Home / ข่าวประชาสัมพันธ์ / ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี 230/2559 รมช.ศธ.มอบนโยบายในการประชุมสัมมนา “ยกระดับคุณภาพการศึกษาในศตวรรษที่ 21” ที่ จ.พิษณุโลก

ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี 230/2559 รมช.ศธ.มอบนโยบายในการประชุมสัมมนา “ยกระดับคุณภาพการศึกษาในศตวรรษที่ 21” ที่ จ.พิษณุโลก

DSC_9820 จังหวัดพิษณุโลก – พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มอบนโยบายในการประชุมสัมมนายกระดับคุณภาพการศึกษาในศตวรรษที่ 21 เมื่อวันเสาร์ที่ 4 มิถุนายน 2559 ณ ห้องประชุมนเรศวร โรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม โดยมีนายพิษณุ ตุลสุข ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ ปฏิบัติหน้าที่ศึกษาธิการภาค 17, นายบุญรักษ์ ยอดเพชร ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน  ตลอดจนศึกษาธิการจังหวัด ผู้บริหารการศึกษา และผู้บริหารสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เขตภาคเหนือตอนล่าง 9 จังหวัด 26 เขตพื้นที่การศึกษา เข้าร่วมประชุมกว่า 2,000 คน

รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้เพื่อต้องการชี้แจงทำความเข้าใจในระบบพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา พร้อมทั้งชี้แจงความก้าวหน้าในการยกระดับคุณภาพการศึกษาในหลายประเด็น ดังนี้

แผนพัฒนาคุณภาพการศึกษาในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง 9 จังหวัด  ซึ่งนายพิษณุ ตุลสุข ศึกษาธิการภาค 17 และผู้บริหาร สพฐ. ได้รายงานความก้าวหน้าการจัดการศึกษาในพื้นที่ว่ามีความก้าวหน้าไปหลายเรื่อง เช่น การจัดการศึกษาแบบบูรณาการในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก ที่จะต้องมีความเชื่อมโยง สนับสนุน และพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษให้บรรลุวัตถุประสงค์ของรัฐบาล และนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการด้วย

การพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนด้วยระบบ DLTV และ DLIT   นับตั้งแต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เข้ามาบริหารราชการแผ่นดิน ตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เรื่องแรกที่หัวหน้า คสช. และนายกรัฐมนตรีได้สั่งการคือ การแก้ปัญหาการขาดแคลนครูหรือการแก้ปัญหาครูไม่ครบทุกวิชาในโรงเรียนขนาดเล็ก (จำนวนนักเรียนต่ำกว่า 120 คน) ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ไปขยายผลโครงการจัดการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (DLTV) ทั้งนี้ ตนได้รับคำสั่งจาก รมว. ศึกษาธิการ (พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย) ให้ดำเนินงานรับผิดชอบโครงการที่มีความก้าวหน้า, จากวันนั้นถึงวันนี้ โรงเรียนขนาดเล็กกว่า 15,396 โรงที่จัดการเรียนการสอนผ่าน DLTV ส่วนใหญ่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงขึ้น โดยวัดจากผลสอบ O-NET ที่สูงขึ้น จึงถือเป็นความภูมิใจร่วมกันของทุกฝ่ายและบุคคลที่เกี่ยวข้อง

จนกระทั่งเมื่อดำเนินงานไปแล้วกว่า 1 ปี สพฐ.เห็นว่าควรใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาเพิ่มเติม จึงเกิดโครงการ DLIT เพื่อเข้าไปในโรงเรียนขนาดกลางและขนาดใหญ่แทน แม้ขณะนี้ระบบอาจจะยังไม่สมบูรณ์เท่าโครงการ DLTV แต่เชื่อมั่นว่าจะสมบูรณ์ต่อไป

การแก้ไขปัญหาการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้  ในสมัย รมว.ศึกษาธิการ (พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย) เห็นว่าปัญหาเรื่องการอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ภาษาไทย ส่งผลต่อปัญหาในการเรียนวิชาอื่นๆ โดยได้มีการประกาศให้ปี 2558 เป็นปีปลอดนักเรียนอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ เพื่อให้เด็กทุกคนที่อยู่ในระบบการศึกษาอ่านออกเขียนได้ มีความเข้าใจในสิ่งที่อ่านและเขียน แต่ก็ต้องยอมรับว่าผลการดำเนินงานยังไม่สำเร็จครบถ้วน 100% เพราะยังมีนักเรียนบางส่วนในชั้น ป.1 ที่ขึ้นชั้น ป.2 เกือบ 4% ที่ยังอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ดังนั้น สพฐ.ต้องเร่งดำเนินการให้เด็กกลุ่มนี้อ่านออกเขียนได้ ในขณะเดียวกันนักเรียนส่วนที่เหลือ ก็จำเป็นต้องจัดการเรียนการสอนให้อ่านคล่องเขียนคล่อง  โดยใช้รูปแบบวิธีการต่าง ๆ ที่ได้ดำเนินการในโรงเรียนที่ประสบผลสำเร็จมาแล้วดำเนินการ เช่น การแจกลูกสะกดคำ ฯลฯ แต่ในภาคเหนือตอนล่างอาจจะไม่พบปัญหานี้มากนัก ต่างไปจากบางพื้นที่ เช่น จังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือเขตพื้นที่สูงจังหวัดชายแดนภาคเหนือ ดังนั้น กระทรวงศึกษาธิการจึงได้ประชุมหารือเมื่อวานนี้ (3 มิถุนายน) ที่เชียงใหม่ เพื่อให้ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาและผลการเรียนภาษาไทยสูงขึ้น

การลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา หรือการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม  มีหลายโครงการที่ดำเนินการในเวลานี้ เช่น การสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาลจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน โครงการสนับสนุนอาหารนักเรียนบ้านไกลพักนอน โครงการลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ ฯลฯ

การแก้ไขปัญหาการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้  ได้ดำเนินการโครงการที่สำคัญ เช่น โครงการสานฝันการกีฬาสู่ระบบการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นโครงการที่ต้องการส่งเสริมสนับสนุนพัฒนาการกีฬาเข้าสู่ระบบการศึกษาอย่างยั่งยืน โดยสนับสนุนให้โรงเรียนมัธยมศึกษาที่มีความพร้อม พัฒนาโปรแกรมการเรียนในรูปแบบวิทย์-กีฬา หรือศิลป์-กีฬา ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย พร้อมทุนการศึกษาจนจบปริญญาตรี อย่างไรก็ตามแม้เรื่องนี้จะไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับพื้นที่ในภาคเหนือ แต่ก็ส่งผลต่อภาพรวมทางการศึกษาของประเทศด้วย

การพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาด้วยระบบ TEPE Online (Teachers and Educational Personnels Enhancement Based on Mission and Functional Areas as Majors) หรือ "การพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยยึดถือภารกิจและพื้นที่ปฏิบัติงานเป็นฐาน" เป็นเครื่องมือสำคัญที่เน้นให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาได้พัฒนาตนเองผ่านระบบออนไลน์ เรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา ลดการทิ้งห้องเรียนของครู รวมทั้งการใช้พื้นที่ปฏิบัติงานของผู้บริหาร ช่วยประหยัดงบประมาณราชการ รายจ่ายของครู สามารถนำผลการพัฒนาไปใช้เกี่ยวกับความก้าวหน้าในวิชาชีพ ทั้งเรื่องการขอมี ขอต่อใบประกอบวิชาชีพ การเลื่อนวิทยฐานะ และการเปลี่ยนตำแหน่งต่างๆที่สูงขึ้น ซึ่งโครงการนี้ถือว่าสำคัญมากที่ช่วยคืนครูสู่ห้องเรียน

การประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างการรับรู้ร่วมกัน  มีอีกหลายโครงการในการจัดการศึกษาระดับอาชีวศึกษา อุดมศึกษา การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย การศึกษาเอกชน ที่ไม่ได้กล่าวในครั้งนี้ แต่ขอย้ำว่าการดำเนินการตามแผนงานใด ๆ ควรจะสร้างให้เกิดการรับรู้ร่วมกันทั้งผู้คนในกระทรวงและภูมิภาค ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้ย้ำในที่ประชุมทุกสัปดาห์ด้วยว่า งานใดที่เป็นงานที่หน่วยงานต่าง ๆ ได้ดำเนินการร่วมกัน ขอได้เน้นให้มีการประชาสัมพันธ์ร่วมกันด้วย

โครงการสานพลังประชารัฐ  ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการเกี่ยวข้องกับ 2 โครงการ คือ คณะกรรมการสานพลังประชารัฐด้านการยกระดับคุณภาพวิชาชีพ และด้านการศึกษาพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำ ในส่วนของ สพฐ. จะเกี่ยวข้องกับการศึกษาพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำ โดยในวันที่ 20 มิถุนายน 2559 ที่ทำเนียบรัฐบาล จะมีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการ CONNEXT ED หรือโครงการผู้นำเพื่อการพัฒนาการศึกษาที่ยั่งยืน (Leadership Program for Sustainable Education) โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โครงการนี้จะมี 12 บริษัททำหน้าที่ให้คำปรึกษาเชิงยุทธศาสตร์ ให้ข้อคิดเสนอแนะและทิศทางการดำเนินงาน ตลอดจนสนับสนุนเงินทุนในการพัฒนาโรงเรียน โดยดำเนินการในรูปแบบ Action Learning หรือการเรียนรู้จากการลงพื้นที่จริงใน 3,342 โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ

โครงการสะเต็มศึกษา  เป็นแนวทางการจัดการศึกษาให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้และสามารถบูรณาการความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี กระบวนการทางวิศวกรรม และคณิตศาสตร์ ไปใช้ในการเชื่อมโยงและแก้ปัญหาในชีวิตจริง รวมทั้งการพัฒนากระบวนการหรือผลผลิตใหม่ ควบคู่ไปกับการพัฒนาทักษะการเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ 21 ซึ่งความจริงแล้วมีพื้นฐานมาจาก Brain-based Learning (BBL) อยู่แล้ว แต่สะเต็มศึกษาเป็นโครงการใหม่ที่จะเข้ามาช่วยเติมเต็มภาคการศึกษา โดยเริ่มจากปีการศึกษานี้

โครงการพัฒนาภาษาอังกฤษ  เป็นเรื่องที่มีความจำเป็นมาก เพราะเรากำลังก้าวเข้าสู่ความเป็นสากล นอกเหนือไปจากการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนแล้ว เป็นโครงการที่ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมช.ศึกษาธิการ ดำเนินการอยู่ในเวลานี้ โดยในระยะเริ่มแรกได้จัด Smart Boot Camp ครูผู้สอนภาษาอังกฤษทั่วประเทศแล้ว 350 คน เพื่อให้เป็นครูต้นแบบถ่ายทอดขยายไปต่อเนื่อง นอกจากนี้ได้มีการพัฒนาแอพพลิเคชั่น Echo English เพื่อฝึกการเรียนรู้ภาษาอังกฤษได้ด้วยตนเอง

การทดสอบ O-NET  ปัจจุบันเป็นการทดสอบด้วยข้อสอบปรนัย แต่ต่อไปจะเพิ่มข้อสอบอัตนัยในสัดส่วน 20%  ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ

การแก้ไขปัญหาเด็กตกหล่นหรือเด็กออกกลางคัน กระทรวงศึกษาธิการได้ประชุมเมื่อวันที่ 3 มิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งดำเนินการตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีให้เกิดเป็นผลให้ได้ภายในปี 2559 และเมื่อเร็วๆ นี้ รมว.ศึกษาธิการได้กล่าวในการประชุมสภารัฐมนตรีศึกษาอาเซียน ที่ประเทศมาเลเซีย เมื่อวันที่ 25-26 พฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งที่ประชุมได้มอบหมายให้ไทยเป็นผู้นำระดับอาเซียน เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ดังกล่าวในระดับภูมิภาค โครงการนี้จะเริ่มดำเนินการอย่างเข้มแข็งและเข้มข้นในปีการศึกษานี้เป็นต้นไป

การรักษาความปลอดภัยให้นักเรียน ครู บุคลากรทางการศึกษา และสถานศึกษา  เป็นที่น่าเศร้าใจเมื่อคืนวันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา ปรากฏข่าวไปทั่วโลก เมื่อมีนักเรียนหญิงไทยถูกไฟไหม้เสียชีวิต 17 คนในอาคารหอพักหญิงของโรงเรียนเอกชนใน จ.เชียงราย ทั้งที่เป็นอาคาร 2 ชั้น แต่เมื่อข่าวสารออกไป ก็ทำให้เกิดความเสียหายในวงกว้าง ซึ่งการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคมที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีได้มีข้อสั่งการทันทีให้กระทรวงศึกษาธิการไปทบทวนเรื่องนี้ทั้งหมด โดยให้จัดทำแผนและมาตรการรักษาความปลอดภัยให้นักเรียนและสถานศึกษา ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนในเมือง ชนบท พื้นที่ห่างไกล โดยขณะนี้ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงาน โดยรวมถึงโรงเรียนเอกชนด้วย ให้กลับไปทบทวนซักซ้อมระบบและมาตรการรักษาความปลอดภัยในเรื่องนี้ให้เสร็จสิ้นภายใน 15 วัน และให้ทุกหน่วยงานเตรียมข้อมูล ความพร้อม ปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอทั้งหมด มาประชุมร่วมกันในวันที่ 13 มิถุนายนนี้ นอกจากนี้ตนได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัยในหน่วยงานและสถานศึกษาทุกแห่ง จะต้องมีทางหนีไฟ อุปกรณ์ต่างๆ เป็นต้น เพราะรูปแบบ ปัจจัย บริบทในแต่ละพื้นที่จะแตกต่างกัน จึงขอให้ช่วยรณรงค์ดำเนินการเรื่องนี้ให้เกิดมาตรฐานความปลอดภัยแก่นักเรียน ซึ่งถือเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด โดยย้ำว่าตนเองค่อนข้างเข้มข้นในเรื่องนี้ เพราะหากเกิดปัญหาขึ้นมา นอกจากทุกคนจะเกิดความเสียใจแล้ว จำเป็นต้องมีการสอบสวนผู้กระทำความผิดด้วย

การน้อมนำพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เรื่อง "เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา" มาใช้ในการทำงาน  โดยได้ฝากให้ผู้บริหารและครูได้น้อมนำพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เรื่อง "เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา" มาประยุกต์ใช้ในการจัดการศึกษาให้เจริญก้าวหน้า และปฏิบัติตามหลักการทรงงานในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 23 ประการ คือ

1. ศึกษาข้อมูลอย่างเป็นระบบ ศึกษาข้อมูล รายละเอียดอย่างเป็นระบบ ทั้งข้อมูลเบื้องต้นจากเอกสาร แผนที่ สอบถามจากเจ้าหน้าที่ นักวิชาการ และราษฎรในพื้นที่ ให้ได้รายละเอียดที่ถูกต้อง

2. ระเบิดจากข้างใน สร้างความเข้มแข็งให้คนในชุมชนที่จะเข้าไปพัฒนา ให้มีสภาพพร้อมที่จะรับการพัฒนาเสียก่อน

3. แก้ปัญหาจากจุดเล็ก มองปัญหาในภาพรวม แต่การแก้ปัญหาจะเริ่มจากจุดเล็กๆคือการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่คนมักจะมองข้าม

4. ทำตามลำดับขั้น  การพัฒนาให้เริ่มต้นจากสิ่งที่จำเป็นที่สุดของประชาชนก่อน ได้แก่ สาธารณสุข ต่อไปจึงเป็นเรื่องสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน และสิ่งจำเป็นสำหรับประกอบอาชีพ

5. ภูมิสังคม  การพัฒนาใดๆ ต้องคำนึงถึงภูมิประเทศของบริเวณนั้น เช่น ดิน, น้ำ, ป่า, เขา ฯลฯ และสังคมวิทยา เช่น นิสัยใจคอของผู้คน ตลอดจนวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น

6. องค์รวม คิดอย่างองค์รวม หรือมองอย่างครบวงจร มองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและแนวทางแก้ไขอย่างเชื่อมโยง

7. ไม่ติดตำรา  การทำงานมีลักษณะที่อนุโลม รอมชอมกับสภาพธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม สภาพสังคม จิตวิทยาของชุมชน ไม่ผูกมัดกับวิชาการและเทคโนโลยีที่ไม่เหมาะสมกับสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทย

8. ประหยัด เรียบง่าย ได้ประโยชน์สูงสุด  แก้ไขปัญหาด้วยความประหยัด เรียบง่าย ราษฎรสามารถทำได้เอง หาได้ในท้องถิ่น และประยุกต์ใช้สิ่งที่มีอยู่ในภูมิภาคนั้นๆ

9. ทำให้ง่าย  ทำสิ่งยากให้กลายเป็นง่าย ทำสิ่งที่สลับซับซ้อนให้เข้าใจง่าย

10. การมีส่วนร่วม  เปิดโอกาสให้สาธารณชน ประชาชน หรือเจ้าหน้าที่ทุกระดับ ได้ร่วมกันแสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับเรื่องที่ต้องคำนึงถึงความคิดเห็นของประชาชน หรือความต้องการของสาธารณชน

11. ประโยชน์ส่วนรวม  การให้เพื่อส่วนรวมนั้น ไม่ได้ให้เพื่อส่วนรวมอย่างเดียว แต่เป็นการให้เพื่อตนเอง สามารถมีส่วนรวมหรือสังคมที่จะอาศัยอยู่ได้

12. บริการที่จุดเดียว  ศูนย์ศึกษาการพัฒนา อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นต้นแบบการบริหารรวมที่จุดเดียว เพื่อประชาชนที่จะมาใช้บริการ ได้ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย โดยมีหน่วยงานส่วนราชการต่างๆ มาร่วมดำเนินการและให้บริการ ณ ที่แห่งเดียว

13. ใช้ธรรมชาติช่วยธรรมชาติ  หากเราต้องการแก้ไขธรรมชาติจะต้องใช้ธรรมชาติเข้าช่วยเหลือ เช่น การแก้ปัญหาป่าเสื่อมโทรม พระราชทานพระราชดำริการปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูก(ต้นไม้) ปล่อยให้ธรรมชาติช่วยฟื้นฟูธรรมชาติ

14. ใช้อธรรมปราบอธรรม  นำกฎเกณฑ์ของธรรมชาติมาเป็นหลักและแนวปฏิบัติที่สำคัญในการแก้ปัญหาและปรับปรุงสภาวะที่ไม่ปกติให้เข้าสู่ระบบที่เป็นปกติ เช่น การใช้ผักตบชวาบำบัดน้ำเสียโดยดูดซึมสิ่งสกปรกปนเปื้อนในน้ำ

15. ปลูกป่าในใจคน  การที่จะพื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติให้กลับคืนมา จะต้องปลูกจิตสำนึกให้คนรักป่าเสียก่อน แล้วคนเหล่านั้นก็จะปลูกต้นไม้ลงบนแผ่นดิน และรักษาต้นไม้ด้วยตนเอง

16. ขาดทุนคือกำไร  การเสียคือการให้ หลักการคือ "การให้" และ "การเสียสละ" เป็นการกระทำอันมีผลเป็นกำไร คือ ความอยู่ดีมีสุขของราษฎร

17. การพึ่งตนเอง  การพัฒนาเพื่อแก้ไขปัญหาเบื้องต้นด้วยการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เพื่อให้ประชาชนแข็งแรงพอที่จะดำรงชีวิตได้ต่อไป ขั้นต่อไปก็คือ การพัฒนาให้ประชาชนสามารถอยู่ในสังคมได้ตามสภาพแวดล้อม และสามารถ "พึ่งตนเองได้" ในที่สุด

18. พออยู่พอกิน  ให้ความช่วยเหลือประชาชนที่มีความยากลำบากให้สามารถอยู่ได้อย่าง "พออยู่พอกิน" เสียก่อนแล้วจึงค่อยขยับขยายให้มีขีดสมรรถนะที่ก้าวหน้าต่อไป

19. เศรษฐกิจพอเพียง  เป็นแนวทางการดำเนินชีวิต เพื่อสร้างความเข็มแข็งหรือภูมิคุ้มกันทุกด้านซึ่งจะสามารถอยู่ได้อย่างสมดุล ในโลกแห่งการเปลี่ยนแปลง ปรัชญานี้สามารถประยุกต์ใช้ทั้งระดับบุคคล องค์กร ชุมชน

20. ความซื่อสัตย์ สุจริต จริงใจต่อกัน  ผู้ที่มีความสุจริตและบริสุทธิ์ใจ แม้จะมีความรู้น้อย ก็ย่อมทำประโยชน์ให้แก่ส่วนรวมได้มากกว่าผู้ที่มีความรู้มาก แต่ไม่มีความสุจริต ไม่มีความบริสุทธิ์ใจ

21. ทำงานอย่างมีความสุข  ทำงานโดยคำนึงถึงความสุขที่เกิดจากการได้ทำประโยชน์ให้กับผู้อื่น

22. ความเพียร  จากตัวอย่างบทพระราชนิพนธ์พระมหาชนก พระมหาชนกเพียรว่ายน้ำอยู่ 7 วัน 7 คืน แม้จะมองไม่เห็นฝั่งแต่ยังคงว่ายต่อไป ไม่จมลงจนกลายเป็นอาหารของปลา และได้รับความช่วยเหลือจนถึงฝั่งได้ในที่สุด

23. รู้-รัก-สามัคคี  รู้ : การที่เราจะลงมือทำสิ่งใดนั้น จะต้องรู้เสียก่อน รู้ถึงปัจจัยทั้งหมด รู้ถึงปัญหา และรู้ถึงวิธีแก้ปัญหา,  รัก : เมื่อเรารู้ครบด้วยกระบวนการแล้ว จะต้องเห็นคุณค่า เกิดศรัทธา เกิดความรักที่จะเข้าไปลงมือปฏิบัติแก้ปัญหานั้นๆ,  สามัคคี : เมื่อถึงขั้นลงมือปฏิบัติต้องคำนึงเสมอว่าเราทำคนเดียวไม่ได้ ต้องร่วมมือร่วมใจกัน สามัคคีกันเป็นหมู่คณะ จึงจะเกิดพลังในการแก้ปัญหาให้ลุล่วงด้วย

ความร่วมมือในการจัดงานของรัฐบาลในโอกาสเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติครบ 70 ปี 9 มิถุนายน 2559 และเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 12 สิงหาคม 2559  รัฐบาลเชิญชวนประชาชนชาวไทยร่วมใจกันร่วมกิจกรรมเพื่อเฉลิมพระเกียรติ โดยเฉพาะข้าราชการและทุกส่วนราชการที่จะแสดงออกซึ่งความจงรักภักดีโดยพร้อมเพรียงกันในการจัดกิจกรรมต่างๆ ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 9 มิถุนายน 2560 รวมทั้งร่วมประดับธงตราสัญลักษณ์ฯ ทั้งภายนอกอาคาร และภายในอาคาร เช่น ในห้องประชุมต่างๆ เป็นต้นพร้อมทั้งขอรณรงค์ให้ช่วยกันทำงานความดีและทำงานตามหน้าที่ เพื่อถวายพระเกียรติพระองค์ในฐานะพระผู้ทรงเป็นครูแห่งแผ่นดิน ซึ่งการทำงานและการทำความดีดังกล่าวจะเป็นพระโอสถหรือยาขนานเอกที่พวกเราจะถวายในหลวง เพราะเชื่อว่าหากพระองค์ท่านได้ทรงรับทราบว่าข้าราชการช่วยกันทำงานจนยกระดับคุณภาพการศึกษามีความก้าวหน้าแล้ว จะส่งผลให้พระองค์มีพระวรกายและพระราชหฤทัยดีขึ้น


อนึ่งในช่วงเช้าวันเดียวกัน พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รมช.ศึกษาธิการ ได้เดินทางไปเป็นประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาและอุปถัมภ์ฝ่ายฆราวาส ในพิธีทอดผ้าป่าสามัคคี เพื่อก่อสร้างอาคารเรียนโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกบาลี ณ วัดสังฆาราม ต.บ้านด่าน อ.บ้านด่านลานหอย จ.สุโขทัย โดยมีนายบุญรักษ์ ยอดเพชร ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. เป็นรองประธานฯ ฝ่ายฆราวาส พร้อมด้วยนายพิษณุ ตุลสุข ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ ปฏิบัติหน้าที่ศึกษาธิการภาค 17 เข้าร่วมพิธี ซึ่งได้รับเงินทอดผ้าป่าจำนวน 1,181,000 บาท


บัลลังก์ โรหิตเสถียร : สรุป/รายงาน
ยุทธพงศ์ เลือกกลั่นดี : ถ่ายภาพ
ขอบคุณภาพเพิ่มเติมบางส่วน : คณะทำงาน รมช.ศึกษาธิการ

4/6/2559