ศึกษาธิการ – พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยนายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ให้การต้อนรับและหารือความร่วมมือด้านการศึกษากับ Mr. Chris Thatcher รองประธานหอการค้าสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทย เมื่อวันศุกร์ที่ 17 มิถุนายน 2559 ที่ห้องรับรองจันทรเกษม โดยมีผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา, ผู้แทนจากบริษัทโรลส์-รอยซ์ (Rolls-Royce) ประเทศไทย และผู้แทนจากเทสโก โลตัส ร่วมหารือ
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการมีความยินดีอย่างยิ่งที่หอการค้าสหราชอาณาจักร สนับสนุนระบบการศึกษาแบบทวิภาคี (Dual Education) ด้วยการรับนักเรียนนักศึกษาอาชีวศึกษาของไทยเข้าฝึกงานในสถานประกอบการในเครือหอการค้าฯ ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายผลิตกำลังคนให้ตรงกับความต้องการของประเทศและผู้ประกอบการทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณ
อย่างไรก็ตาม การอาชีวศึกษาของไทยยังคงประสบปัญหาการทะเลาะวิวาทของนักเรียนนักศึกษาอาชีวศึกษา แม่จะเป็นเพียงส่วนน้อย แต่ก็มีความจำเป็นต้องเร่งแก้ปัญหาดังกล่าว เพราะส่งผลถึงภาพลักษณ์ของการอาชีวศึกษาโดยรวม จึงต้องเร่งสร้างความเข้าใจกับในการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับผู้เรียนอาชีวศึกษา เช่น การส่งเสริมให้เป็นผู้เสียสละ, ช่วยเหลือประชาชนเมื่อเกิดภัยพิบัติ เป็นต้น
นอกจากนี้ การฝึกประสบการณ์ในสถานประกอบการจะช่วยลดปัญหาการทะเลาะวิวาท เนื่องจากผลการสำรวจพบว่าเด็กอาชีวศึกษาที่เข้าฝึกงานในสถานประกอบการจะไม่มีเวลาหรือปัจจัยที่ไปก่อเหตุทะเลาะวิวาท อีกทั้งเป็นการฝึกให้เด็กมีประสบการณ์การทำงาน ฝึกการอยู่ร่วมกับผู้อื่น และสามารถประกอบอาชีพได้ทันทีหลังจบการศึกษา
สำหรับการยกระดับมาตรฐานอาชีวศึกษานั้น สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) มีแนวทางในการส่งเสริมการจัดการศึกษาแบบทวิวุฒิ (Dual Degree) ในบางสาขาวิชากับสถาบันการศึกษาต่างประเทศ แต่เด็กอาชีวศึกษาของไทยยังมีปัญหาเรื่องการสื่อสารภาษาอังกฤษ อีกทั้งผู้ประกอบการก็ต้องการบุคลากรที่สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ จึงต้องเร่งพัฒนาทักษะด้านภาษาอังกฤษให้เด็กอาชีวศึกษาอย่างต่อเนื่อง
Mr. Chris Thatcher รองประธานหอการค้าสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทย กล่าวว่า หอการค้าสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทยยินดีให้ความร่วมมือและสนับสนุนการอาชีวศึกษาของไทย เนื่องจากมีบริษัทในเครือกว่า 600 บริษัท ซึ่งเป็นบริษัทที่มีประสบการด้านอาชีวศึกษาอย่างมาก พร้อมทั้งรับนักศึกษาเข้าฝึกประสบการณ์อย่างต่อเนื่องและเปิดโอกาสให้นักเรียนนักศึกษาได้สัมผัสประสบการณ์ทำงานในสถานที่จริงและสถานการณ์จริง เพื่อให้เกิดแรงบันดาลใจในการประกอบอาชีพในอนาคต รวมทั้งเกิดความภาคภูมิใจจากการฝึกงานกับสถานประกอบการภาคเอกชนด้วย
ทั้งนี้ ได้กล่าวถึงการนำรูปแบบการจัดการเรียนการสอนแบบ Btech ซึ่งเป็นหลักสูตรที่จัดทำเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ประกอบการมาปรับใช้กับอาชีวศึกษาไทย อาจจะช่วยพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษและพัฒนาศักยภาพด้านอาชีวศึกษาของผู้เรียนได้ ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการจัดการเรียนการสอนในลักษณะดังกล่าวกับสถานศึกษาสายสามัญของไทยบ้างแล้ว
สำหรับการป้องกันแก้ไขปัญหาการทะเลาะวิวาทนั้น สถานศึกษาในสหราชอาณาจักรจะนำเด็กที่เรียนอยู่ในสถานศึกษาที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกันมาเรียนด้วยกัน และเมื่อจบการศึกษาจะได้รับประกาศนียบัตรสำเร็จการศึกษาในหลักสูตรเดียวกันเพื่อลดปัญหาความแตกต่างของสถาบัน พร้อมทั้งสร้างวัฒนธรรมที่ดีในสถานศึกษา ด้วยการสนับสนุนให้เด็กได้มีส่วนร่วมกับสถานศึกษาและทำกิจกรรมที่ทำเพื่อสังคมด้วย
นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันมีนักเรียนนักศึกษาอาชีวศึกษาของไทยที่อยู่ในระบบของการฝึกประสบการณ์ประมาณ 100,000 คน ซึ่งการดำเนินงานขั้นต่อไป คือ การหารือกับหอการค้าสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทย ในการรับนักศึกษาเข้าฝึกประสบการณ์ให้มากขึ้น พร้อมทั้งพิจารณานำหลักสูตร Btech มาปรับใช้กับอาชีวศึกษาของไทยด้วย
อรพรรณ ฤทธิ์มั่น
บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน
อรพรรณ ฤทธิ์มั่น : ถ่ายภาพ
17/6/2559
ภาพประกอบจาก scholarship.in.th
Post Views: 165