Home / ข่าวประชาสัมพันธ์ / ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี 324/2559 การประชุมชี้แจงนโยบายการปฏิรูปการศึกษาให้แก่ข้าราชการส่วนกลาง กระทรวงศึกษาธิการ

ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี 324/2559 การประชุมชี้แจงนโยบายการปฏิรูปการศึกษาให้แก่ข้าราชการส่วนกลาง กระทรวงศึกษาธิการ

WU6A2606 

พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิกา พร้อมด้วย พ.อ.ณัฐพงษ์ เพราแก้ว  เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มอบนโยบายแก่ผู้บริหารและข้าราชการส่วนกลางของกระทรวงศึกษาธิการ จำนวน 600 คน ในการประชุมชี้แจงนโยบายการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค เมื่อวันพุธที่ 3 สิงหาคม 2559 ณ หอประชุมคุรุสภา

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาที่ทำหน้าที่ ได้ขยับตัวเพื่อปฏิรูปการศึกษาไปหลายเรื่อง พร้อมทั้งได้สร้างการรับรู้ให้แก่ผู้บริหาร ข้าราชการ และบุคลากรของกระทรวงศึกษาธิการในส่วนภูมิภาคได้รับทราบมาเป็นระยะๆ ในส่วนของผู้บริหารและข้าราชการส่วนกลางก็เช่นกัน ควรได้มีโอกาสรับทราบ มองเห็นภาพ และความก้าวหน้าในการขับเคลื่อนงานตามนโยบายต่างๆ ของกระทรวงศึกษาธิการที่ถูกต้องตรงกัน

ในการประชุมครั้งนี้ รมว.ศึกษาธิการ ได้มอบให้เลขานุการ รมว.ศึกษาธิการ ได้บรรยายนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ ใน 3 เรื่องหลัก ดังนี้


10 ยุทธศาสตร์ของกระทรวงศึกษาธิการ

เลขานุการ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า จากสภาวะของการศึกษาไทยในปัจจุบัน ได้เน้นไปที่ผลผลิตระบบการศึกษาที่ดี ซึ่งเน้นในเรื่องการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษา คุณภาพการศึกษา การตอบโจทย์บริบทที่เปลี่ยนแปลงไปของสังคม ความเท่าเทียม และความมีประสิทธิภาพ

สิ่งที่ควรคำนึงถึง คือ สภาพแวดล้อมทางการศึกษา โดยพิจารณาใน 3 ส่วน คือ "ห้องเรียน" บางแห่งถูกสร้างขึ้นตั้งแต่ศตวรรษที่ 19, ส่วน "ครูผู้สอน" ผลิตมาจากหลักสูตรที่ใช้สำหรับการเรียนการสอนในศตวรรษที่ 20 ในขณะที่ "นักเรียน" ยุคปัจจุบัน ต้องมีทักษะสำหรับการทำงานและการดำรงชีวิตในศตวรรษที่ 21

ดังนั้น จึงได้นำสภาวะและบริบทที่เกี่ยวข้องมาทบทวนร่วมกับประเด็นปัญหาของการศึกษาไทยที่ผ่านมา เพื่อกระทรวงศึกษาธิการจะได้แก้ปัญหาได้ตรงจุด (ตามภาพล่าง)

นอกจากนี้ ในปัจจุบันได้กำหนดนิยามของคนที่ไม่รู้หนังสือ ซึ่งจะต่างไปจากอดีต โดยเปลี่ยนจาก "คนที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้" เป็น "คนที่เรียนรู้ไม่เป็น แสวงหาความรู้ด้วยตนเองไม่ได้"

สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นตัวอย่างที่สำคัญต่อการวางแผนนโยบายและการกำหนดวิสัยทัศน์ของกระทรวงศึกษาธิการ คือ "ยกระดับคุณภาพการศึกษาที่ดีขึ้น มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และลดความเหลื่อมล้ำอย่างทั่วถึง ผลิตและพัฒนากำลังคนให้สอดคล้องกับความต้องการและรองรับการพัฒนาประเทศ" รวมทั้งได้กำหนดเป็นยุทธศาสตร์ของกระทรวงศึกษาธิการ ตามที่กำหนดไว้ในแผนปฏิบัติราชการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 ของกระทรวงศึกษาธิการ (เพื่อประกอบการจัดทำคำของบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2560) 10 ยุทธศาสตร์ ดังนี้

1. ผลิตและพัฒนากำลังคนให้สอดคล้องกับความต้องการและรองรับการพัฒนาประเทศ
2. หลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้
3. ระบบงบประมาณและทรัพยากรเพื่อการศึกษา
4. ระบบตรวจสอบและประเมินคุณภาพการศึกษา
5. ระบบสื่อสารและเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา
6. พัฒนาระบบการผลิต การสรรหา และการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา
7. ระบบการบริหารจัดการ
8. สร้างโอกาสทางการศึกษา
9. พัฒนาการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้
10. การวิจัยเพื่อพัฒนาและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

ทั้งนี้ การดำเนินการตาม 10 ยุทธศาสตร์ดังกล่าว มีจุดเน้นที่จะต้องขับเคลื่อนงานไปพร้อมกันทั้ง 6 ด้าน คือ ด้านหลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้ ด้านการผลิตและพัฒนาครู ด้านการผลิตและพัฒนากำลังคนและงานวิจัย ด้านการประเมินและการพัฒนามาตรฐานการศึกษา ด้านเทคโนโลยีและการสื่อสารเพื่อการศึกษา และด้านการบริหารจัดการ


11 นโยบายเร่งด่วน
ของกระทรวงศึกษาธิการ

1. ภายใน 1 ปี : ให้เด็กทุกคนได้เข้าถึงการศึกษาและคุณภาพอย่างเท่าเทียมกัน

เลขานุการ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ประเทศไทยมีอัตราการเข้าเรียนระดับประถมศึกษาร้อยละ 96 ของจำนวนประชากรวัยเรียนทั้งหมด ใกล้เคียงกับประเทศต่างๆ ในอาเซียน ส่วนญี่ปุ่นมีอัตราเข้าเรียนร้อยละ 100, ในขณะที่ World Economic Forum ได้ประเมินตามตัวชี้วัดเสาหลักที่ 5 การอุดมศึกษาและการฝึกอบรม (Higher Education and Training) (ภาพรวมการอุดมศึกษาและการฝึกอบรม) พ.ศ.2558-2559 ซึ่งเป็นข้อมูลเปรียบเทียบกับ 140 ประเทศ พบว่าไทยอยู่อันดับที่ 56 สูงกว่าประเทศอื่นๆ ในอาเซียน ยกเว้นมาเลเซียที่ได้อันดับที่ 36 และสิงคโปร์ที่เป็นอันดับ 1 ของโลกจากการประเมินในปีนี้

ด้านการเข้าถึงการศึกษา  ตัวอย่างหนึ่งที่มีความสำคัญ คือ จากการประชุมรัฐมนตรีศึกษาอาเซียน ครั้งที่ 9 (9th ASEAN Education Ministers Meeting) ระหว่างวันที่ 24-26 พฤษภาคม 2559 ที่ประเทศมาเลเซีย ได้ประกาศปฏิญญาอาเซียนเรื่องเด็กที่ไม่เข้าสู่ระบบการศึกษาและเด็กออกนอกระบบการศึกษา ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการจะเน้นไปที่การแก้ปัญหาเด็กไม่เข้าสู่ระบบการศึกษาและเด็กตกหล่นเช่นกัน โดยจะมี Mapping ข้อมูลการจัดการศึกษาระหว่างหน่วยงานที่จัดการศึกษา เพื่อให้ทราบข้อมูลเด็กตกหล่น เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบต่อไป

จากข้อมูลข้างต้น จะเห็นว่าจำนวนเด็กเข้าสู่ระบบการศึกษา ป.1 ปีการศึกษา 2559 มีจำนวนทั้งสิ้น 633,852 คน ในขณะที่ตัวเลขเด็กเข้าสู่ระบบการศึกษา ม.1 มีจำนวนทั้งสิ้น 624,911 คน แต่เมื่อเด็กจบ ม.3 ออกไปเหลืออยู่จำนวน 536,318 คน หรือเท่ากับเหลืออยู่ในระบบ 84.65% หายไปจากระบบการศึกษา 97,534 คน

นอกจากนี้ จะมีการจัดทำระบบบูรณาการแก้ปัญหาเด็กออกกลางคันและเด็กตกหล่นอย่างเป็นระบบภายใน 6 เดือน (ตามภาพ)

ด้านความเท่าเทียมกัน  จำเป็นต้องวางแผนด้วยการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน 15 ปี โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย อย่างต่อเนื่องและให้เกิดความยั่งยืน ซึ่ง รมว.ศึกษาธิการ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่าจะพิจารณาประเด็นค่าสาธารณูปโภคของโรงเรียนมาพิจารณาอย่างละเอียดว่าอะไรที่ควรได้ และอะไรที่ไม่ควรได้ เพื่อช่วยลดช่องว่างของโรงเรียน และที่สำคัญคือต้องการให้การจัดสรรเงินอดหนุนจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน 15 ปี (ตามภาพล่าง) ลงไปถึงมือเด็กๆ อย่างแท้จริง ไม่ใช่ถูกนำไปใช้ในส่วนอื่น

ในส่วนของการดูแลเด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ (เด็กที่มีความสามารถพิเศษ เด็กพิการ และเด็กด้อยโอกาส) ได้จัดการศึกษาแบบโรงเรียนเฉพาะ 48 แห่ง จำนวน 15,000 คน, การจัดการเรียนรวม จำนวน 300,000 คน และศูนย์การเรียน 77 แห่ง จำนวน 15,000 คน ครอบคลุมผู้เรียนำนวน 341,000 คน

ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการได้ใช้ประโยชน์จาก DLTV ในการเข้าถึงการศึกษาสำหรับโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล และพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนสำหรับโรงเรียนทั่วไป จำนวน 15,369 โรงเรียน ซึ่งมีผลทำให้ผลการเรียนในรายวิชา ป.6 และ ม.3 สูงขึ้นทุกวิชา ยกเว้นวิชาสังคมศึกษาเท่านั้นที่ลดลงเล็กน้อยทั้ง 2 ระดับชั้นดังกล่าว

ส่วนโรงเรียนอื่นๆ ทั่วไป ได้ให้ทุกโรงเรียนสามารถเข้าถึงสัญญาณอินเทอร์เน็ตได้อย่างมีคุณภาพ ขณะนี้ได้นำระบบ DLIT เข้ามาใช้ในโรงเรียนขนาดกลางและขนาดใหญ่ จำนวนทั้งสิ้น 15,553 โรงเรียน

ในขณะเดียวกัน มีอีกหลายโครงการที่จะนำมาพิจารณาดำเนินการไปพร้อมๆ กัน เช่น TEPE Online ซึ่งเป็นระบบการพัฒนาข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาโดยยึดถือภารกิจและพื้นที่ปฏิบัติงานเป็นฐาน (Teachers and Educational Personnel Enhancement by Holding Mission and Functional Areas as Majors) ซึ่งเป็นระบบที่ได้พัฒนาโดยมุ่งหวังให้เป็นกระบวนการพัฒนาข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในรูปแบบการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ที่ผู้เรียนสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองตามความสนใจได้ทุกสถานที่ ทุกเวลา ตามความพร้อม ซึ่งประกอบด้วยหลักสูตรการขอมีและต่อใบประกอบวิชาชีพ, หลักสูตรเพื่อการพัฒนางานในหน้าที่ของครูและบุคลากรทางการศึกษา, หลักสูตรการพัฒนาก่อนแต่งตั้งการมีและเลื่อนวิทยฐานะ, หลักสูตรการพัฒนาก่อนแต่งตั้งการเข้าสู่ตำแหน่งศึกษานิเทศก์/ผู้บริหารสถานศึกษา/ผู้บริหารการศึกษา

นอกจากนี้ จะมีการเชื่อมโยงเครือข่ายแบบบูรณาการทั้ง MOENet และ NEdNet รวมทั้งบูรณาการระบบ IT เพื่อบริหารการศึกษาภายในปี 2560 รวมทั้งบูรณาการฐานข้อมูลสถานศึกษาและหน่วยงานให้ใช้ประโยชน์ร่วมกันทุกสังกัด


 2. ภายใน 5 ปี : ส่งเสริมให้ครูใช้ศักยภาพในการสอนอย่างเต็มที่

สิ่งที่ควรคำนึงถึง คือ สภาพแวดล้อมทางการศึกษาของอาเซียน โดยพิจารณาใน 3 ส่วน คือ "ห้องเรียน" บางแห่งถูกสร้างขึ้นตั้งแต่ศตวรรษที่ 19, ส่วน "ครูผู้สอน" ผลิตมาจากหลักสูตรที่ใช้สำหรับการเรียนการสอนในศตวรรษที่ 20 ในขณะที่ "นักเรียน" ยุคปัจจุบัน ต้องมีทักษะสำหรับการทำงานและการดำรงชีวิตในศตวรรษที่ 21 ซึ่งนอกจากบริบทดังกล่าวเปลี่ยนแปลงไปแล้ว ปัญหาที่ผ่านมาของครูพบว่าครูออกนอกห้องเรียนมากขึ้น รวมทั้งการแก้ปัญหาครูที่สอนไม่เก่ง ซึ่งได้ดำเนินการโครงการที่สำคัญ คือ โครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น โดยในปีแรกที่เปิดรับสมัครมีผู้สนใจสมัครเข้ารับการคัดเลือกจำนวน 39,400 คน จากอัตราที่รับได้จริงในปีนี้จำนวน 4,075 อัตรา

นอกจากนี้ มีระบบการปรับปรุงระบบการประเมินวิทยฐานะของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยให้ความสำคัญต่อ "การเลื่อนและคงวิทยฐานะ" ที่จะต้องมีผลโดยตรงกับการพัฒนาครู การวิจัยในโรงเรียน และผลสัมฤทธิ์ของนักเรียน

อีกตัวอย่างที่สำคัญที่ได้ดำเนินการคือ การยกระดับครูผู้สอนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 ซึ่งจะมีการทดสอบเพื่อประเมินคุณภาพครูผู้สอน

ประเด็นถัดไปสำหรับการส่งเสริมศักยภาพครู คือ "การใช้เครือข่ายอุดมศึกษาเป็นพี่เลี้ยง" โดยกำหนดให้โรงเรียน สพฐ. จำนวน 10,947 แห่ง เข้าร่วมโครงการ เพื่อให้สถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศลงไปช่วยพัฒนาสถานศึกษาขั้นพื้นฐานในพื้นที่ต่างๆ ครอบคลุมทั่วประเทศ โดยแบ่งเป็น 9 เครือข่าย

อีกประเด็นหนึ่งของการส่งเสริมให้ครูใช้ศักยภาพในการสอนอย่างเต็มที่ คือ แก้ไขปัญหาระบบการนิเทศ โดยให้มีการคัดเลือกศึกษานิเทศก์ที่แข็งแกร่ง และได้รับการยอมรับจากครูให้มากขึ้นด้วย

นอกจากนี้ ยังมีโครงการผู้นำเพื่อพัฒนาการศึกษาที่ยั่งยืน CONNEXT ED (Leadership Program for Sustainable Education) ภายใต้โครงการสานพลังประชารัฐ ด้านการศึกษาพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำ  ซึ่งเป็นโครงการที่ผู้นำรุ่นใหม่จำนวน 1,000 คน จาก 12 องค์กรภาคเอกชนที่เป็นผู้ร่วมก่อตั้งโครงการ จะทำหน้าที่ 2 ประการ คือ เป็น School Partners ให้กับสถานศึกษาทั่วประเทศ ด้วยการเข้าไปมีส่วนร่วมและดำเนินงานร่วมกับผู้บริหารสถานศึกษา เพื่อศึกษาปัญหาและความต้องการของโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการโรงเรียนประชารัฐ ซึ่ง School Partners ถือเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยพัฒนาการศึกษาในโรงเรียนทั่วประเทศ มีหลักการดำเนินงาน 3 ด้าน คือ 1) สนับสนุนการดำเนินงานของผู้บริหารสถานศึกษาให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ที่วางไว้ (Enable) 2) ร่วมเสนอแนวทางพัฒนาโรงเรียนเพื่อให้ได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชน (Enhance) 3) สร้างการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองและชุมชน (Engage)

อีกทั้งจะมีผู้บริหารระดับสูงจากภาคเอกชนทำหน้าที่เป็น School Sponsor โดยให้ข้อเสนอแนะด้านยุทธศาสตร์ รวมทั้งให้การสนับสนุนด้านงบประมาณในการพัฒนาโรงเรียนประชารัฐที่เข้าร่วมโครงการในปีแรกนี้จำนวน 3,342 โรงเรียน และคาดว่าจะขยายผลการดำเนินโครงการไปยัง 7,424 โรงเรียนทุกตำบลทั่วประเทศ ภายในปี 2561

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวเพิ่มเติมประเด็นประชารัฐนี้ด้วยว่า เป็นโครงการที่ภาคเอกชนให้ความสำคัญ เพราะทนไม่ได้หากจะมีการผลิตคนไม่มีคุณภาพออกไปอีก อันจะส่งผลถึงการแข่งขันของประเทศในอนาคตด้วย จึงได้ร่วมสนับสนุนโครงการ แต่ก็ย้ำให้โรงเรียนดำเนินการเรื่องเงินบริจาคให้เป็นไปด้วยความโปร่งใส ทั้งนี้ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวแสดงความเชื่อมั่นว่าโครงการประชารัฐด้านต่างๆ ของรัฐบาล จะเป็นโมเดลที่สำคัญหนึ่งของโลก เพราะปัจจุบันหลายประเทศให้ความสนใจมาก เช่น ประเทศมาเลเซีย


 3. ภายใน 1 ปี : จะทำครูให้ครบตามเกณฑ์
     ภายใน 2 ปี : จะทำครูให้มีครูประจำชั้นครบทุกห้อง
     ภายใน 5-10 ปี : จะทำให้ครูตรงสาขา

จากข้อมูลจำนวนโรงเรียนในปัจจุบัน เมื่อแยกตามขนาดห้องเรียน ทำให้เห็นว่าไทยมีโรงเรียนขนาดเล็ก จำนวน 15,577 โรงเรียน ในจำนวนนี้เป็นโรงเรียนที่มีนักเรียนไม่เกิน 20 คน จำนวน 1,072 แห่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงเรียนที่มีนักเรียน 0 คน จำนวน 207 แห่ง ครู 230 คน ซึ่งเมื่อไม่มีนักเรียนเรียนแล้ว ก็จำเป็นต้องเกลี่ยครูไปช่วยราชการในโรงเรียนอื่นที่มีความขาดแคลนหรือครูไม่ครบชั้น

สาเหตุสำคัญที่ส่งผลให้มีจำนวนโรงเรียนขนาดเล็กมากขึ้น คือ อัตราประชากรวัย 6 ปี ที่ต้องเข้าเรียนในระดับประถมศึกษาปีที่ 1 ตั้งแต่ปี 2539 -2558 ลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา จากประมาณ 950,000 ลดลงเหลือประมาณ 770,000 คน สวนทางกับจำนวนวัยสูงอายุที่มีจำนวนมากขึ้น ดังนั้น สำนักงาน กศน. ต้องเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการส่งเสริมจัดการศึกษาสำหรับผู้สูงอายุ

หากมองไปที่ภาพรวมครู จะเห็นว่าอัตรากำลังกับการบรรจุจริงของ สพฐ. ยังคงเหลื่อมล้ำกันมาก ระหว่างครูสังกัด สพป. กับ สพม. และ สศศ. ซึ่งส่งผลทำให้มีจำนวนโรงเรียนที่มีครูขาด ครูเกิน และมีผลต่อสัดส่วนจำนวนครูต่อห้องเรียนด้วย

เมื่อมองในภาพรวมอัตราการขาดเกินอัตรากำลังครูของ สพฐ. ทำให้เห็นแนวทางสำคัญที่จะมีการเกลี่ยอัตรากำลัง โดยใช้แนวทางต่างๆ เช่น ปรับเกณฑ์การคิดอัตราให้สอดคล้องกับการจัดการศึกษาให้มีคุณภาพ, จัดทำแผนอัตรากำลังครูล่วงหน้า 10 ปี, เกลี่ยอัตรากาลังโดยยึดประโยชน์ทางราชการเป็นหลัก, ให้บรรจุทดแทนอัตราครูที่เกษียณอายุภายในเดือนตุลาคม (ของทุกปี), จ้างครูให้ตรงกับสาขาที่ขาดแคลนและตรงกับพื้นที่ที่ขาดแคลน โดยเฉพาะวิชาปฐมวัย ภาษาไทย คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ศิลปศึกษา

นอกจากนี้ จะใช้การบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก โดยเริ่มต้นโรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียนต่ำกว่า 20 คนจำนวน 1,072 โรงก่อนเป็นลำดับแรก รวมทั้งทบทวนโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา ที่ตั้งอยู่ใกล้กับโรงเรียนมัธยมศึกษาภายในระยะทาง 6 กิโลเมตร จำนวน 85 โรงเรียน จากจำนวนทั้งประเทศ 7,157 โรงเรียน

นอกจากนี้ กระทรวงศึกษาธิการมีแนวคิดและขั้นตอนการดำเนินงานแก้ปัญหา คือ แบ่งกลุ่มโรงเรียนขนาดเล็ก และจัดให้มีการบูรณาการเรียนร่วมระหว่างโรงเรียนขนาดเล็กกับโรงเรียนประถมศึกษาคุณภาพ ตลอดจนการคัดกรองโรงเรียนขนาดกลางขึ้นไปที่จะเป็นโรงเรียนอนุบาลคุณภาพ ที่มีจำนวนนักเรียนต่อห้องไม่เกิน 25 คน และเป็นโรงเรียนประถมศึกษาคุณภาพ ที่มีจำนวนนักเรียนต่อห้องไม่เกิน 30 คน


 4. ภายใน 2 ปี : จะทำให้เด็กเรียนท่องจำ ในสิ่งที่ควรจำ และนำสิ่งที่จำไปฝึกคิดวิเคราะห์  แก้ปัญหา และนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ครบทุกโรงเรียน

ข้อมูลจาก UNESCO ระบุถึงจำนวนชั่วโมงเรียนต่อปีของนักเรียนไทยในระดับอายุต่างๆ พบว่า ในระดับประถมศึกษา เด็กไทยเรียนมากเป็นอันดับ 1 ของโลกในชั้น ป.4-5 คือ 1,200 ชั่วโมง/ปี ส่วนระดับชั้นอื่นๆ ก็ติดอันดับสูงของโลกเช่นกัน ส่งผลให้นักเรียนไทยมีการบ้านมาก นักเรียนและผู้ปกครองต่างก็มีความเครียด ที่สำคัญการเรียนการสอนยังไม่ได้ส่งเสริมให้นักเรียนคิดวิเคราะห์อย่างสร้างสรรค์มากเท่าที่ควร

จึงเป็นที่มาของโครงการลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ ที่ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2558 ซึ่งเน้นให้โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการในปีแรกจำนวน 4,100 โรงเรียน ได้จัดกิจกรรมที่เน้น 4H คือ Head Heart Hand Health โดยสิ่งสำคัญคือ ปรับปรุงโครงสร้างเวลาเรียนใหม่ให้ชั่วโมงเรียนในห้องเรียนลดลง และชั่วโมงทำกิจกรรมเพิ่มขึ้น พร้อมทั้งเน้นการปรับกระบวนการสอนของครู เพื่อให้เด็กได้ฝึกคิดวิเคราะห์และแก้ปัญหามากขึ้น รวมทั้งการปรับปรุงข้อสอบโดยใช้ข้อสอบมาตรฐานกลางในรูปแบบอัตนัยและปรนัยที่เน้นการคิดวิเคราะห์ให้มากขึ้น

ทั้งนี้ เมื่อได้ดำเนินการโครงการมาระยะหนึ่ง จึงได้มีการประเมินเปรียบเทียบผลการสอบ O-NET ของโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ กับโรงเรียนที่ไม่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งผลประเมินทำให้เห็นชัดเจนว่า แม้จะมีเวลาเรียนในห้องเรียนลดลง แต่ผลจากการปรับโครงสร้างและกระบวนการสอนของครู ทำให้โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการมีผลทดสอบสูงกว่าทุกรายวิชาในระดับชั้น ป.6 และ ม.3 ยกเว้นวิชาภาษาอังกฤษเท่านั้น ผลจากความสำเร็จของโครงการในปีแรก จึงส่งผลให้โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการในปี 2559 เพิ่มขึ้นเป็น 15,837 โรงเรียน

สำหรับการประเมินผลการดำเนินงานโครงการนั้น ได้นำ AAR มาใช้ (After Action Review : AAR) ซึ่งเป็นขั้นตอนหนึ่งในวงจรการทำงาน เป็นการทบทวนวิธีการทำงานทั้งด้านความสำเร็จ ข้อค้นพบ และปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อนำผลจากการประเมินในปีแรก มาดำเนินการในระยะต่อไป


 5. ภายใน 5 ปี : จะทำให้มีการเรียนการสอน STEM Education
 (Science Technology Engineering and Mathematics) ครบทุกโรงเรียน

ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีหน่วยงานที่ดำเนินงาน STEM Education (สะเต็มศึกษา) แบบ "ต่างคนต่างทำ" มากถึง 7 หน่วยงาน คือ

  • สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) 13 ศูนย์ (91 โรงเรียน)

  • สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ 17 โรงเรียน (รับผิดชอบเฉพาะห้องเรียนวิทยาศาสตร์ จำนวน 1 ห้อง)

  • สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) 24 โรงเรียน

  • สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) ผ่านเครือข่ายมหาวิทยาลัย

  • สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) 118 โรงเรียน

  • สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ดำเนินงานเป็นพี่เลี้ยงให้กับโรงเรียนทั้งหมด 147 โรงเรียน (ส่วนใหญ่เป็นกิจกรรมลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้)

  • สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา 5 โรงเรียน

กระทรวงศึกษาธิการ เห็นว่าเพื่อให้การเรียนการสอนสะเต็มศึกษา สอดคล้องและเป็นไปในแนวทางเดียวกัน จึงมีคำสั่งกระทรวงศึกษาธิการ แต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายการจัดการเรียนการสอนสะเต็มศึกษาในสถานศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ รวม 3 คณะ ตามคำสั่งกระทรวงศึกษาธิการ ที่ สป 37/2559 เพื่อทำหน้าที่เป็นคณะอำนวยการการจัดการเรียนการสอน พัฒนาหลักสูตร และขับเคลื่อนการจัดการเรียนการสอน โดยกำหนดเป้าหมายในการพัฒนากิจกรรมสะเต็มศึกษา และกำหนดกิจกรรมสะเต็มศึกษา ระดับชั้น ป.1 – ม.6 ดังนี้

สำหรับความคืบหน้าในการดำเนินการ ขณะนี้ได้มีการปรับปรุงคู่มือกิจกรรมสะเต็มศึกษาสำหรับครูของภาคเรียนที่ 1 (ชั้น ป.1 – ม.6) โดยแยกขั้นตอนการสอนกิจกรรมให้มี 6 ขั้นตอนอย่างชัดเจน และมีการจัดทำ Artwork ต้นฉบับ กิจกรรมสะเต็มศึกษาสำหรับนักเรียน และต้นฉบับคู่มือกิจกรรมสะเต็มศึกษาสำหรับครู รวมทั้งนำกิจกรรมสะเต็มศึกษา และคู่มือกิจกรรมสะเต็มศึกษาสำหรับครู เผยแพร่บนเว็บไซต์ www.stemedthailand.org ด้วย

ทั้งนี้ ได้กำหนดเป้าหมายโรงเรียนเข้าร่วมโครงการขับเคลื่อนสะเต็มศึกษา ในปี 2559-2560 พร้อมทั้งขอรับการจัดสรรงบประมาณให้แล้ว จำนวน 2,495 โรง และตั้งเป้าขยายให้ครบทุกโรงเรียน ภายในปี 2564
 


 6. ภายใน 3 ปี : ยกระดับภาษาอังกฤษให้นักเรียนสามารถใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารในชีวิตประจำวันได้

เมื่อพิจารณาถึงผลการจัดอันดับความรู้ภาษาอังกฤษจาก 10 ประเทศอาเซียน พบว่าร้อยละของประเทศในอาเซียนที่ประชาชนพูดภาษาอังกฤษได้ ลำดับที่ 1 คือ สิงคโปร์ 71% รองลงมา 4 อันดับแรกคือ ฟิลิปปินส์ 55.49% บรูไน ดารุสซาลาม 37.73% มาเลเซีย 27.24% และไทย 10% (6.54 ล้านคน)

ในส่วนของประเทศไทย ถือเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่ต้องการยกระดับภาษาอังกฤษให้ประชาชนและู้เรียนทุกระดับสามารถใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารในชีวิตประจำวันได้ กระทรวงศึกษาธิการจึงได้เริ่มต้นนโยบาย ด้วยการสร้างแรงจูงใจในการเรียนภาษา ที่นำดารานักร้อง ศิลปิน นักกีฬาที่มีชื่อเสียงมาเป็นแรงจูงใจและผลักดันให้นักเรียนนักศึกษา เยาวชน และประชาชน ได้ตระหนักและเห็นความจำเป็นของการใช้ภาษาอังกฤษ

นอกจากนี้ ได้มีการปรับโครงสร้างหลักสูตรและระยะเวลาในการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ ชั้น ป.1-3 โดยเพิ่มจากเดิมสัปดาห์ละ 1 ชั่วโมง เป็นสัปดาห์ละ 5 ชั่วโมง หรือวันละ 1 ชั่วโมง ตลอดจนการสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเรียนการสอนภาษาอังกฤษในสถานศึกษาและแหล่งเรียนรู้ เช่น จัดทำป้ายบอกทางต่างๆ ภายในสถานศึกษาทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เป็นต้น

ด้านการพัฒนาครู ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของความสำเร็จนั้น ได้มีการพัฒนาครูแกนนำด้านการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ ให้มีจำนวนที่เพียงพอ โดยเริ่มต้นพัฒนาครูแกนนำที่มีทักษะ B2 ขึ้นไปจำนวน 350 คน ใช้เวลาอบรมพัฒนาแบบเข้ม 5 สัปดาห์กับครูต่างชาติ จากนั้นจะมีการขยายผลการพัฒนาไปยังครูใน 4 ภูมิภาคทั่วประเทศในปี 2560 อันจะส่งผลถึงการพัฒนาไปยังนักเรียนในโรงเรียนที่ครูแกนนำปฏิบัติการสอนจำนวนประมาณ 35,000 คนอีกด้วย แม้โครงการนี้จะทำให้ครูต้องออกนอกห้องเรียนไปบ้าง แต่ก็ถือเป็นความจำเป็นที่จะต้องมีการอบรมโครงการนี้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งได้ขอให้ สพฐ.วางแผนจัดอบรมให้เกิดกระทบกับการเรียนการสอนในโรงเรียนต่างๆ ให้น้อยที่สุด

ในขณะเดียวกัน รัฐบาลได้จัดทำสื่อการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ ให้ประชาชนสามารถดาวน์โหลดไปใช้ได้ฟรี เพื่อสามารถเรียนรู้ภาษาอังกฤษได้ทุกที่ทุกเวลาผ่านแอพพลิเคชั่นต่างๆ คือ Echo English และ Echo Hybrid ที่มีการนำร่องไปใช้ในปีแรก 6 โรงเรียน และเป้าหมายพัฒนาไปยังโรงเรียนกว่า 10,000 แห่งในปีนี้

สำหรับการพัฒนาในโรงเรียน English Program/Mini English Program (EP/MEP) ปัจจุบันมีโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ EP จำนวน 134 แห่ง และโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ MEP จำนวน 214 แห่ง ก็จะได้รับการส่งเสริมการยกระดับความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษในสถานศึกษา โดยมีหลากหลายแนวทาง คือ เปิดทางเลือกการสอนภาษาอังกฤษในวิชาที่ใช้สื่อสาร กิจกรรม สังคม และสามารถสอนวิชาหลัก (วิทย์-คณิต) เป็นภาษาไทยได้ รวมทั้งการเทียบวุฒิ As Level เท่ากับมัธยมศึกษาปีที่ 6 และเทียบคะแนน IGCSE วิชาหลักกับผลการสอบ ONET โดยไม่ต้องสอบซ้ำอีกด้วย


 7. ภายในปี 2560 : ปรับระบบการสอบ O-NET ให้เป็นที่ยอมรับ และสะท้อนถึงคุณภาพของการจัดการศึกษา

จากผลการทดสอบ O-NET ปีการศึกษา 2558 ในระดับชั้น ป.6 รายวิชาภาษาไทย สังคมศึกษา ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ เมื่อได้จำแนกตามตามสังกัด พบว่ากลุ่มโรงเรียนสาธิต สกอ. มีผลการสอบทุกรายวิชาสูงกว่าทุกสังกัด ในขณะที่ผลการทดสอบของโรงเรียนเอกชน จะได้คะแนนสูงกว่า สพฐ. ทุกรายวิชาเช่นกัน

จากข้อมูลดังกล่าว กระทรวงศึกษาธิการได้นำมากำหนดเป็นนโยบายที่ต้องการปรับระบบการสอบ O-NET  โดยมีแนวทางที่สำคัญคือ เน้นการอก้อสอบ O-NET ให้สอดคล้องกับการเรียนการสอน, ให้มีการจัดทำ Item Card, การจัดทำ Test Blue Print, ให้ความสำคัญกับกระบวนการคัดเลือกคนออกข้อสอบและผู้ตรวจข้อสอบ, ให้มีการเฉลยข้อสอบและวิเคราะห์ผลสอบ O-NET เพื่อนำไปปรับปรุงคุณภาพการจัดการเรียนการสอน, การบูรณาการเรียนรู้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนการสอนกับหน่วยงานการศึกษาในจังหวัด เช่น ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาทั้ง 19 แห่งทั่วประเทศ ได้จัดรถนิทรรศการเคลื่อนที่ ท้องฟ้าจำลองเคลื่อนที่ไปยังโรงเรียนต่างๆ ฯลฯ

แนวทางข้างต้นจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ระบบการสอบ O-NET เป็นที่ยอมรับ และสะท้อนถึงคุณภาพของการจัดการศึกษาที่แท้จริง ซึ่งจะส่งผลให้นักเรียนสนใจการเรียนในห้องเรียน ไม่มุ่งเน้นไปที่การกวดวิชา เพราะข้อสอบี่ออกจะสอดคล้องกับเนื้อหาการเรียนการสอนในชั้นเรียน ที่สำคัญอีกประการคือ ผลการทดสอบสามารถนำไปใช้วางแผนการปรับปรุงคุณภาพการเรียนการสอนรายวิชาต่างๆ ให้สูงขึ้นต่อไป


 8. ภายใน 10 ปี : จะผลิตกำลังคน ให้ตรงกับความต้องการของประเทศ

จากข้อมูลของ World Economic Forum ในการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขัน (ด้านการศึกษา) พ.ศ. 2558-2559 (ข้อมูลเปรียบเทียบจาก 140 ประเทศ) พบว่าด้านการศึกษาในหมวดพื้นฐานเปรียบเทียบ 3 ปี (จาก 61 ประเทศ) ของไทย พบว่าตัวชี้วัดที่มีเกณฑ์ต่ำ ประกอบด้วย

  • ความสามารถด้านภาษาอังกฤษ

  • การสอนวิชาวิทยาศาสตร์

  • การจัดการศึกษาในมหาวิทยาลัย

  • การบริการการศึกษาไม่ตอบสนองความจำเป็นของธุรกิจ

นอกจากนี้ มีผลการสำรวจเกี่ยวกับจำนวนบัณฑิตที่ตกงานในปีนี้ จากจำนวนผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด 109,202 ราย พบว่ามีบัณฑิตที่ยังไม่ได้ทำงานและไม่ได้ศึกษาต่อ จำนวน 25,95 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 23.7 จึงถือเป็นหน้าที่โดยตรงของกระทรวงศึกษาธิการที่จะวางแผนผลิตกำลังคนให้สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ เพื่อไม่ให้เกิดการผลิตบัณฑิตจนล้นตลาด และจบออกมาตกงานจำนวนมาก

ทั้งนี้ ได้วางแผนดำเนินการโดยได้จัดทำฐานข้อมูล Demand/Supply Side ให้มีความทันสมัยภายใน 1 ปี โดยมอบให้คณะทำงานโครงการสานพลังประชารัฐด้านการยกระดับคุณภาพวิชาชีพ (E2) เป็นผู้จัดทำโปรแกรม พร้อมประสานให้คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) เป็นผู้สำรวจความต้องการแรงงานจากสถานประกอบการและผู้จ้างงานต่างๆ ในพื้นที่ของแต่ละจังหวัด จากนั้นจะให้มหาวิทยาลัยและอาชีวศึกษาสามารถ Reprofile ตนเองได้ภายใน 10 ปี

ขณะเดียวกัน ได้ดำเนินงานขยายโครงการทวิภาคี ทวิศึกษา ทวิวุฒิ สหกิจศึกษา KOSEN หลักสูตรอาชีพระยะสั้นในโรงเรียนสามัญและ กศน. เพื่อสนับสนุนการผลิตกำลังคนให้ตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมและการผลิตของประเทศ ทำให้มีจำนวนผู้เรียนในโครงการต่างๆ ดังกล่าว เพิ่มปริมาณอย่างรวดเร็ว

นอกจากนั้น ได้ส่งเสริมให้นักเรียนได้เรียนตามขีดความสามารถและความสนใจ โดยจัดการแนะแนวผู้ปกครองและนักเรียนได้ตัดสินใจเข้าเรียนด้านอาชีพในโรงเรียน สพฐ. ส่วนภาคประชารัฐโดย กรอ.อศ. และโครงการสานพลังประชารัฐด้านการยกระดับคุณภาพวิชาชีพ (E2) ก็ได้มีส่วนสนับสนุนแนวทางการผลิตกำลังคนด้านต่างๆ ไปพร้อมกันด้วย


 9. ผลิตคนดีออกสู่สังคม

กระทรวงศึกษาธิการได้มีแนวทางนโยบายที่จะผลิตผู้เรียนที่ดี มีคุณธรรม จริยธรรม เป็นคนดีออกสู่สังคม จึงได้กำหนดนโยบายและโครงการต่างๆ เช่น โรงเรียนคุณธรรม, การฟื้นฟูกิจกรรมลูกเสือ เนตรนารีในสถานศึกษา, โครงการลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ (ด้าน Heart), โครงการธนาคารขยะ, กิจกรรมการรักษาทรัพยากรธรรมชาติของสถานศึกษาทุกสังกัด, โครงการโตไปไม่โกง เป็นต้น


 10. ภายในปี 2560 : ซ่อมบ้านพักครูให้แล้วเสร็จทั้งหมด

กระทรวงศึกษาธิการได้สำรวจบ้านพักครูทั้งหมด พบว่ามีจำนวนทั้งสิ้น 44,359 หลัง ในจำนวนนี้อยู่ในสภาพที่ดีไม่ต้องซ่อมจำนวน 27,422 หลัง มีสภาพที่จำเป็นต้องซ่อมแซม จำนวน 12,928 หลัง นายกรัฐมนตรีจึงได้สั่งการให้กระทรวงศึกษาธิการเร่งทำการซ่อมแซมบ้านพักครูให้แล้วเสร็จทั้งหมดตาม Roadmap ของรัฐบาล ภายในปี 2560

ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการได้จัดเตรียมงบประมาณสนับสนุนไว้แล้วในปีงบประมาณนี้ โดย สพฐ.ได้ตั้งงบประมาณซ่อมแซมให้เสร็จสิ้นในปี 2560 ไว้แล้ว จำนวน 1,395 ล้านบาท ส่วนที่เหลืออีก 695 ล้านบาท จะเสนอขอแปรญัตติการใช้จ่ายงบประมาณต่อไป


 11. การแก้ปัญหาทุจริตและประพฤติมิชอบ

กระทรวงศึกษาธิการให้ความสำคัญต่อประเด็นการแก้ปัญหาการทุจริต คือ การป้องกันและมาตรการดำเนินการเพื่อป้องกันการทุจริตจากการวิ่งเต้นโยกย้าย การใช้ดุลยพินิจการลงโทษ และการตั้งคณะกรรมการสอบสวน

ขณะนี้มีเรื่องและคดีต่างๆ ที่คั่งค้างอยู่เป็นจำนวนมาก บางเรื่องใช้เวลานาน 6 ปี ผลการสอบสวนก็ยังไม่แล้วเสร็จ  จึงให้ความสำคัญในเรื่องนี้มาก


ารปลดล็อกโดยใช้มาตรา 44
เพื่อการขับเคลื่อนงานของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค

เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2559 ได้มีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 10/2559 เรื่อง การขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค และ 11/2559 เรื่อง การบริหารราชการของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค เนื่องจากโครงสร้างการบริหารจัดการแบบเดิมของกระทรวงศึกษาธิการในส่วนภูมิภาคนั้น จะพบว่ามีปัญหาเรื่องการบูรณาการในการดำเนินงานของระดับพื้นที่ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนในระดับต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งโรงเรียนในระดับเดียวกัน ภายในจังหวัดเดียวกันก็ยังไม่เชื่อมโยง อีกทั้งโรงเรียนในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.), โรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) และโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) จะหลุดวงโคจรจากการบริหารจัดการโดยสิ้นเชิง เนื่องจากต่างคนต่างบริหารจัดการ แม้ว่าทุกหน่วยงานจะได้รับแนวทางและนโยบายจากกระทรวงศึกษาธิการไปดำเนินการ แต่เมื่อถึงเวลาดำเนินการจริงจะไม่มีความเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน ตัวอย่างเช่น ในเขตพื้นที่การศึกษาของจังหวัดหนึ่ง อาจจะมีเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาและเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาจำนวนมาก ซึ่งแต่ละเขตก็จะไม่ได้หารือกัน ทำให้ยากต่อการบูรณาการระดับพื้นที่

แต่โครงสร้างการบริหารจัดการกระทรวงศึกษาธิการในส่วนภูมิภาคแบบใหม่นั้น จะมีคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค โดยมี รมว.ศึกษาธิการ เป็นประธานและมีผู้บริหารองค์กรหลักเป็นกรรมการ ซึ่งจะทำหน้าที่ขับเคลื่อนการศึกษาในส่วนภูมิภาค ด้วยการบริหารจัดการตรงไปที่สำนักงานศึกษาธิการภาค (ศธภ.) ที่ 1-18 กล่าวคือ จะทำการแต่งตั้งศึกษาธิการภาคขึ้นมา 18 คน และจะมีสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) ซึ่งประกอบด้วยคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน รวมทั้งสิ้น 77 จังหวัด เพื่อดูแลการศึกษาทุกระบบ ไม่ว่าจะเป็นสถานศึกษาปฐมวัย, สถานศึกษา กศน., สถานศึกษาอาชีวศึกษา, สถานศึกษาการศึกษาพิเศษ, สถานศึกษาเอกชน เป็นต้น รวมทั้งโรงเรียนในสังกัด อปท., กทม., ตชด. ด้วย ทำให้ขับเคลื่อนนโยบายในการบริหารงานให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันได้อย่างเป็นเอกภาพ ในขณะที่โครงสร้างแบบเดิมดำเนินการในส่วนนี้ได้ยาก

อีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เกิดปรับโครงสร้างในรูปแบบของจังหวัด คือ เพื่อแก้ไขปัญหาการที่มีช่วงการบังคับบัญชากว้าง ให้เกิดความเป็นเอกภาพในการบริหารจัดการศึกษา ให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารงานบุคคล ซึ่งมีขอบข่ายที่กว้างขึ้น เช่น การเปลี่ยนครูในโรงเรียนที่ขาดแคลนก็จะทำได้ดีขึ้น ส่วนผู้อำนวยการโรงเรียนก็มีตัวเลือกที่จะสามารถหมุนเวียนได้มากกว่าเดิม ทำให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารงานมากขึ้น


นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า นโยบายต่างๆ ของกระทรวงศึกษาธิการในปัจจุบัน เมื่อเทียบกับประเทศต่างๆ ถือว่ามีความครอบคลุมและไม่แพ้ชาติใดในโลก

ในขณะที่ รศ.นพ.กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้กล่าวย้ำถึงการขับเคลื่อนนโยบายไปสู่การปฏิบัติด้วยว่า ผู้บริหารทุกระดับในส่วนกลางต้องให้ความใส่ใจ นำกลับไปทบทวนในการทำงาน ซึ่งจะมีผลต่อการพิจารณาคัดเลือกเพื่อเลื่อนระดับที่สูงขึ้นต่อไปด้วย


บัลลังก์ โรหิตเสถียร : สรุป/รายงาน
ยุทธพงศ์ เลือกกลั่นดี : ถ่ายภาพ
3/8/2559