พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ ครั้งที่ 3/2559 เมื่อวันพุธที่ 31 สิงหาคม 25589 ณ ห้องประชุมอาคารสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา โดยมีประเด็นที่สำคัญสรุป ดังนี้
จากการที่กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศนโยบาย "ปี 2559 ปีแห่งความร่วมมือด้านการจัดการศึกษาสำหรับบุคคลที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ" เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2559 โดยมีจุดเน้นประกอบด้วย ด้านผู้เรียน 3 จุดเน้น คือ การให้บริการช่วยเหลือระยะแรกเริ่ม การจัดการศึกษาแบบเรียนรวม และการจัดการศึกษาเพื่อการมีงานทำ และจุดเน้นด้านครู คือ ส่งเสริมศักยภาพและพัฒนาครูคณาจารย์และบุคลากรทางการศึกษาและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง นั้น
ที่ประชุมเห็นว่าเพื่อให้การยกระดับคุณภาพชีวิตคนพิการและการจัดระบบการสนับสนุนทุกช่วงวัยแบบบูรณาการ จึงเห็นชอบแนวทางดำเนินการด้านต่างๆ ตามจุดเน้นดังกล่าว ดังนี้
-
แนวทางการจัดการเรียนรวม เน้นการส่งเสริมศักยภาพให้สถานศึกษาขั้นพื้นฐานทุกแห่งมีการจัดการเรียนรวมอย่างเป็นระบบ มีการพัฒนาหลักสูตรสำหรับเด็กพิเศษแต่ละประเภท จัดทำแนวการจัดการเรียนรู้ การพัฒนาระบบสนับสนุน การส่งเสริมศักยภาพบุคลากรและการทำงานร่วมกับผู้ปกครอง ซึ่งในส่วนของเด็กพิเศษกลุ่มที่มองไม่เห็นประจักษ์ ได้เสนอกลไกหลักสูตรห้องเรียนคู่ขนานและห้องเสริมการศึกษาด้วย
นอกจากนี้ ควรจัดให้มีระบบและกลไกการคัดกรองเด็กพิการในพื้นที่ด้วยเครื่องมือที่มีมาตรฐานและมีความรู้ความเข้าใจในการใช้เครื่องมือคัดกรอง พร้อมทั้งมีระบบการช่วยเหลือนักเรียนในเบื้องต้นตั้งแต่เริ่มเข้าเรียน เพื่อสร้างความเข้าใจและร่วมกันช่วยเหลือเด็กอย่างถูกต้อง รวมทั้งมีการจัดทำแผนพัฒนาการจัดการศึกษาตามกลุ่มประเภทความพิการทั้งระบบ รวมทั้งพัฒนาระบบการเชื่อมโยงตั้งแต่เด็กแรกเกิดเพื่อส่งต่อสถานศึกษา โดยเน้นการทำงานเชิงบูรณาการกับ 4 กระทรวงที่เกี่ยวข้อง คือ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกระทรวงแรงงาน -
แนวทางการจัดระบบสนับสนุน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีกองทุนส่งเสริมและพัฒนาการศึกษาสำหรับคนพิการ ซึ่งได้รับการจัดสรรจำนวน 150 ล้านบาท
/ปี นอกจากนี้จะมีการหารือกับ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในการ สนับสนุนงบประมาณสนับสนุนการดำเนินงานเ พิ่มเติม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตคนพิการทุกช่วงวัยด้วย -
แนวทางการจัดให้บริการ เพื่อสร้างโอกาสคนพิการให้ได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่ โดยมีการจัดทำระบบข้อมูลสารสนเทศที่สามารถเชื่อมโยงและสามารถใช้ร่วมกันกับหน่วยงานต่างๆ รวมทั้งมีการปรับปรุงสภาพแวดล้อมและสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อให้คนพิการสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ เช่น การบริการทางการแพทย์ กิจกรรมบำบัด ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เป็นต้น -
แนวทางการจัดทำค่าใช้จ่ายรายหัวที่ติดตามตัวเด็ก แม้ว่าการดำเนินงานที่ผ่านมาของสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ สพฐ. ได้ดำเนินการจัดสรรงบประมาณรายหัวนักเรียนศูนย์การศึกษาพิเศษอย่างต่อเนื่อง แต่ที่ประชุมเห็นว่าเมื่อองคาพยพที่จะร่วมดำเนินการแบบบูรณาการชัดเจนขึ้น จะเกิดการทำงานที่ผูกโยงแต่ละกระทรวงได้ พร้อมทั้งขอให้ สพฐ. จัดทำข้อมูลให้ชัดเจนเพื่อขอรับการพิจารณางบประมาณรายหัวเพิ่มตามเกณฑ์การคิดคำนวณของศูนย์การศึกษาพิเศษ ซึ่งคิดเป็น 5 เท่าของโรงเรียนปกติทั่วไป เช่น เงินค่าอุดหนุนรายหัวในระดับก่อนประถมศึกษา
สำหรับโรงเรียนปกติทั่วไปได้รับ 2,530 บาท แต่หากเป็น ศูนย์การศึกษาพิเศษจะขอรับเพิ่ม 5 เท่าของ Base Line หรือเป็นเงิน 12,650 บาท -
แนวทางการผลิตและพัฒนาครูที่สอดคล้องกับสถานการณ์ของผู้เรียนในปัจจุบัน ขณะนี้กำลังปรับปรุงหลักสูตรการอบรมครูผู้สอนและดูแลเด็กพิเศษให้เข้มข้นขึ้น เพื่อที่จะสามารถพัฒนาเด็กได้อย่างเป็นระบบ พร้อมทั้งจะมีแนวทางการส่งเสริมสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ครูผู้สอนเด็กพิเศษมีความมั่นคงในการทำงานมากขึ้น
ส่วนประเด็นสำคัญอื่นๆ นั้น ที่ประชุมเห็นชอบแผนการใช้จ่ายเงินกองทุน
บัลลังก์ โรหิตเสถียร : สรุป/รายงาน
31/8/2559