Home / ข่าวประชาสัมพันธ์ / ครม.รับทราบโครงการลดภาระหนี้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ของธนาคารออมสิน

ครม.รับทราบโครงการลดภาระหนี้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ของธนาคารออมสิน

ศึกษาธิการ – พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยผลการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันอังคารที่ 9 กุมภาพันธ์ 2559 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงศึกษาธิการ คือ รับทราบโครงการลดภาระหนี้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา และเห็นชอบกรอบการดำเนินงานระยะ 3 ปี (พ.ศ.2559-2561) ของ สสค.

cabinet-edu

รับทราบโครงการลดภาระหนี้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา

ธนาคารออมสิน ได้อนุมัติวงเงินสินเชื่อใหม่ให้กับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่สมัครใจเข้าร่วมโครงการ โดยใช้เงินทายาทจะได้รับในอนาคตเมื่อผู้กู้เสียชีวิตเพื่อใช้ค้ำประกัน อาทิ เงินฌาปนกิจสงเคราะห์ครอบครัว (ช.พ.ค.) หรือเงินบำเหน็จตกทอด เพื่อนำมาขอเงินสินเชื่อใหม่เพื่อลดภาระหนี้หรือปิดบัญชีหนี้ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งธนาคารจะคิดอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าปกติ ในขณะที่กระทรวงการคลังรายงานผลที่จะได้รับว่าจะช่วยแก้ปัญหาหนี้สินให้กับครูและบุคลากรทางการศึกษาได้ประมาณ 283,000 ราย ช่วยลดภาระหนี้ได้เฉลี่ยรายละ300,000-600,000 บาท ทำให้ลดภาระการผ่อนชำระหนี้เดิมลงเดือนละ 2,000-4,000 บาท หรือบางรายก็สามารถชำระหนี้ปิดบัญชีได้ พร้อมทั้งจะได้รับประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยที่ลดลงจากเดิมปีละ 5.85-6.70% เหลือปีละ 4%ทำให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาทั้งหมดจะมีขวัญกำลังใจในการทำงาน ช่วยให้เกิดการพัฒนาวิชาชีพครูในภาพรวมและคุณภาพการศึกษาของประเทศ

ทั้งนี้ มีข้อสังเกตจากนายกรัฐมนตรีและที่ประชุม คือ เมื่อธนาคารออมสินปล่อยสินเชื่อใหม่แล้ว ควรใช้วงเงินนี้ให้ตรงตามวัตถุประสงค์ คือ ต้องใช้หนี้เดิมก่อน ไม่ใช่ไปสร้างหนี้ใหม่ และนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงการคลังไปหารือกับกระทรวงศึกษาธิการเพื่อพิจารณาแนวทางการป้องกันปัญหานี้ โดยการดำเนินโครงการดังกล่าวจะต้องมีการตรวจสอบสถานะของผู้กู้ที่เป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาก่อนที่จะอนุมัติวงเงินสินเชื่อใหม่ให้ โดยธนาคารออมสินก็มีหลักเกณฑ์การปล่อยกู้ที่เข้มงวดอยู่แล้ว พร้อมกับได้ตรวจสอบบัญชีของผู้กู้ด้วย จากนั้นเมื่อเห็นว่ามีความเหมาะสมที่ต้องเข้าให้ความช่วยเหลือรายที่มีความเดือดร้อนจริงๆ ก็พิจารณาปล่อยสินเชื่อให้ต่อไป

 โครงการลดภาระหนี้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา
ซึ่งดำเนินการโดยธนาคารออมสิน

 หลักการ

 ธนาคารออมสินอนุมัติวงเงินสินเชื่อใหม่เพิ่มเติมให้กับผู้กู้ที่เป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่สมัครใจเข้าร่วมโครงการ โดยใช้เงินที่ทายาทจะได้รับในอนาคตเพื่อค้ำประกัน ได้แก่ เงินฌาปนกิจสงเคราะห์ครอบครัว (ช.พ.ค.) และ/หรือ เงินบำเหน็จตกทอด เพื่อนำเงินสินเชื่อใหม่มาลดภาระหนี้ หรือปิดบัญชีหนี้ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ในการนี้ ธนาคารออมสินกำหนดวงเงินสินเชื่อใหม่ให้จำนวนไม่เกินสิทธิที่ทายาทจะได้รับเงินเมื่อผู้กู้เสียชีวิต โดยกำหนดอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยปกติของธนาคารออมสิน และผู้กู้ไม่ต้องผ่อนชำระหนี้วงเงินสินเชื่อใหม่ตลอดอายุสัญญา

 ทั้งนี้ ผู้กู้สามารถขอสินเชื่อใหม่ได้ 2 วงเงิน โดยผู้กู้สามารถเลือกใช้วงเงินใดวงเงินหนึ่งหรือทั้งสองวงเงินได้ โดยมีรายละเอียดของการค้ำประกัน ดังนี้

1. วงเงินกู้ที่ใช้เงิน ช.พ.ค. ค้ำประกัน  เงิน ช.พ.ค. หมายถึง เงินสงเคราะห์ให้แก่ครอบครัวหรือทายาทสมาชิก โดยเมื่อมีสมาชิก ช.พ.ค. เสียชีวิต สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) จะเรียกเก็บเงินจากสมาชิกที่ยังมีชีวิตอยู่ศพละ 1 บาท และจ่ายให้กับทายาทของสมาชิก

2. วงเงินกู้ที่ใช้เงินบำเหน็จตกทอดค้ำประกัน  เงินบำเหน็จตกทอด หมายถึง เงินตอบแทนความชอบที่ได้รับราชการ ซึ่งจ่ายเป็นเงินก้อนครั้งเดียว โดยรัฐบาลจ่ายให้ทายาทเมื่อข้าราชการถึงแก่กรรม ดังนี้
     (1) กรณีเสียชีวิตระหว่างราชการ = เงินเดือนสุดท้าย คูณ ระยะเวลาราชการ
     (2) กรณีรับบำนาญและเสียชีวิต = 30 เท่าของบำนาญ ลบ เงินบำเหน็จดำรงชีพส่วนที่ขอรับไปแล้ว ทั้งนี้ ผู้เกษียณอายุราชการสามารถขอรับเงินบำเหน็จดำรงชีพจำนวน 15 เท่าของเงินบำนาญ แต่ไม่เกิน 200,000 บาท

 วิธีดำเนินการ

 โครงการลดภาระหนี้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษามีขั้นตอนการดำเนินการ ดังนี้

1. วงเงินกู้ที่ใช้เงิน ช.พ.ค. ค้ำประกัน

     (1) ธนาคารออมสินตั้งวงเงินสินเชื่อใหม่ให้กับผู้กู้รายเดิม จำนวนไม่เกินสิทธิที่ทายาทจะได้รับเงินเมื่อผู้กู้เสียชีวิต โดยกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้แบบลดต้นลดดอก (Effective Rate) ในอัตราร้อยละ 4 ต่อปี ผู้กู้ไม่ต้องผ่อนชำระหนี้วงเงินสินเชื่อใหม่ตลอดอายุสัญญา และทายาทยินยอมให้นำเงิน ช.พ.ค.มาค้ำประกันเงินกู้กับธนาคารออมสิน
     (2) ผู้กู้ต้องเป็นสมาชิก ช.พ.ค. อายุ 50 ปีขึ้นไป ระยะเวลาการกู้ 20 ปี ยกเว้นกรณีที่อายุผู้กู้เมื่อรวมกับระยะเวลาการกู้แล้วอายุผู้กู้เกิน 75 ปี ธนาคารออมสินจะลดระยะเวลาการกู้ลงให้รวมแล้วอายุผู้กู้ไม่เกิน 75 ปี
     
(3) วงเงินสินเชื่อตามข้อ (1) จะถูกแบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่
          ส่วนที่ 1 นำไปชำระหนี้เงินกู้บัญชีเดิม ซึ่งอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยอยู่ที่ ร้อยละ 5.85-6.70 ต่อปี
          ส่วนที่ 2 กันไว้เพื่อชำระดอกเบี้ยและเงินค่ารายศพ ช.พ.ค.รายเดือนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อรักษาสถานภาพสมาชิก (เฉลี่ยเดือนละประมาณ 600 บาท) และทยอยเบิกจ่ายรายเดือนจนครบอายุสัญญา
     (4) บัญชีเงินกู้เดิมซึ่งได้นำเงินจากข้อ (1) มาลดเงินต้น ธนาคารออมสินจะปรับลดเงินงวดตามจำนวนเงินกู้และระยะเวลาการกู้ที่เหลืออยู่ตามสัญญาเดิม โดยยังคงมีผู้ค้ำประกันและประกันสินเชื่อ (ถ้ามี) รองรับความเสี่ยง
     (5) เมื่อผู้กู้เสียชีวิต ธนาคารออมสินจะนำเงิน ช.พ.ค. หรือเงินประกันสินเชื่อ (ถ้ามี) มาชำระหนี้ปิดบัญชี
     (6) หากครบระยะเวลาการกู้แต่ผู้กู้ยังไม่เสียชีวิต ธนาคารออมสินจะให้ผู้กู้ผ่อนชำระเฉพาะดอกเบี้ยและจ่ายเงินค่ารายศพ ช.พ.ค. รายเดือนจากเงินบำนาญที่ได้รับ หรือผู้กู้สามารถขอให้ธนาคารออมสินตั้งวงเงินกู้เพิ่มจนกว่าจะเสียชีวิต

 2. วงเงินกู้ที่ใช้เงินบำเหน็จตกทอดค้ำประกัน

     (1) ธนาคารออมสินตั้งวงเงินสินเชื่อใหม่ให้กับผู้กู้รายเดิมจำนวนไม่เกินสิทธิที่ทายาทจะได้รับเมื่อผู้กู้เสียชีวิต โดยกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้แบบลดต้นลดดอก (Effective Rate) ในอัตราร้อยละ 4 ต่อปี ผู้กู้ไม่ต้องผ่อนชำระหนี้วงเงินสินเชื่อใหม่ตลอดอายุสัญญา และทายาทยินยอมให้นำเงินบำเหน็จตกทอดมาค้ำประกันเงินกู้กับธนาคารออมสิน
     (2) ผู้กู้ต้องมีสิทธิรับเงินบำนาญ ระยะเวลาการกู้ 20 ปี ยกเว้นกรณีที่อายุผู้กู้เมื่อรวมกับระยะเวลาการกู้แล้วอายุผู้กู้เกิน 75 ปี ธนาคารออมสินจะลดระยะเวลาการกู้ลงให้รวมแล้วอายุผู้กู้ไม่เกิน 75 ปี
     (3) วงเงินสินเชื่อตามข้อ (1) จะถูกแบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่
          ส่วนที่ 1 นำไปชำระหนี้เงินกู้บัญชีเดิม ซึ่งอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยอยู่ที่ ร้อยละ 5.85-6.70 ต่อปี
          ส่วนที่ 2 กันไว้เพื่อชำระดอกเบี้ยและทยอยเบิกจ่ายรายเดือนจนครบอายุสัญญา
     (4) บัญชีเงินกู้เดิมซึ่งได้นำเงินจากข้อ (1) มาลดเงินต้น ธนาคารออมสินจะปรับลดเงินงวดตามจำนวนเงินกู้และระยะเวลาการกู้ที่เหลืออยู่ตามสัญญาเดิม โดยยังคงมีผู้ค้ำประกันและประกันสินเชื่อ (ถ้ามี) รองรับความเสี่ยง
     (5) เมื่อผู้กู้เกษียณอายุราชการและมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จดำรงชีพจำนวน 15 เท่าของเงินบำนาญ แต่ไม่เกิน 200,000 บาท ผู้กู้สามารถนำเงินดังกล่าวไปใช้จ่ายในการดำรงชีพ หรือยินยอมนำเงินบำเหน็จดำรงชีพบางส่วนตั้งแต่ร้อยละ 60 ขึ้นไป มาชำระหนี้ได้ตามความสมัครใจ
     (6) เมื่อผู้กู้เสียชีวิต ธนาคารออมสินจะนำเงินบำเหน็จตกทอดหรือเงินประกันสินเชื่อ (ถ้ามี) มาชำระหนี้ปิดบัญชี
     (7) หากครบระยะเวลาการกู้แต่ผู้กู้ยังไม่เสียชีวิต ธนาคารออมสินจะให้ผู้กู้ผ่อนชำระเฉพาะดอกเบี้ย โดยหักจากเงินบำนาญที่ได้รับ หรือผู้กู้สามารถขอให้ธนาคารออมสินตั้งวงเงินกู้เพิ่มจนกว่าจะเสียชีวิต

3. ผลที่คาดว่าจะได้รับ

     (1) สามารถแก้ไขบรรเทาปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาได้ประมาณ 283,000 ราย และสามารถลดภาระหนี้ของครูและบุคลากรทางการศึกษาได้เฉลี่ยรายละ 300,000 – 600,000 บาท ทำให้ลดภาระการผ่อนชำระหนี้เดิมลง 2,000 – 4,000 บาทต่อเดือน หรือบางรายสามารถชำระหนี้ปิดบัญชีได้
     (2) ครูและบุคลากรทางการศึกษาจะได้รับประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยที่ลดลงจากเดิมร้อยละ 5.85 – 6.70 ต่อปี เป็นอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อปี ซึ่งเป็นการแบ่งเบาภาระในระยะยาว อีกทั้ง ผู้กู้ไม่ต้องผ่อนชำระหนี้วงเงินสินเชื่อใหม่ตลอดอายุสัญญา
     (3) ครูและบุคลากรทางการศึกษามีขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติงานดีขึ้น ทำให้เกิดการพัฒนาวิชาชีพครูในภาพรวมและส่งผลถึงคุณภาพของประชาชนในประเทศ
     (4) ช่วยให้ครูและบุคลากรทางการศึกษามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

 

เห็นชอบกรอบการดำเนินงานระยะ 3 ปี  (พ.ศ.2559-2561) ของ สสค.

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบผลการดำเนินงานที่ผ่านมาของสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) และเห็นชอบในหลักการกรอบแผนการดำเนินงานและความต้องการงบประมาณของ สสค.

1. ผลการดำเนินงานของ สสค.  ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา สสค.ได้ปฏิบัติภารกิจตามอำนาจหน้าที่ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ และตามที่คณะรัฐมนตรีได้มอบหมายเพิ่มเติมจนสำเร็จลุล่วงตามเป้าหมาย โดยเฉพาะเกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนประมาณ 350,000 คน ซึ่งในจำนวนนี้เป็นเด็กและเยาวชนด้อยโอกาสประมาณ 250,000 คน อันเป็นการช่วยลดความเหลื่อมล้ำในโอกาสทางการเรียนรู้ และสร้างเสริมสุขภาวะแก่เด็กในโรงเรียนห่างไกลและลำบากได้เป็นอย่างดี

2. กรอบแผนการดำเนินงานในระยะต่อไป   คณะกรรมการ สสค. ได้เห็นชอบแผนงานพัฒนาคุณภาพการเรียนรู้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและเพื่อรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ 4 จังหวัด มีสาระสำคัญ คือ เพื่อตอบสนองนโยบายรัฐบาลเรื่องการสร้างคุณภาพของคนไทยให้สามารถเรียนรู้ พัฒนาตนเองได้เต็มศักยภาพ ลดความเหลื่อมล้ำ และพัฒนากำลังคนให้เป็นที่ต้องการเหมาะสมกับพื้นที่ ทั้งด้านการเกษตร อุตสาหกรรมและธุรกิจบริการ และส่งเสริมการขับเคลื่อนประเทศตามนโยบาย “ประชารัฐ” โดยการพัฒนาทักษะอาชีพของผู้เรียนและแรงงานตามความต้องการของตลาดแรงงานในพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษตามนโยบายของรัฐบาล จึงสมควรดำเนินงานพัฒนายกระดับคุณภาพการเรียนรู้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก โดยใช้พื้นที่เป็นฐาน (Area-Based) และมีส่วนร่วมระหว่างภาครัฐ ท้องถิ่น เอกชน และประชาสังคม ในลักษณะการปฏิบัติการควบคู่กับการศึกษาวิจัย เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริงในพื้นที่ พร้อมกับสร้างองค์ความรู้อันนำไปสู่การสังเคราะห์นโยบาย

ยุทธศาสตร์/แนวทางการดำเนินงาน ในลักษณะการปฏิบัติการควบคู่ไปกับการศึกษาวิจัย ซึ่งใช้ยุทธศาสตร์ 3 ประการ คือ การสร้างความรู้เชิงระบบ (Knowledge) การพัฒนาหุ้นส่วนความร่วมมือ (Partnership) และการสาธิตปฏิบัติการให้เห็นผล (Action) ในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษระยะที่ 1 จำนวน 4 จังหวัด ได้แก่ ตราด ตาก สระแก้ว และหนองคาย เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงจริงในพื้นที่พร้อมกับสร้างองค์ความรู้เชิงระบบที่จำเป็นในการพัฒนาข้อเสนอนโยบายต่อรัฐบาล มุ่งเน้นสนับสนุนจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ในเชิงบูรณาการ การสนับสนุนทางวิชาการ และการเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติการโดยดำเนินงาน 2 ระดับ ทั้งระดับจังหวัดและระดับตำบล โดยกรอบดังกล่าวมีระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี (พ.ศ.2559-2561)

ทั้งนี้ กรอบแผนการดำเนินงานนี้เป็นการเสริมภารกิจของกระทรวงศึกษาธิการ โดย สสค. จะเน้นกลุ่มเป้าหมายทั้งกำลังแรงงานและเยาวชนกลุ่มเสี่ยง และให้ความสำคัญกับพื้นที่ยากจนหรือประชากรที่มีรายได้ค่อนข้างต่ำในลักษณะเชื่อมโยงกันด้วยระบบและกลไกในพื้นที่เข้ากับนโยบายการศึกษากับเขตเศรษฐกิจพิเศษผ่านธุรกิจท้องถิ่นขนาดกลางและขนาดย่อมที่มีสถานศึกษาเป็นจุดเชื่อมต่อ รวมถึงจัดศึกษาวิจัยร่วมไปกับการพัฒนาตามกรอบระยะเวลาของการศึกษาวิจัย ดังนั้น กรอบการดำเนินการตามที่เสนอจึงเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรในพื้นที่อย่างเต็มตามศักยภาพ และหนุนเสริมนโยบายของรัฐบาลให้บรรลุผลไปพร้อม ๆ กัน

ผลที่คาดว่าจะได้รับ

1) เกิดการพัฒนากำลังคนวัยเรียน โดยจะทำให้เด็กและเยาวชน (อายุ 15-21 ปี) จำนวน 20,000 คน ในเขตพื้นที่ยากจน มีทักษะการทำงานตรงตามความต้องการในเขตเศรษฐกิจพิเศษหรือชุมชนของตนเอง และอัตราการมีงานทำของผู้จบมัธยมศึกษาในพื้นที่เพิ่มขึ้นภายใน 3 ปี

2) เกิดการพัฒนากำลังคนวัยแรงงาน โดยจะเพิ่มแรงงานฝีมือ (Skilled Labour) ที่มีทักษะอาชีพตรงตามกิจการเป้าหมายและได้รับการจ้างงานในพื้นที่ตรงขีดความสามารถ มีทักษะการประกอบอาชีพ 30,000 คน และจำนวนแรงงานสำเร็จการศึกษาวุฒิมัธยมศึกษาตอนปลาย/ประกาศนียบัตรวิชาชีพ เพิ่มขึ้นร้อยละ 25

 


ขอบคุณข่าวจากเว็บไชต์ สพฐ. : http://www.moe.go.th/websm/2016/feb/067.html