Home / ข่าวประชาสัมพันธ์ / ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี 374/2559 หารือแนวทางขับเคลื่อนแผนการปฏิรูปประเทศกับคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา

ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี 374/2559 หารือแนวทางขับเคลื่อนแผนการปฏิรูปประเทศกับคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา

792559-2 พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ ให้การต้อนรับและหารือกับนายวิวัฒน์ ศัลยกำธร ประธานกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และคณะ เกี่ยวกับการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา เมื่อวันพุธที่ 7 กันยายน 2559 ที่ห้องประชุมราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ โดยมี พ.อ.ณัฐพงษ์ เพราแก้ว เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, ม.ล.ปริยดา ดิศกุล ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, ผู้บริหารองค์กรหลักและหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วมประชุม

  นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร ประธานกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา สปท. กล่าวว่า ภายหลังได้รับการแต่งตั้งให้เป็นคณะกรรมาธิการ ได้สานต่องานของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในด้านการศึกษาและวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ในขณะเดียวกันได้ประสานและขับเคลื่อนงานร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการมาโดยตลอดช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา ทำให้การดำเนินงานด้านการศึกษามีความก้าวหน้าและเป็นไปได้ด้วยความเรียบร้อย

ดังนั้น จึงต้องการมาหารือและแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับการดำเนินงานด้านปฏิรูปการศึกษาร่วมกัน เพื่อเร่งเสนอกฎหมายให้ผ่านการพิจารณาของสภาต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งแผนปฏิรูปด้านการศึกษา ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากนายกรัฐมนตรีแล้ว มีสาระสำคัญโดยสรุป ดังนี้

การปฏิรูปการศึกษา : จัดทำขึ้นตามกรอบยุทธศาสตร์การปฏิรูปการศึกษาของคณะกรรมาธิการ ซึ่งกำหนดเป้าหมายพัฒนาคนไทยในอนาคต ให้เป็นคนดี มีวินัย ภูมิใจในชาติ ส่งเสริมให้เด็กได้มีความเชี่ยวชาญตามความถนัดของตน มีความรับผิดชอบต่อครอบครัว สังคม ชุมชน และประเทศชาติ โดยมีกลุ่มเป้าหมายในการจัดการศึกษาสำหรับคนทุกช่วยวัย พร้อมทั้งปฏิรูปแนวทางการจัดการศึกษาร่วมกับทุกภาคส่วนในสังคม อาทิ ครอบครัว ชุมชน โรงเรียน ศาสนา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน, ปฏิรูประบบจัดการศึกษา ให้เกิดความสอดคล้องกันทั้งระบบ, ปรับกระบวนการเรียนรู้ ทั้งช่วงเวลา หลักสูตร ครู วิธีการเรียนการสอน เทคโนโลยี/สื่อการสอน ตลอดจนปฏิรูประบบคลัง

ผลการดำเนินงาน : คณะกรรมาธิการได้จัดทำแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาเสนอต่อ สปท. รวมทั้งสิ้น 11 แผน ซึ่งผ่านการพิจารณาของ สปท. แล้ว 10 แผน และมีเรื่องที่จะขับเคลื่อนร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการโดยตรงอีกจำนวนหนึ่ง โดยมีรายละเอียดแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

1) แผนที่ต้องเร่งดำเนินการ : เป็นแผนที่นายกรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบและผ่านวิปทั้ง 3 ฝ่ายแล้ว และได้สั่งการให้เร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2560 จำนวน 3 ฉบับ ได้แก่ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การศึกษาแห่งชาติ, ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาตลอดชีวิต และร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยในส่วนของร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมาธิการร่วมระหว่างสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กับ สปท. เพื่อให้การพิจารณาในวาระที่ 2 มีความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น

2) แผนที่เร่งเสนอต่อสภาฯ : เป็นแผนที่ผ่าน สปท. และวิปทั้ง 3 ฝ่ายแล้ว ประกอบด้วย แผนปฏิรูป จำนวน 7 แผน คือ

– การบริหารจัดการศึกษาโรงเรียนขนาดเล็ก เพื่อแก้ไขปัญหาครูไม่ครบชั้นเรียน

– การพัฒนาครูด้วยการจัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning เน้นสอนเด็กให้คิดวิเคราะห์มากกว่าการท่องจำ

– การขับเคลื่อนการปฏิรูประบบการอาชีวศึกษาสู่อาชีวศึกษาทวิภาคี โดยเน้นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อพัฒนากำลังคนระบบทวิภาคี ขยายจำนวนนักศึกษาระบบทวิภาคี ตลอดจนพัฒนาวิชาอาชีวศึกษาที่เน้นวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการใช้ภาษาที่สาม และพัฒนาแผนความร่วมมือกับพันธมิตร อันจะนำมาซึ่งค่าตอบแทนตามวุฒิการศึกษา รวมทั้งการขับเคลื่อนการจัดการศึกษาและอาชีพตามบริบทจังหวัด/กลุ่มจังหวัด

– การชะลอการประเมินคุณภาพการศึกษาโดยหน่วยงานต้นสังกัดและหน่วยงานภายนอก

– การปฏิรูประบบประกันคุณภาพการศึกษา เพื่อให้มีระบบการประกันคุณภาพการศึกษาระบบใหม่ที่เหมาะสม

– การขับเคลื่อนการปฏิรูประบบวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการวิจัย เพื่อนวัตกรรม ซึ่งนายกรัฐมนตรีเห็นชอบแผนการปฏิรูปแล้ว โดยมีสาระสำคัญของแผน คือเพื่อการปฏิรูปเชิงนโยบายโครงสร้างองค์กรและบุคลากร การปฏิรูปการบริหารทรัพยากรอื่นๆ การปฏิรูปการบริหารจัดการงานวิจัย และการปฏิรูปการจัดการข้อมูลและองค์ความรู้

– การปฏิรูประบบการเรียนรู้ เพื่อสร้างคนไทยให้เป็นพลเมืองดี วินัยเด่น : คนดีมีวินัย ภูมิใจในชาติ มีความรับผิดชอบต่อครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติ ด้วยการจัดการเรียนรู้ตามแนวคิด “STAR STEMS” กล่าวคือ การปรับเปลี่ยนกระบวนการจัดการเรียนรู้ให้ผู้เรียนเป็นคนดี คนเก่ง ด้วยครูมืออาชีพ โดยบูรณาการองค์ความรู้เพื่อปลูกฝังคุณลักษณะอันพึงประสงค์และใช้แก้ปัญหาในชีวิต โดย STAR คือ Student-นักเรียน, Teacher-ครู, Academic-การศึกษาวิชาการ, Revolution-การปฏิบัติ และ STEMS คือ Scientific thinking หลักเหตุ-ผล, Thai-Technology หลักภูมิปัญญาไทย, English-Engineering หลักประสิทธิภาพและการสื่อสารภาษาอังกฤษ, Moral-Mathematics หลักตรรกะและคุณธรรม, Sociogeology หลักภูมิสังคม

ส่วนแผนปฏิรูปการอุดมศึกษาและ ร่าง พ.ร.บ.การอุดมศึกษา อยู่ระหว่างการจัดทำเพื่อนำเสนอต่อ สปท.ต่อไป

3) เรื่องที่ขับเคลื่อนร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ : คณะกรรมาธิการได้เสนอเรื่องที่จะเสนอตรงต่อกระทรวงศึกษาธิการเพื่อขับเคลื่อนร่วมกัน รวม 7 เรื่อง โดยเสนอมายังกระทรวงศึกษาธิการแล้ว 2 เรื่อง คือการยกเลิก TQF 3-7 และการปฏิรูประบบการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ และมีเรื่องที่เตรียมจะเสนอเพิ่มเติมอีก 5 เรื่อง ได้แก่ ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาปฐมวัย, การปรับโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการ, การแก้ไข พ.ร.บ.การประกันคุณภาพการศึกษา และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง, ปฏิรูประบบการคลัง และการประเมินและเลื่อนวิทยฐานะของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงศึกษาธิการดำเนินงานในหลายส่วนที่สอดคล้องกับงานของ สปท. อาทิ การพัฒนาครู ซึ่งอยู่ระหว่างเตรียมการผลิตครูระบบปิด, การบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก เพื่อให้มีประสิทธิภาพในการจัดการเรียนการสอนตามบริบทและศักยภาพในแต่ละพื้นที่, การปรับปรุงระบบบริหารงานบุคคลของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เช่น การคงไว้ซึ่งวิทยฐานะ การเข้าสู่ตำแหน่งรองผู้อำนวยการและผู้อำนวยการสถานศึกษา, กิจกรรมลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ เพื่อลดปัญหานักเรียนเรียนในห้องเรียนมากเกินไป และช่วยปลูกฝังคุณลักษณะอันพึงประสงค์ในศตวรรษที่ 21, การปรับปรุงระบบวัดและประเมินผล เช่น การออกข้อสอบ O-NET ให้มีมาตรฐาน เป็นต้น

โอกาสนี้ ได้ฝากประเด็นเกี่ยวกับการศึกษาให้ สปท.พิจารณาดำเนินการ ดังนี้

  • การตั้งคณะกรรมการปฏิรูปการศึกษาตามรัฐธรรมนูญ ปี 2559 ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการจะเป็นเจ้าภาพในการยกร่างคณะกรรมการ รวมทั้งอำนาจและหน้าที่ จึงขอให้ สปท. ออกแบบองค์ประกอบของคณะกรรมการ ทั้งในส่วนของที่มาของกรรมการและจำนวน พร้อมเหตุผลประกอบพิจารณา เพื่อแต่งตัวไว้รอรัฐธรรมนูญประกาศใช้ ทั้งนี้เน้นให้คณะกรรมการมีจำนวนไม่มากนัก และมีสัดส่วนระหว่างคนใน/นอกกระทรวงศึกษาธิการแบบพอประมาณ พร้อมเสนอแนะให้ตีโจทย์การปฏิรูปให้แตกเสียก่อน เพื่อจะได้หาคนมาทำงานได้ง่ายขึ้น

  • กำหนดความรับผิดชอบดูแลและพัฒนาคนแต่ละช่วงวัย ขอให้ สปท.พิจารณาถึงผู้ที่จะรับผิดชอบดูแลคนแต่ละวัยแต่ละกลุ่มอย่างชัดเจน เหมาะสม และตรงกับหน้าที่ของแต่ละหน่วยงาน ซึ่งจะมีความสัมพันธ์กับงบประมาณและบุคลากรด้วย เช่น เด็กที่อยู่ในครรภ์ ควรมีหน่วยงานใดดูแลให้ความรู้กับพ่อแม่ เมื่อเด็กคลอดออกมาแล้วต้องมีหน่วยงานรับช่วงต่อให้เด็กเติบโตสมบูรณ์แข็งแรง จนถึงเวลาต้องเข้าเรียน ก็เป็นหน้าที่กระทรวงศึกษาธิการที่จะต้องจัดการศึกษาให้เหมาะสมกับเด็กแต่ละกลุ่มแต่ละวัย ทั้งนี้ในบางช่วงอาจต้องมีเจ้าภาพร่วมเพราะมีความเกี่ยวข้องกับหลายส่วน

  • การพัฒนาครู กระทรวงศึกษาธิการเห็นด้วยกับแนวทางพัฒนาครูด้วยการจัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning แต่เห็นว่าการท่องจำยังมีความจำเป็นอยู่เช่นกัน ซึ่งจะเป็นการ “ท่องจำในสิ่งที่ต้องจำ” เพื่อนำไปขยายผลในการเรียนการสอน เช่น การท่องสูตรคูณ เป็นต้น

  • การประเมินคุณภาพการศึกษา โดยเฉพาะในส่วนของมหาวิทยาลัยเป็นเรื่องใหญ่และเกี่ยวข้องกับหลายฝ่าย ดังนั้นการชะลอหรือยกเลิกการประเมินนั้น ขอให้ สปท.รับฟังความเห็นและศึกษาผลกระทบอย่างรอบด้านเสียก่อน


นวรัตน์ รามสูต, บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน
ยุทธพงศ์ เลือกกลั่นดี : ถ่ายภาพ
8/9/2559