พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ประชุมหารือร่วมกับผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการทั้ง 12 เขตตรวจราชการ และผู้บริหาร 5 องค์กรหลัก รวมทั้งหน่วยงานหลัก คือ สช.-สำนักงาน กศน.-สำนักงาน ก.ค.ศ.-คุรุสภา เมื่อวันศุกร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ 2559 ณ ห้องประชุมบรรจง ชูสกุลชาติ ชั้น 6 อาคารสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.)
รับฟังแผนและรายละเอียดการตรวจราชการของกระทรวงศึกษาธิการ
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า การพบปะกับผู้ตรวจราชการในครั้งนี้ เพื่อต้องการรับฟังสภาพปัญหาการทำงาน ความเป็นอยู่ รวมทั้งการเดินทางไปตรวจราชการในพื้นที่ต่างๆ ของผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการทั้ง 12 เขต ที่จะช่วยให้ผู้ตรวจราชการมีโจทย์และแนวทางการทำงานที่ชัดเจน พร้อมที่จะปรับตัวและสื่อสารการทำงานร่วมกันได้ตลอดเวลา
ทั้งนี้ ผู้ตรวจราชการกระทรวงได้รายงานให้รับทราบถึงนโยบายการตรวจราชการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 ซึ่งทำการตรวจราชการ 2 ครั้งต่อปี คืองวดที่ 1 ในเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม 2559 และงวดที่ 2 เดือนสิงหาคมถึงกันยายน 2559 มีรายละเอียดในการตรวจราชการ ดังนี้
1) การตรวจราชการตามจุดเน้นการตรวจติดตามและประเมินผล เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา ประสิทธิภาพการเรียนการสอน การพัฒนาคุณลักษณะเฉพาะของนักเรียนนักศึกษา การพัฒนาครู การบริหารงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งโครงการพระราชดำริ และการบริหารหน่วยงานและสถานศึกษา
2) การตรวจราชการตามจุดเน้นเชิงลึกในประเด็นนโยบาย 10 เรื่อง คือ การแก้ปัญหาการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ การแก้ปัญหาการออกกลางคัน การพัฒนานักเรียนให้มีทักษะการคิดวิเคราะห์สร้างสรรค์ การปลูกฝังคุณลักษณะในการรู้จักหน้าที่ของตนเอง การพัฒนาครูด้านเทคนิคที่ทำให้เรียนอย่างสนุก การพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษ การลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ การจัดการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม การจัดการศึกษาระบบทวิศึกษา และการเรียนรู้เกี่ยวกับการจัดการขยะ
3) การตรวจราชการกรณีพิเศษ คือ การสืบสวน สอบสวนข้อเท็จจริง การร้องเรียน ร้องทุกข์ กล่าวโทษ และเรื่องต่างๆ ที่เป็นวาระแห่งชาติ เช่น ยาเสพติด อุบัติภัย วาตภัย อุทกภัย ภัยแล้ง รวมทั้งเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่มีผลกระทบต่อการจัดการศึกษา รวมทั้งนักเรียนนักศึกษาโดยตรง
ให้องค์กร/หน่วยงานหลัก ฝากเรื่องสำคัญที่จะให้ผู้ตรวจราชการไปช่วยติดตามการขับเคลื่อนงาน
รมว.ศึกษาธิการ ให้ผู้บริหารจากองค์กร/หน่วยงานหลัก ได้ฝากเรื่องต่าง ๆ ที่สำคัญ เพื่อให้ผู้ตรวจราชการได้ร่วมติดตามขับเคลื่อนโครงการต่าง ๆ ดังนี้
– สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้ขอให้ติดตามการตรวจราชการในเรื่องที่สำคัญ คือ นโยบายทวิศึกษา ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ DLTV อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ การบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก การรับสมัครนักเรียน การสอบครูผู้ช่วย
– สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา คือ Fix It Center การพัฒนาการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ ทวิภาคี ทวิศึกษา การบริหารจัดการรวมสถานศึกษาอาชีวศึกษาภาครัฐและเอกชน
– สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา คือ การให้มหาวิทยาลัยเป็นพี่เลี้ยงดูแลโรงเรียนของ สพฐ. เครือข่ายอุดมศึกษา การอบรมครู สพฐ. ช่วงปิดเทอม
– สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ที่ผ่านมามีการประสานความร่วมมือกันอยู่แล้ว เช่น การประเมินเชิงวิจัย และการมีส่วนร่วมในกลไกการตรวจราชการ
– สำนักงาน กศน. คือ การให้ กศน.ตำบล เป็นศูนย์เรียนรู้ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นศูนย์ส่งเสริม ประชาธิปไตยประจำตำบล เป็นศูนย์ดิจิทัลประจำตำบล และเป็นศูนย์การศึกษาตลอดชีวิตชุมชน รวมทั้งการเบิกจ่ายงบประมาณรายจังหวัด
– สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน คือ การใช้จ่ายงบประมาณเงินอุดหนุนโรงเรียนเอกชน คุณภาพการศึกษาเอกชน การดูแลรถรับส่งนักเรียนไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ
– สำนักงาน ก.ค.ศ. คือ หลักเกณฑ์การย้ายผู้บริหารเขตพื้นที่การศึกษาและผู้บริหารทุกสังกัด รวมทั้งหลักเกณฑ์ต่างๆ ที่ประกาศใช้ที่มีผลเกี่ยวข้องโดยตรงกับข้าราชการ ครู และบุคลากรทางการศึกษา
มอบนโยบายการตรวจราชการ
รมว.ศึกษาธิการ ได้ให้นโยบายการตรวจราชการ ดังนี้
– ผลการตรวจราชการทั้ง 2 รอบ ต้องมี Outcome เกี่ยวกับนโยบายสำคัญๆ ที่สามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้จริง
– ผู้ตรวจราชการต้องกล้าชี้แจงและรายงานผลการตรวจราชการแบบตรงไปตรงมา เมื่อเกิดเหตุใด ๆ ควรรายงานหรือชี้แจงให้รัฐมนตรีและปลัดกระทรวงรับทราบโดยด่วน
– หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากการตรวจราชการ ควรรับข้อมูลและผลจากการตรวจราชการ ไปพิจารณาดำเนินการปรับปรุงแก้ไขด้วย
– ผู้บริหารจากหน่วยงานต่าง ๆ ในพื้นที่ที่รับตรวจ ต้องให้ความสำคัญและความร่วมมือในการตรวจราชการกับผู้ตรวจราชการและคณะ
– ควรมีการจัดระบบใหม่ที่จะให้ผู้ตรวจราชการรับรู้ข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ จากพื้นที่โดยเร็ว ไม่ใช่รับรู้จากหน้าหนังสือพิมพ์
– ให้หน่วยงานกำหนดแบบฟอร์มรายงานการตรวจราชการ ที่มีทั้งด้านบวกและด้านลบ เพื่อให้หน่วยงานต่าง ๆ ทุกระดับ ให้ความร่วมมือและกระตือรือร้นในการปฏิบัติงานตามผลการตรวจราชการมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลในการแบ่งเบาภาระงานของหน่วยงานและองค์กรหลัก
– ภายหลังจากเสร็จสิ้นการตรวจราชการในวงรอบที่ 1 แล้ว ควรสรุปผลการตรวจราชการให้เสร็จสิ้นภายใน 1 เดือน แล้วรวบรวมประเด็นสำคัญที่จะมอบให้หน่วยงานใดรับผิดชอบเรื่องอะไรต่อไป รวมทั้งได้นำมาหารือรับฟังร่วมกันต่อไปด้วย
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวด้วยว่า นอกเหนือจากนโยบายดังกล่าวแล้ว ขอให้ผู้ตรวจราชการและทุกหน่วยงานได้ให้ความสำคัญต่อการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "ประชารัฐ" ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการเกี่ยวข้องโดยตรง 2 คณะ คือ ด้านการยกระดับคุณภาพวิชาชีพอาชีวศึกษา (Competitive Workforce) และด้านการศึกษาขั้นพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำ (Human Capital Development) รวมทั้งนโยบายต่างๆ ที่กำลังหารือรับฟังในเวลานี้ เช่น หลักเกณฑ์ใหม่ในการเข้าสู่ตำแหน่งของผู้บริหารสถานศึกษา การนำผล O-NET ไปใช้ประโยชนได้จริงในการพัฒนาการศึกษา การสื่อสารภายในองค์กรไปยังสถานศึกษา เป็นต้น
ขอบคุณภาพและข่าวจากเว็บไชต์ กระทรวศึกษาธิการ http://www.moe.go.th/websm/2016/feb/092.html
Post Views: 1,656