วันที่ 13 ธันวาคม 2564 ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานในพิธีเปิดการพัฒนาข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาก่อนแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ผ่านระบบออนไลน์ โดย ดร.อนันต์ พันนึก ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาระบบบริหารงานบุคคลและนิติการ กล่าวรายงานถึงวัตถุประสงค์ของการดำเนินการเพื่อให้ผู้เข้ารับการพัฒนา มีอุดมการณ์ วิสัยทัศน์ บุคลิกภาพ และความเป็นผู้นำสำหรับตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษา เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการบริหารสูงสุดอันจะส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในทุกมิติ
สำหรับการพัฒนาก่อนแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษามีผู้เข้ารับการพัฒนาฯ ทั้งสิ้น จำนวน 1,191 ราย ประกอบด้วย
ตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษา จำนวน 794 ราย
ตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษา จำนวน 397 ราย
แบ่งการพัฒนาเป็น 3 ระยะ ได้แก่
ระยะที่ 1 การอบรมเชิงปฏิบัติการด้านเนื้อหา (Content) จำนวน 7 วัน
ระยะที่ 2 การเรียนรู้สภาพจริง (Authentic Learning) ตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษา จำนวน 5 วัน และตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษา จำนวน 10 วัน
ระยะที่ 3 การจัดทำและเสนอแผนกลยุทธ์เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา (Strategy Formulation) จำนวน 3 วัน
โดยได้เริ่มการพัฒนาพร้อมกันในวันที่ 13 ธันวาคม 2564 และจะสิ้นสุด ในวันที่ 6 มกราคม 2565
ทั้งนี้ สืบเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จึงได้มอบหมายให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพม./สพป.) ตามภูมิภาคเป็นหน่วยพัฒนา ได้แก่
หน่วยที่ 1 สพม.สุโขทัย ผู้เข้ารับการพัฒนาฯ ตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษา จำนวน 342 ราย
หน่วยที่ 2 สพม.ร้อยเอ็ด ผู้เข้ารับการพัฒนาฯ ตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษา จำนวน 452 ราย
หน่วยพัฒนาที่ 3 สพป.มุกดาหาร ผู้เข้ารับการพัฒนาฯ ตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษา จำนวน 397 ราย
ซึ่งการพัฒนาในครั้งนี้ เป็นการพัฒนาในระยะที่ 1 การอบรมเชิงปฏิบัติการด้านเนื้อหา (Content) ระหว่างวันที่ 13 – 19 ธันวาคม 2564 ณ หน่วยพื้นที่การพัฒนาดังกล่าวข้างต้น
โดยเน้นการพัฒนาในรูปแบบ online ตามแนวทางที่สอดคล้องกับ “สพฐ. วิถีใหม่ วิถีคุณภาพ”
เลขาธิการ กพฐ. กล่าว…รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มีนโยบายชัดเจนและให้ความสำคัญกับการพัฒนาข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะผู้บริหารในสังกัด สพฐ. ให้ได้รับการพัฒนา เพิ่มพูนความรู้ ทักษะ เจตคติที่ดี คุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณวิชาชีพที่เหมาะสมในอันที่จะทำให้การปฏิบัติหน้าที่ราชการเกิดประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และความก้าวหน้าแก่ทางราชการมีอุดมการณ์ วิสัยทัศน์ บุคลิกภาพ ความเป็นผู้นำ สามารถนำองค์ความรู้ที่ได้รับจากการพัฒนาและการเรียนรู้ไปปรับใช้ได้อย่างเหมาะสม รวมทั้งสามารถสร้างวัฒนธรรมคุณภาพและวัฒนธรรมประชาธิปไตยในการปฏิบัติงานเป็นต้นแบบของผู้บริหารสถานศึกษาในศตวรรษที่ 21 ได้อย่างสง่างาม และในการพัฒนาก่อนแต่งตั้งนอกจากดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.ค.ศ.กำหนดแล้ว เมื่อเข้าสู่ตำแหน่งยังมีการจัดทำบันทึกข้อตกลง (MOU) ในการพัฒนาร่วมกันระหว่างสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและผู้ได้รับการบรรจุและแต่งตั้ง เพิ่มอีก 3 เรื่อง ได้แก่
1. การพัฒนาทักษะความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Literacy)
2. การพัฒนาทักษะความรู้ภาษาอังกฤษ (English Literacy) โดยการวัดความรู้พื้นฐานเทียบเคียงระดับ CEFR-Exam มีเป้าหมาย ระดับ A2
3. การใช้ภาษาไทยด้วยกระบวนการพัฒนาความเป็นผู้นำทางการบริหาร (Leadership) ด้วยกระบวนการทำ Project Based/Problem Based จากการปฏิบัติงานในพื้นที่จริง ในระยะเวลา 1 ปี มีกระบวนการโดยต้องผ่านการเสนอแนะและให้ข้อสังเกตจากคณะกรรมการที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานกำหนด (Coaching Team) ในระยะเวลารอบ 6 เดือน และรอบ 12 เดือน ตามลำดับ
รวมถึง คาดหวังให้ผู้เข้ารับการพัฒนาจะได้ตั้งใจนำองค์ความรู้และมวลประสบการณ์ต่าง ๆ ที่ได้รับจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ คณะวิทยากรพี่เลี้ยง ซึ่งถือเป็นผู้ที่มีประสบการณ์และประสบความสำเร็จ ในการบริหารทุกระดับ ไปใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ต่อไป.
รอบวันทันข่าว สพฐ. วันที่ 13 ธันวาคม 2564