สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดประชุมชี้แจงความร่วมมือระหว่าง กกต. กับกระทรวงศึกษาธิการ ในการดำเนินกิจกรรมโครงการเผยแพร่และประชาสัมพันธ์การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ
เมื่อวันจันทร์ที่ 27 มิถุนายน 2559 ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์, พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มอบนโยบายในการประชุมชี้แจงความร่วมมือระหว่าง กกต. กับกระทรวงศึกษาธิการ ในการเผยแพร่และประชาสัมพันธ์การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ โดยมีนายประวิช รัตนเพียร กรรมการการเลือกตั้ง ร่วมมอบนโยบายและชี้แจงความร่วมมือ มีผู้เข้าร่วมประชุมจำนวนประมาณ 500 คน อาทิ นายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา, นายสุรพงษ์ จำจด เลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย, นายอดินันท์ ปากบารา เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ตลอดจนผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และผู้บริหารจากกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น
พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า การเลือกตั้งเป็นหน้าที่ของพวกเราทุกคน ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการมีบุคลากรที่เกี่ยวข้องจำนวนมากถึง 8 แสนคนเศษ นอกจากหน่วยงานทุกสังกัดทั่วประเทศแล้ว ยังมีสถานศึกษาจำนวน 36,606 แห่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักเรียนที่จำเป็นจะต้องได้รับการปลูกฝังให้มีความรู้ความเข้าใจในการปกครองระบอบประชาธิปไตย และหากประชาธิปไตยจะสมบูรณ์ได้ ก็ต่อเมื่อเราสอนเด็กให้คิดวิเคราะห์เป็น
ทั้งนี้ ในการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ประชาชนจะไปออกเสียงว่าจะให้ความ เห็นชอบ หรือ ไม่เห็นชอบ ต่อเรื่องที่มีความสำคัญต่อประเทศชาติและประชาชน ใน 2 ประเด็น คือ
1) "ให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช …. ทั้งฉบับ"
2) "ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่า เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ สมควรกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลว่า ในระหว่าง 5 ปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี"
ดังนั้น เราจึงต้องมาช่วยกันรณรงค์ให้ประชาชนออกไปใช้สิทธิ์ในการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งสิ่งสำคัญคือ ต้องช่วยให้ผู้คนเห็นความสำคัญ ทั้งในส่วนของร่างเนื้อหารัฐธรรมนูญ และเหตุผลของคำถามพ่วงดังกล่าว กระทรวงศึกษาธิการย้ำว่ามีนโยบายให้ข้าราชการทุกคนไปใช้สิทธิ์ในครั้งนี้ และขอให้ผู้บริหาร 5 องค์กรหลักและหน่วยงานในกำกับไปทำความเข้าใจกับบุคลากรในสังกัดเกี่ยวกับเนื้อหาและข้อมูลของ กกต. โดยให้พูดในกรอบที่ กกต.ชี้แจงเท่านั้น เพื่อไม่ให้ผิดกฎหมายซึ่งมีโทษจำคุกสูงถึง 10 ปี ส่วนการที่ใครจะเห็นชอบหรือไม่นั้น แต่ละคนสามารถคิดวิเคราะห์เองได้
สิ่งสำคัญที่จะฝากข้าราชการและบุคลากรในกระทรวงศึกษาธิการ คือ อย่าใช้ความรู้สึก (Feeling) กากบาท แต่ต้องใช้ความจริง (Fact) เพื่อจะได้ไม่รับข้อมูลที่หลอกลวง (Fake) เพราะที่ผ่านมาบ้านเมืองวุ่นวายก็เพราะเราใช้ความรู้สึกมากกว่าความจริง ยิ่งคนที่เป็นครู เป็นต้นแบบสอนนักเรียน ยิ่งต้องคำนึงถึงความจริง ดังนั้นเมื่อได้รับข้อมูลอะไรเข้ามา ควรศึกษา วิเคราะห์ก่อน หรือมีข้อสงสัยให้ถามผู้อื่น ทุกสิ่งต้องเริ่มที่ตัวเราก่อน ในขณะที่ประเทศที่เจริญแล้ว ต่างใช้ Fact สร้าง Feeling เพื่อไม่ให้ Fake
นายประวิช รัตนเพียร กรรมการการเลือกตั้ง กล่าวว่า กกต.ได้ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ ในการจัดกิจกรรม "6 สัปดาห์ประชามติ" เพื่อให้นักเรียนนักศึกษาทุกระดับการศึกษาทั้งในระบบและการศึกษานอกระบบทั่วประเทศ ทั้งสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ และสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะได้ช่วยกันขับเคลื่อนกลไกสำคัญในกระตุ้นเตือน สร้างความตระหนัก ด้วยการรณรงค์ เผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ความรู้ความสำคัญของกระบวนการออกเสียงประชามติ และออกมาช่วยกันกำหนดทิศทางของบ้านเมืองให้ไปในทิศทางที่ดี ที่สากลให้การยอมรับ
ทั้งนี้ นับตั้งแต่วันที่ กกต.ได้รับหน้าที่ในการดำเนินการออกเสียงประชามตินั้น ได้มีหน้าที่ 4 ประการที่สำคัญ คือ 1) กำหนดวันลงประชามติ ในวันอาทิตย์ที่ 7 สิงหาคม 2559 2) จัดพิมพ์เอกสารไปยังหน่วยงาน สถานศึกษา และหมู่บ้านต่างๆ ทั่วประเทศแล้วกว่า 13 ล้านเล่ม 3) เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการออกเสียงประชามติทั้งหมดภายใต้แนวคิด "สุจริตและเที่ยงธรรม" ในทุกหน่วยออกเสียงกว่า 1 แสนหน่วยทั่วประเทศ ครอบคลุมเป้าหมายผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปจำนวน 50.85 ล้านคน 4) โจทย์สำคัญที่ใหญ่มากของ กกต.คือ จะทำอย่างไรให้มีประชาชนไปออกเสียงใช้สิทธิ์ได้มากที่สุด ซึ่ง กกต.วางเป้าหมายในครั้งนี้ร้อยละ 80 ของผู้มีสิทธิ์ออกเสียงทั้งหมดทั่วประเทศ เพราะเมื่อปี พ.ศ.2550 มีผู้ออกไปใช้สิทธิ์ออกเสียงประชามติร้อยละ 57 ในขณะที่การเลือกตั้งเมื่อปี พ.ศ.2554 มีผู้ออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งร้อยละ 75 และเมื่อปัจจัยต่างๆ ในปัจจุบัน เช่น สื่อออนไลน์ สื่อบุคคล ที่มีส่วนต่อการรณรงค์ในครั้งนี้ให้กว้างขวางมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีคณะกรรมการส่งเสริมพัฒนาประชาธิปไตยตำบล (ศส.ปชต.) ในทุก กศน.ตำบล ทั่วประเทศ จึงเชื่อมั่นว่าจะเป็นไปตามเป้าหมายที่มีผู้ออกเสียงประชามติมากถึงร้อยละ 80
ยุทธพงศ์ เลือกกลั่นดี : ถ่ายภาพ
ภายหลังการมอบนโยบาย สำนักงาน กกต. ได้มอบสื่อประชาสัมพันธ์ในการรณรงค์เผยแพร่ประชาสัมพันธ์การออกเสียงประชามติ เพื่อนำไปมอบให้แก่สถานศึกษา ครู และนักเรียนในการมีส่วนร่วมออกเสียงประชามติ จากนั้น รมว.ศึกษาธิการ ได้สาธิตการไปใช้สิทธิ์ออกเสียงประชามติ ที่หน่วยออกเสียง
บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน
27/6/2559
ขอบคุณภาพถ่ายเพิ่มเติม : กลุ่มสารนิเทศ สป.ศธ.
Post Views: 248