Home / ข่าวประชาสัมพันธ์ / ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี 246/2559 เปิดศูนย์เรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ประจำตำบล

ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี 246/2559 เปิดศูนย์เรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ประจำตำบล

DSC_1270-1 โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิธีเปิดศูนย์เรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ประจำตำบล เมื่อวันจันทร์ที่ 13 ิถุนายน 2559 ณ หอประชุมวายุภักษ์ ชั้น 4  โดยมี พล.อ.ดาว์พงษ์  รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ และ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, ผู้บริหารกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร, เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา, เลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อการประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ, ผู้บริหารระดับสูงหน่วยงานภาครัฐ, ผู้ว่าราชการจังหวัด, คณะกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินงานศูนย์เรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ประจำตำบลระดับกระทรวง และระดับศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ในระดับจังหวัด อำเภอ เขต และ กศน.ตำบล 7,424 แห่งทั่วประเทศ รวมทั้งผู้แทนภาคีเครือข่ายภาครัฐและภาคเอกชนเข้าร่วม จัดโดยกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ร่วมกับสำนักงาน กศน. เพื่อให้บุคลากรและนักศึกษา กศน. ตลอดจนประชาชนทั่วไปได้ตระหนัก เกิดความภาคภูมิใจในสถาบันหลักของชาติ และเป็นการขยายผลโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่ประชาชนอย่างแพร่หลาย

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาเป็นแนวทางการบริหารประเทศ โดยมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อให้ประเทศเกิดการพัฒนาอย่างมั่นคงและยั่งยืนนั้น

เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายรัฐบาล กระทรวงศึกษาธิการได้ร่วมกับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) จัดตั้งศูนย์เรียนรู้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ประจำตำบลในทุกตำบล จำนวน 7,424 แห่ง เพื่อให้ชุมชนใช้เป็นศูนย์การเรียนรู้เรื่องหลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หลักการเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ โดยใช้ กศน.ตำบล ซึ่งกระจายอยู่ทั่วประเทศเป็นศูนย์การเรียนรู้ของประชาชน พร้อมทั้งจัดสรรครู กศน.ตำบล เพื่อทำหน้าที่ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้กับประชาชนอยู่แล้ว โดยเน้นหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ให้มากขึ้น

สำหรับการดำเนินงานเรื่องหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ที่ผ่านมา มีหลายหน่วยงานที่ร่วมดำเนินการ อาทิ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นหลักในการดำเนินงานในพื้นที่ และมีกระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (สำนักงาน กศน.) เป็นหน่วยประสานและจัดกระบวนการเรียนรู้ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่

ศูนย์นี้จะมีบทบาทในการให้ความรู้กับประชาชน ในการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ มาประยุกต์ใช้กับสถานการณ์จริง เช่น การจัดปลูกพืชชนิดใด ต้องใช้เหตุผลคำนึงถึงความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่และตรงกับการส่งเสริมพื้นที่เพาะปลูกของรัฐบาล โดยใช้หลักของความพอประมาณเพื่อได้ผลผลิตที่เหมาะสม นอกจากนี้ในการหาเลี้ยงชีพ ควรเสริมสร้างภูมิคุ้มกันในการปลูกพืชอย่างผสมผสาน หรือการเลี้ยงสัตว์ควบคู่กันไปในพื้นที่เพิ่มเติมเพื่อให้มีรายได้ทดแทนกัน และสามารถหาความรู้เพิ่มเติมจากการประกอบอาชีพได้จากแหล่งข้อมูลหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ด้านเทคโนโลยีการเกษตรของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ที่สำคัญ ศูนย์เรียนรู้ทั้ง 7,424 ตำบลทั่วประเทศ จะมีหน้าที่สร้างความตระหนักให้กับประชาชนในการประกอบอาชีพอย่างมีคุณธรรม ซื่อสัตย์สุจริต มีความเพียร ใช้สติปัญญาในการดำรงชีวิตทำงานร่วมกันอย่างมีความสามัคคี สอดคล้องกับยุทธศาสตร์สานพลังประชารัฐ


พิธีเปิดงานโดยนายกรัฐมนตรี


แขกผู้มีเกียรติจากหลากหลายกระทรวง และหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วมงานจำนวนมาก โดยเฉพาะชาว กศน.ทั่วประเทศ


ส่วนหนึ่งของนิทรรศการภายในงาน


นายกรัฐมนตรี กล่าวในพิธีเปิดตอนหนึ่งว่า ขอให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ให้กับประชาชนอย่างถ่องแท้ ให้เข้าใจในหลักการเดียวกัน เพื่อให้แต่ละศูนย์สามารถนำไปขับเคลื่อนได้อย่างถูกต้องและเกิดประโยชน์สูงสุด พร้อมสร้างให้ประชาชนเกิดการยอมรับด้วย ซึ่งการดำเนินงานทุกอย่างอาจจะต้องมีปัญหาบ้าง เพราะฉะนั้นผู้ปฏิบัติต้องเข้าใจปัญหาก่อน จากนั้นต้องสร้างความเข้าใจแก่ประชาชนเกี่ยวกับการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ เพื่อให้ทุกคนได้มองเห็นภาพในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน

ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องยึดหลักคิด "การทำให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นจากเดิม" ตามแนวพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงพระราชทานปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้กับคนไทยทุกคน พร้อมขอประชาชนอย่าลืมพื้นฐานของตนเอง นั่นคือ "เกษตรกรรม" ซึ่งปัจจุบันสถานการณ์โลกเปลี่ยนแปลงไปมาก ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น รัฐบาลจึงเข้ามาเสริมสร้างฐานรากทางเศรษฐกิจ เพื่อขับเคลื่อนประเทศตามยุทธศาสตร์เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา

นอกจากนี้ ให้ใช้หลักคิดทางพระพุทธศาสนาคือ "อริยสัจ 4" ได้แก่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เพื่อให้ประชาชนดำเนินชีวิตบนหลักเหตุผลและแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน ควรมีการจัดทำบัญชีครัวเรือน เพื่อจะได้รู้รายรับรายจ่าย ที่จะนำไปสู่การวางแผนลดรายจ่ายฟุ่มเฟือยออกไป ในส่วนของการประกอบอาชีพนั้น ก็จะต้องคิดอย่างมีเหตุผลทั้งระบบ เช่น ต้นทางการเพาะปลูก ที่จะปรับพื้นที่การเกษตรอย่างไร จะปลูกอะไรที่จะขายได้ ไม่ล้นตลาด ตลอดจนการค้นคว้าหาข้อมูลความรู้ จากแหล่งต่างๆ เพื่อนำมาใช้ประโยชน์, ส่วนกลางทาง ก็ต้องผลิตนวัตกรรมที่ช่วยทำให้ผลผลิตมีคุณภาพที่ดีขึ้น, ปลายทาง คือผลผลิต ที่ตอบโจทย์ความต้องการตามสมัยนิยมของคนยุคปัจจุบัน และสร้างเรื่องราวเพื่อสร้างมูลค่าให้กับสินค้า เช่น เกษตรอินทรีย์ ต้องมีการสร้างเรื่องราว ได้ข้าวมาอย่างไร มีคุณสมบัติในการส่งเสริมสุขภาพเพียงใด เช่น ช่วยลดเบาหวาน ลดไขมันในเส้นเลือด หากเกษตรกรสามารถทำได้เช่นนี้ ก็จะช่วยให้สินค้ามีคุณค่ามากยิ่งขึ้น เป็นที่ต้องการของตลาด และมีทางเลือกในการค้าขายได้หลากหลายมากขึ้น

ทั้งนี้ ได้แนะนำให้กระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมขับเคลื่อนงานผ่านศูนย์ One Stop Service (OSS) โดยตั้งศูนย์ใน 2 ส่วน คือ ศูนย์ OSS ที่ประสานงานภายในของหน่วยงาน และศูนย์ที่จะเชื่อมโยงกับศูนย์ต่างๆ ของกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เพื่อช่วยให้เกิดการขับเคลื่อนการทำงานในด้านต่างๆ ทั้งระบบไปพร้อมกัน


นวรัตน์ รามสูต, บัลลังก์ โรหิตเสถียร : สรุป/รายงาน
ยุทธพงศ์ เลือกกลั่นดี : ถ่ายภาพ
14/6/2559