Home / ข่าวประชาสัมพันธ์ / ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี 363/2559 ศธ.เตรียมการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก ภายใต้โครงการ “โรงเรียนดีใกล้บ้าน”

ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี 363/2559 ศธ.เตรียมการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก ภายใต้โครงการ “โรงเรียนดีใกล้บ้าน”

WU6A4745 

พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังประชุมร่วมกับ พ.อ.ณัฐพงษ์ เพราแก้ว เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, ม.ล.ปริยดา ดิศกุล ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, นายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, นายบุญรักษ์ ยอดเพชร ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน รวมทั้งนายทนง โชติสรยุทธ์ คณะทำงานแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็ก เมื่อวันพุธที่ 31 สิงหาคม 2559 ที่ห้องประชุม MOC เพื่อร่วมวางแผนการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กภายใต้โครงการ "โรงเรียนดีใกล้บ้าน" ตั้งเป้าปีการศึกษา 2560 สำหรับโรงเรียนที่มีนักเรียนต่ำกว่า 20 คน จำนวนทั้งสิ้น 827 โรงเรียน จากนั้นจะประเมินผลเพื่อปรับปรุงการบริหารจัดการตามโครงการดังกล่าว สำหรับโรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียนมากกว่า 20 คนในปีต่อไป

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า จากการที่กระทรวงศึกษาธิการได้ประสานภาคเอกชนตามโครงการประชารัฐ ซึ่งมีขีดความสามารถในการจัดทำแผนที่ดิจิตอล ให้ช่วยจัดทำข้อมูลโรงเรียนเพื่อใช้ในการพิจารณาบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก ซึ่งมีอยู่จำนวน 15,000 โรงเรียนทั่วประเทศ โดยใช้ชื่อโครงการว่า “โรงเรียนดีใกล้บ้าน”

นายทนง โชติสรยุทธ์ ได้มานำเสนอข้อมูลต่างๆ ของโรงเรียนขนาดเล็กจากแผนที่ดิจิตอล อาทิ โรงเรียนที่จับคู่โรงเรียนขนาดเล็ก ในขณะเดียวกัน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้นำเสนอแนวทางการสร้างโรงเรียนแม่เหล็กตามโครงการโรงเรียนดีใกล้บ้าน พร้อมรายชื่อโรงเรียนแม่เหล็กจำนวนกว่า 300 โรงเรียนที่จะรองรับนักเรียนจากโรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียนต่ำกว่า 20 คนลงมา

จากการที่ได้รับฟังข้อมูลต่างๆ แล้ว ที่ประชุมได้ขอให้ สพฐ.นำข้อมูลทั้งสองส่วนไปพิจารณาดำเนินการ  คือ ข้อมูลโรงเรียนแม่เหล็กที่ได้รับการคัดเลือก เพื่อมาจับคู่ (Map) กับข้อมูลที่ภาคเอกชนนำเสนอในครั้งนี้ เพื่อพิจารณาว่าในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2560 จะมีโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ "โรงเรียนดีใกล้บ้าน" และโรงเรียนที่ต้องบริหารจัดการ มีจำนวนเท่าใด เพื่อจะได้วางแผนการดำเนินงานได้ทันก่อนการเปิดภาคเรียน

นอกจากนี้ ได้ย้ำเกี่ยวกับการใช้จ่ายงบกระตุ้นเศรษฐกิจของ สพฐ.ด้วยว่า ควรจะจัดสรรงบประมาณไปถึงโรงเรียนแม่เหล็กให้มากที่สุด เพื่อให้โรงเรียนแม่เหล็กปรับปรุงและเตรียมการจัดหาด้านสิ่งอำนวยความสะดวกและด้านบุคลากรให้มีความพร้อม ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของ “โรงเรียนที่มีความสมบูรณ์” ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์ที่ภาคเอกชนได้นำเสนอในครั้งนี้ เช่น จำนวนครูต้องครบชั้น ต้องมีภารโรง คุณสมบัติของผู้บริหารโรงเรียนจะเป็นอย่างไร สิ่งเหล่านี้ สพฐ.จะต้องเตรียมการให้เสร็จสิ้นเรียบร้อยภายใน 2 สัปดาห์ (ประมาณกลางเดือนกันยายนนี้)


รมว.ศึกษาธิการ กล่าวถึงเป้าหมายการดำเนินโครงการโรงเรียนดีใกล้บ้านในช่วงแรกว่า ตั้งเป้าจะบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียนต่ำกว่า 20 คนลงมา ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น 917 โรงเรียน ยกเว้นโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลหรืออยู่ในเกาะต่างๆ ซึ่งมีประมาณ 90 โรงเรียน ยังคงมีความจำเป็นต้องตั้งอยู่เช่นเดิม และพร้อมจะสนับสนุนการจัดการศึกษาให้มีความเข้มแข็งอย่างมีคุณภาพต่อไป ส่วนโรงเรียนอีก 827 แห่ง จะพยายามให้เข้าร่วมโครงการทั้งหมดภายในปีการศึกษา 2560 หลังจากนั้นจะประเมินผลการดำเนินงาน เพื่อปรับปรุงแก้ไขในการบริหารจัดการตามโครงการดังกล่าวในโรงเรียนขนาดเล็กที่มีจำนวนนักเรียนมากกว่า 20 คน ต่อไป


นวรัตน์ รามสูต, บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน
ยุทธพงศ์ เลือกกลั่นดี : ถ่ายภาพ
ขอบคุณภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต, สพป.ขอนแก่น เขต 4
1/9/2559