Home / ข่าวประชาสัมพันธ์ / ผลการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค ครั้งที่ 2/2563

ผลการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค ครั้งที่ 2/2563

(15 มิถุนายน 2563) นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค ครั้งที่ 2/2563 ณ ห้องประชุมราชวัลลภ ชั้น 2 อาคารราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ

ที่ประชุมพิจารณาเห็นชอบ ให้โอนงบประมาณ ปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ไปเป็นของสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.ศธ.) เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายให้สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) ในการดำเนินการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง รองผู้อำนวยการสถานศึกษา สังกัด สพฐ. ปี 2563 จำนวน 18,979,300 บาท

รวมทั้งพิจารณาอนุมัติหลักการ ในการตัดโอนงบประมาณของ สพฐ. ปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ไปเป็นของ สป.ศธ. เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งตำแหน่ง ครูผู้ช่วย สังกัด สพฐ. จำนวน 60,000,000 บาท

ด้านผู้แทนสภาอุตสาหกรรม กล่าวว่า ภาคเอกชนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการเปิดภาคเรียนวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่สุดในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เพื่อความปลอดภัยสูงสุดของนักเรียน ทั้งนี้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) อาจจะประสานกับผู้ว่าราชการจังหวัดหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการดูแลให้เด็กปลอดภัย ตั้งแต่เดินทางออกจากบ้านจนถึงเวลากลับเข้าบ้าน โดยเชื่อมั่นว่าทุกภาคส่วนจะร่วมมือกันดูแลนักเรียนได้อย่างดี

นอกจากนี้ เสนอให้ ศธ.เปิดช่องทางรับฟังข้อคิดเห็นจากคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ซึ่งมาจากผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้แทนจากภาคส่วนต่าง ๆ ที่มีความหลากหลาย มีประโยชน์และเชื่อมโยงกับงานด้านการศึกษา ถือเป็นพลังของ ศธ.อย่างแท้จริง พร้อมยืนยันว่าภาคเอกชนสนใจและยินดีอย่างยิ่งที่จะสนับสนุน ศธ. หากต้องการความร่วมมือด้านใด สามารถแจ้งมาที่สภาอุตสาหกรรมและสภาหอการค้าไทย เพื่อช่วยเหลือกัน และเชื่อมั่นการร่วมมือกันจะทำให้การศึกษาไทยเดินหน้าได้อย่างมั่นคง

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวขอบคุณและสนใจความร่วมมือจากภาคเอกชนอย่างมาก แต่ที่ผ่านมา ศธ. ยังขาดความยืดหยุ่นอยู่หลายเรื่อง จึงต้องหาแนวทางปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงาน ซึ่งตอนนี้กำลังรวบรวมข้อมูลอยู่ ทั้งโครงการสานอนาคตการศึกษา (CONNEXT ED) โครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา (Partnership School Project) ต้องการให้รวมกันทำเป็นหนึ่งเดียว แล้วมาดูว่ามีข้อจำกัดอะไรบ้าง เพื่อให้กระบวนการนี้เกิดขึ้นให้ได้ ซึ่งทุกฝ่ายพร้อมสนับสนุนการปฏิรูปการศึกษาอยู่แล้ว ขอเพียงคิดมาอย่างเหมาะสมแล้วทำให้เห็นภาพที่ชัดเจน และขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนร่วมกันผลักดันการศึกษาของประเทศต่อไป

ข่าวจาก https://moe360.blog/2020/06/15/ผลการประชุมคณะกรรมการข/