สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา –
-
ด้านการแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการในสถาบันอุดมศึกษา ต้องยอมรับว่าคำสั่งที่ออกมาเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการในสถาบันอุดมศึกษา เพราะที่ผ่านมากฎหมายให้สภาสถาบัน อุดมศึกษา มีอำนาจในการบริหารสูงสุด ทำให้เมื่อสถาบันอุดมศึกษามีปัญหาด้านการบริหารก็จะส่งผลกระทบต่อสังคม ในขณะที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ไม่สามารถเข้าไปช่วยดูแลหรือแก้ไขปัญหาได้ ซึ่งหลายครั้งที่เกิดปัญหา สกอ.ได้พยายามที่จะขอความร่วมมือจากสถาบันอุดมศึกษาต่าง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือดี แต่มีบางส่วนที่มีข้อโต้แย้งยืดเยื้อยาวนาน จนทำให้ไม่มีข้อยุติ ส่งผลต่อนิสิตนักศึกษาและคุณภาพการศึกษา ดังนั้นเมื่อมีคำสั่งออกมา เชื่อว่าการปรับแก้กฎกติกาการบริหารงานของอุดมศึกษาจะมีความราบรื่นและเรียบร้อยมากขึ้น และจะช่วยแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้เร็วขึ้น เพราะ สกอ. สามารถเข้าไปช่วยเหลือได้เมื่อเกิดปัญหาจากการบริหารงาน -
ความหมายของสถาบันอุดมศึกษา ย้ำว่าสถาบันอุดมศึกษาในตามความหมายของคำสั่งนี้ ครอบคลุมทั้งสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ ที่อยู่ในสังกัดและในกำกับดูแลของกระทรวงศึกษาธิการ และสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันอุดมศึกษาเอกชนด้วย -
การให้ได้มาซึ่งผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ซึ่งได้ระบุไว้ว่า “ในกรณีที่ปรากฏว่าการดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งผู้ดำรงตำแหน่งนายกสภาสถาบันอุดมศึกษา กรรมการสภาสถาบันอุดมศึกษา หรืออธิการบดี ก่อให้เกิดความขัดแย้ง ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ให้ รมว.ศึกษาธิการ ยับยั้งการแต่งตั้งหรือการดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งผู้ที่จะดำรงตำแหน่งดังกล่าว” หมายถึงการแต่งตั้งให้อยู่ในดุลยพินิจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่จะยับยั้งการแต่งตั้งหรือดำเนินการเพื่อให้ได้ซึ่งผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว ซึ่งจะต่างจากเดิมที่ให้อำนาจสภาสถาบันอุดมศึกษาในการตัดสินใจอย่างเต็มที่ -
หลักเกณฑ์การแต่งตั้ง ขอให้ศึกษาหลักเกณฑ์การแต่งตั้งบุคคลในตำแหน่งสำคัญ ๆ เพื่อจะได้ปฏิบัติตามได้อย่างถูกต้อง เช่น ผู้ดำรงตำแหน่งนายกสภาสถาบันอุดมศึกษา จะสามารถดำรงตำแหน่งนายกสภาสถาบันอุดมศึกษาในเวลาเดียวกันได้ไม่เกิน 2 แห่ง, ผู้ดำรงตำแหน่งนายกสภาสถาบันอุดมศึกษา 2 แห่งแล้ว อาจได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกสภาสถาบันอุดมศึกษาหรือกรรมการสภาสถาบันอุดมศึกษาอีกไม่เกิน 1 แห่ง เป็นต้น ซึ่งเป็นการเพิ่มความรับผิดรับชอบ (Accountability) ของนายกสภาสถาบันอุดมศึกษา -
การรับค่าตอบแทน เบี้ยประชุม หรือสิทธิประโยชน์อื่น โดยนายกสภาสถาบันอุดมศึกษา และกรรมการสภาสภาบันอุดมศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ ไม่มีสิทธิได้รับค่าตอบแทน เบี้ยประชุม หรือสิทธิประโยชน์อื่นใด นอกเหนือจากในฐานะนายกสภาสถาบันอุดมศึกษาและกรรมการสภาสภาบันอุดมศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา เว้นแต่เป็นไปตามระเบียบหรือหลักเกณฑ์ที่ รมว.ศึกษาธิการ กำหนดหรือให้ความเห็นชอบ ซึ่งข้อความในส่วนนี้มีเจตนารมณ์เพื่อป้องกันอิทธิพล/การมีผลประโยชน์ทับซ้อนระหว่างนายกสภาสถาบันอุดมศึกษาและกรรมการสภาสภาบันอุดมศึกษากับผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษาจนส่งผลต่อการบริหารจัดการ ดังนั้นผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวจึงควรได้รับเบี้ยประชุมเมื่อมาเข้าร่วมประชุม หรือได้รับค่าตอบแทนเหมาะสมตามการปฏิบัติภารกิจที่ได้รับมอบหมายอย่างเต็มที่ ทั้งนี้ สถาบันอุดมศึกษาแต่ละแห่งสามารถหารือร่วมกันเพื่อร่างระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับอัตราค่าตอบแทน เบี้ยประชุมต่างๆ ที่ควรจะได้รับ เพื่อให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของคำสั่งฉบับนี้ในทิศทางเดียวกัน และขณะนี้มีความร่วมมือกับภาคเอกชนมากขึ้น ดังนั้นการดำเนินงานของสถาบันอุดมศึกษาโดยเฉพาะการใช้จ่ายงบประมาณในเรื่องค่าตอบแทน เบี้ยประชุม หรือสิทธิประโยชน์อื่นใด ต้องโปร่งใสและเป็นไปตามระเบียบข้อบังคับที่สามารถตรวจสอบได้ -
การจัดการศึกษาตามมาตรฐานการอุดมศึกษาอย่างมีคุณภาพ ต้องยอมรับว่าคำพูดที่ว่า “เรียนง่าย จ่ายครบ จบแน่” เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงและได้ขยายวงออกไปในสถาบันอุดมศึกษาหลายแห่ง ซึ่งสร้างความสะเทือนใจให้กับชาวกระทรวงศึกษาธิการทุกครั้งเมื่อได้ยินผู้คนกล่าวถึง แม้ที่ผ่านมากระทรวงศึกษาธิการได้พยายามแก้ไขปัญหามาโดยตลอด และเคยสั่งปิดสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการศึกษาไม่เป็นไปตามมาตรฐานจนส่งผลต่อเสียหายต่อนักศึกษาไปแล้ว แต่ขณะนี้ก็ยังพบว่าเริ่มขยายไปสู่สถาบันอุดมศึกษาเอกชนด้วย จึงขอให้เอกชนอย่ามองว่าการจัดการศึกษาเป็นธุรกิจเอกชน แต่ให้มองว่าเป็นการช่วยรัฐจัดการศึกษา พร้อมขอให้สถาบันอุดมศึกษาของรัฐ สถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐ และสถาบันอุดมศึกษาเอกชน รับผู้เรียนและผลิตคนให้ตอบโจทย์ความต้องการของประเทศอย่างมีคุณภาพ ดังนั้น หากจะเปิดสอนหลักสูตรใดก็ควรคำนึงถึงความพร้อมและประสิทธิภาพในการจัดการเรียนการสอน มิใช่จะเปิดสอนสาขาอวกาศ แต่ไม่มีอาจารย์จบประจำหลักสูตรที่จบมาโดยตรง หรือสถาบันอุดมศึกษาบางแห่งเปิดสอนสาขาวิชาวิทยาการจัดการ โดยมีเนื้อหาหลักสูตรเช่นเดียวกับสาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ ฯลฯ จึงต้องการให้สถาบันอุดมศึกษาที่ผลิตคนในสาขาต่างๆ มาร่วมหารือกันเพื่อกำหนดมาตรฐานหลักสูตรเป็นไปในทิศทางเดียวกัน มีการ วัดคุณภาพและ ผลิตบัณฑิตอย่างมีคุณภาพ โดยขณะนี้ สกอ.เตรียมจัดการประชุมหารือเพื่อกำหนดคุณลักษณะของบัณฑิตที่มีคุณภาพในแต่ละระดับ เช่น ทักษะด้านภาษาไทย ภาษาอังกฤษ การคิดวิเคราะห์ การนำ Digital Economy มาใช้ เป็นต้น
-
ผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ ได้สอบถามถึงความชัดเจนและแนวทางดำเนินการเกี่ยวกับการได้รับสิทธิประโยชน์ของคณะกรรมการที่สภาสถาบันอุดมศึกษาแต่งตั้งขึ้นก่อนคำสั่งมีผลบังคับใช้ ซึ่งยังไม่ครบวาระและยังดำเนินงานไม่เสร็จสิ้น
(รมว.ศึกษาธิการ : คำสั่งเกี่ยวกับสิทธิค่าตอบแทน เบี้ยประชุม หรือสิทธิประโยชน์อื่น ไม่นำมาใช้บังคับกับผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งก่อนวันที่คำสั่งนี้มีผลใช้บังคับอยู่แล้ว และเมื่อกรรมการชุดเดิมหมดวาระลง คำสั่งนี้จึงจะมีผลบังคับใช้กับกรรมการชุดใหม่ อย่างไรก็ตามเพื่อความชัดเจนในทางปฏิบัติว่าส่วนใดรับได้หรือรับไม่ได้ จะมอบให้ สกอ.มีหนังสือแจ้งไปยังสถาบันอุดมศึกษาอีกครั้ง ส่วนจะรับในอัตราเท่าไรหรืออย่างไรบ้างนั้น ต้องการให้สถาบันอุดมศึกษาร่วมกันกำหนดอัตราสูงสุดที่ควรจะได้รับและนำเสนอขึ้นมา ดีกว่าที่จะเป็นการกำหนดจากส่วนนโยบายลงไปหาผู้ปฏิบัติ) -
ผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาเอกชน เสนอให้มีข้อสอบกลางสำหรับวัดความรู้ก่อนจบการศึกษาระดับสถาบันอุดมศึกษา เช่นเดียวกับวิชาชีพพยาบาลหรือเภสัชกรที่ต้องสอบเพื่อให้ได้รับใบอนุญาต ซึ่งจะช่วยแก้ไขคุณภาพมาตรฐานของบัณฑิตอีกทางหนึ่ง
(รมว.ศึกษาธิการ : เห็นด้วยกับข้อเสนอนี้ และที่ผ่านมากระทรวงศึกษาธิการเคยมีแนวคิดเกี่ยวกับการสอบจบ (Exit Exam) แต่สถาบันอุดมศึกษาหลายแห่งยังไม่เห็นด้วย เพราะคิดว่ามีมาตรฐานดีพออยู่แล้ว ซึ่งในอนาคตอาจจะนำกลับมาใช้ เพราะจะส่งผลดีต่อนิสิตนักศึกษา ทั้งในเรื่องของทักษะทางด้านภาษาทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ โดยเฉพาะภาษาอังกฤษที่ได้มีการอ้างอิงกรอบมาตรฐานการประเมินความสามารถทางภาษาจากประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป หรือ CEFR (Common European Framework of Reference for Languages), ทักษะด้านการคิดวิเคราะห์, ทักษะด้าน IT ตลอดจนคุณลักษณะในศตวรรษที่ 21 -
ผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐ (นอกระบบ) ในปัจจุบันมีกรรมการสภาสถาบันอุดมศึกษาที่ได้รับแต่งตั้งเป็นประธานคณะทำงานต่าง ๆ ซึ่งไม่สามารถดำเนินงานให้แล้วเสร็จตามเวลาที่กำหนด จะสามารถต่ออายุการทำงาน และจะต้องห้ามตามคำสั่งข้อ 3 วรรคท้ายหรือไม่
(รมว.ศึกษาธิการ : เจตนารมณ์ของการแต่งตั้งตำแหน่งต่าง ๆ ตามคำสั่งข้อ 3 เพื่อป้องกันการขัดผลประโยชน์ (Conflict of Interest) ดังนั้นสถาบันอุดมศึกษาสามารถตีความและพิจารณาได้เองว่า หากเป็นการก่อให้เกิดการขัดผลประโยชน์กัน ก็ควรจะตั้งประธานคณะทำงานใหม่ที่ไม่ได้มาจากกรรมการสภาสถาบันอุดมศึกษาเพื่อให้เป็นไปตามคำสั่งนี้)
สรุป/รายงาน
ยุทธพงศ์ เลือกกลั่นดี: ถ่ายภาพ
14/8/2559