการสอบมีความโปร่งใส ไม่ให้มีเรื่องทุจริตเกิดขึ้น
เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า ขณะนี้ สพฐ.มีอัตราว่างอยู่ 10 กลุ่ม ที่จะต้องดำเนินการสรรหา ได้แก่
- ครูผู้ช่วย กรณีสอบแข่งขันบุคคลทั่วไป จำนวน 10,438 ตำแหน่ง
- ครูผู้ช่วย กรณีที่มีความจำเป็นหรือมีเหตุพิเศษ จำนวน 4,428 ตำแหน่ง
- ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา จำนวน 40 ตำแหน่ง
- รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (ว 3/2561) จำนวน 47 ตำแหน่ง
- ศึกษานิเทศก์ จำนวน 485 ตำแหน่ง
- รองผู้อำนวยการสถานศึกษา จำนวน 4,647 ตำแหน่ง
- ข้าราชการพลเรือนสามัญ จำนวน 40 ตำแหน่ง
- บุคลากรทางการศึกษาอื่น ตามมาตรา 38 ค.(2) ตำแหน่งประเภททั่วไป ระดับปฏิบัติงาน กรณีที่มีความจำเป็น หรือเหตุพิเศษ จำนวน 144 ตำแหน่ง
- บุคลากรทางการศึกษาอื่น ตามมาตรา 38 ค.(2) ตำแหน่งประเภททั่วไป เป็นประเภทวิชาการ ระดับปฏิบัติการ จำนวน 338 ตำแหน่ง
- บุคลากรทางการศึกษาอื่น ตามมาตรา 38 ค.(2) ตำแหน่งประเภททั่วไป ระดับปฏิบัติงาน และตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับปฏิบัติงาน จำนวน 435 ตำแหน่ง
เลขาธิการ ก.ค.ศ. กล่าวว่า ก.ค.ศ.ได้ออกหลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาบุคลากรรองรับอัตราว่างทั้ง 10 กลุ่มแล้ว โดยมีการปรับหลักเกณฑ์ใหม่สำหรับผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ศึกษาธิการจังหวัด รองศึกษาธิการจังหวัด โดยยกเลิกการประเมินรอบด้าน 360 องศา เป็นการให้คะแนนประวัติและผลงานแทน พร้อมทั้งให้มีการขึ้นบัญชีไว้เป็นเวลา 2 ปี ส่วนผู้อำนวยการโรงเรียน และรองผู้อำนวยการโรงเรียน ไม่ต้องได้รับการพัฒนาก็สามารถสมัครเข้ารับการสรรหา เมื่อผ่านการคัดเลือกได้แล้วจึงเข้ารับการพัฒนา
ส่วนหลักเกณฑ์และวิธีการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย ในปีนี้มีการปรับปรุงข้อสอบภาค ก ให้มีเนื้อหาข้อสอบเหมือนกับข้อสอบของสำนักงาน ก.พ. โดยในปี 2564 มอบให้สำนักงาน ก.พ.ดำเนินการจัดสอบ ส่วนภาค ข จะมีการสอบวิชาเอกและวิชาจริยธรรมความเป็นครูตามหลักสูตรของคุรุสภา ซึ่งข้อสอบทั้งสองภาคนี้ สพฐ.จะเป็นผู้ออกข้อสอบเอง โดยมี กศจ.เป็นผู้จัดสอบ และภาค ค ใช้เวลาสอบคนละ 40 นาที ทำ 3 กิจกรรม คือ สอบสัมภาษณ์ ตรวจประเมินแฟ้มสะสมผลงาน และประเมินสาธิตการสอน โดยจะมีการบันทึกวีดิทัศน์ไว้ด้วย จึงไม่ต้องกังวลหากมีการร้องเรียนเกิดขึ้นสามารถตรวจสอบได้
สำหรับการสอบครูผู้ช่วย กรณีที่มีความจำเป็นหรือเหตุพิเศษ จะขึ้นบัญชี 1 ปี สามารถใช้บัญชีข้ามจังหวัดได้ แต่จะบรรจุโรงเรียนไหนต้องเป็นอัตราที่ส่วนราชการนั้นกำหนดไว้สำหรับการสอบคัดเลือกกรณีพิเศษเท่านั้น หากเป็นตำแหน่งทั่วไป หรือตำแหน่งการย้ายปกติ ต้องใช้บัญชีสอบแข่งขันเท่านั้น
—————————————————————————-
อิชยา กัปปา / สรุป
ธนภัทร จันทร์ห้างหว้า / ภาพ
ศธ 360 องศา