ศึกษาธิการ – พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย พ.อ.ณัฐพงษ์ เพราแก้ว เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, รศ.นพ.กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ, นางสาวอาภรณ์ แก่นวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา และผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมหารือกับผู้แทนที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) รวมทั้งมหาวิทยาลัยของรัฐและมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ เกี่ยวกับการพัฒนาระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 25 สิงหาคม 2559 ณ ห้องประชุม MOC
ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยผลการประชุมในครั้งนี้ว่า รมว.ศึกษาธิการ ได้เสนอแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา เนื่องจากระบบการสอบคัดเลือกที่ใช้อยู่ในปัจจุบันมีหลากหลายรูปแบบและมีการสอบหลายครั้ง ทำให้เด็กต้องวิ่งรอกสอบและเป็นภาระในเรื่องค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง จึงได้หารือครั้งนี้เพื่อหาแนวทางการพัฒนาระบบให้ดีขึ้นกว่าเดิม ภายใต้หลักการการสร้างความเท่าเทียมให้กับเด็กทุกคนไม่ว่ารวยหรือจน การสอบต้องไม่เป็นภาระกับเด็กและผู้ปกครองมากเกินไป รวมทั้งเด็กจะต้องเรียนชั้น ม.6 ครบตามหลักสูตร ในขณะเดียวกันสถาบันอุดมศึกษาก็ต้องได้ผู้เรียนที่ตรงกับความต้องการและความถนัด ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการย้ายคณะได้
จากนั้นมหาวิทยาลัยจะเลือกเด็กตามลำดับคะแนนและกติกาที่แจ้งไว้ พร้อมส่งข้อมูลกลับมาที่ส่วนกลางเพื่อเข้าสู่ระบบเคลียริงเฮาส์ (Clearing House) ซึ่งจะมีอย่างน้อยสองรอบ กล่าวคือ รอบแรก เมื่อเด็กยื่นคะแนนสอบไปที่มหาวิทยาลัยแล้ว มหาวิทยาลัยก็จะส่งชื่อเด็กที่ผ่านการคัดเลือกเข้าสู่ระบบเคลียริงเฮาส์ และแจ้งให้เด็กทราบว่าสอบคัดเลือกได้กี่แห่ง พร้อมให้เลือกว่าจะเรียนตามลำดับหรือไม่ หากเด็กเลือกที่จะเรียน รายชื่อจะถูกตัดออกจากระบบเคลียริงเฮาส์รอบสองทันที แต่หากยังไม่เลือกเรียนที่ใด ก็สามารถยื่นคะแนนสอบเพื่อเข้าสู่ระบบเคลียริงเฮาส์ในรอบสองได้
หลังจากนี้ ทปอ.จะรวบรวมแนวคิดจากการหารือครั้งนี้ เพื่อพัฒนาซอฟต์แวร์ระบบสอบกลางให้สามารถใช้งานได้จริง จากนั้นจะหารือร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล และมหาวิทยาลัยเอกชน เพื่อให้มีความเข้าใจที่ตรงกันด้วย โดยระบบสอบกลางใหม่นี้จะมีการสอบรอบเดียว และมีระบบเคลียริงเฮาส์อย่างน้อยสองรอบ จะยังคงโอกาสในการเข้าศึกษาต่อของเด็กไว้ และคาดว่าจะรับเด็กเข้าเรียนได้ถึง 90% ส่วนเด็กที่เหลืออีก 10% สามารถสมัครเรียนโดยตรงกับมหาวิทยาลัยที่ยังมีที่นั่งว่างได้โดยตรงอีกครั้งหนึ่ง
ทั้งนี้ ในอนาคตอาจไม่จำเป็นต้องมี Admission อีกต่อไป และในขณะเดียวกันเมื่อใช้ระบบใหม่แล้ว จะไม่เปิดโอกาสให้มหาวิทยาลัยเปิดรับตรงเองอีก ทุกการทดสอบต้องอยู่ในห้วงเวลาที่กำหนด แต่หากมหาวิทยาลัยใดมีความจำเป็นต้องเปิดรับตรง ต้องชี้แจงเหตุผลความจำเป็นต่อรัฐมนตรี
นวรัตน์ รามสูต, บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน
ยุทธพงศ์ เลือกกลั่นดี : ถ่ายภาพ
25/8/2559