รศ.นพ.กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการประชุมหารือเกี่ยวกับแนวทางการเข้าสู่ตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษา ร่วมกับนายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, นายสมศักดิ์ ดลประสิทธิ์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา, นายชัยยศ อิ่มสุวรรณ์ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ, นายสุขุม เฉลยทรัพย์ ที่ปรึกษาสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (สำนักงาน ก.ค.ศ.), นายพินิจศักดิ์ สุวรรณรังค์ เลขาธิการ ก.ค.ศ. และผู้บริหารสำนักงาน ก.ค.ศ. เมื่อวันศุกร์ที่ 2 กันยายน 2559 ที่ห้องประชุมจันทรเกษม ว่าที่ประชุมได้พิจารณาหลักเกณฑ์ใหม่ในการเข้าสู่ตำแหน่งรองผู้อำนวยการและผู้อำนวยการสถานศึกษา เพื่อให้ได้ผู้บริหารที่มีประสบการณ์การทำงานอย่างรอบด้าน
ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า
โดยหลักเกณฑ์ใหม่ กำหนดว่าผู้ที่จะเข้าสู่ตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษา ต้องเป็นครูหรือศึกษานิเทศก์ที่มีประสบการณ์การทำงานอย่างน้อยเป็นเวลา 10 ปี มีวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี อยู่ได้ไม่เกิน 2 วาระ โดยเริ่มจากโรงเรียนขนาดเล็ก – ขนาดกลาง – ขนาดใหญ่ ตามลำดับ ซึ่งหลักเกณฑ์ใหม่ช่วยให้เกิดการเลื่อนระดับเป็นวงรอบตลอดปี และเกิดการสไลด์เป็นลำดับจากโรงเรียนขนาดเล็กไปขนาดกลางจนถึงขนาดใหญ่ ทำให้เมื่อตำแหน่งผู้อำนวยการว่างลง ก็สามารถเลื่อนคนขึ้นไปแทนที่ได้ทันที
ส่วนการสอบคัดเลือก จะสอบคัดเลือกเฉพาะผู้อำนวยการโรงเรียนขนาดเล็กเท่านั้น โดยจะต้องเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ใหม่ และผ่านการสอบทั้งภาค ก. และภาค ข.ก่อน หากสอบผ่าน จะได้ขึ้นบัญชีรายชื่อที่ส่วนกลาง และสามารถเลือกโรงเรียนที่ต้องการได้ไม่เกิน 4 ลำดับ เช่นเดียวกับการสอบเอ็นทรานซ์ จากนั้นคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) แต่ละจังหวัด จะพิจารณาคัดเลือกอีกครั้ง ซึ่งบางคนอาจสมัครซ้ำกันในหลายจังหวัด หรือบางจังหวัดอาจไม่มีผู้เหมาะสมเลย ดังนั้นหาก กศจ. ใดเห็นว่าไม่มีผู้เหมาะสม ก็สามารถกลับไปคัดเลือกจากบัญชีรายชื่อจากส่วนกลางได้อีกครั้ง ส่วนการสรรหาผู้บริหารสถานศึกษาขนาดกลางและขนาดใหญ่ จะเป็นการเข้าสู่ตำแหน่งโดยการประเมินผลการทำงาน และเลื่อนระดับขึ้นไปตามลำดับ
ทั้งนี้ จะไม่มีการสอบคัดเลือกในตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษา แต่จะให้ผู้อำนวยการเลือกครูในโรงเรียนที่มีประสบการณ์การสอนไม่ต่ำกว่า 6 ปี มาดำรงตำแหน่ง เพราะจะรู้ถึงวัฒนธรรมในโรงเรียนเป็นอย่างดี ที่จะช่วยในการบริหารงานของผู้อำนวยการอย่างราบรื่นต่อไป
ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวถึงระบบการประเมินผู้บริหารสถานศึกษาด้วยว่า จะประเมินจากตัวชี้วัดการปฏิบัติงานและประเมินการทำงานแบบ 360 องศาทุกๆ ปี ซึ่งเป็นการประเมินร่วมกัน 3 ฝ่าย คือ กศจ. ครู และผู้ปกครอง หากผลการประเมินออกมาดีและมีผลงานเชิงประจักษ์ ก็สามารถดำรงตำแหน่งต่อได้อีก 1 วาระ แต่หากผลการประเมินไม่ดี โดยเฉพาะในช่วงปีแรกที่ดำรงตำแหน่งนั้น
อย่างไรก็ตาม ในอนาคตผู้อำนวยการสถานศึกษาอาจขยับไปเป็นรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาได้ตามลำดับ ซึ่งน่าจะเป็นเรื่องดี เพราะจะได้ผู้ผ่านประสบการณ์การทำงานด้านการศึกษามาอย่างรอบด้าน จึงเชื่อว่าจะช่วยแก้ปัญหาเชิงระบบจากการเข้าสู่ตำแหน่งเร็วเกินไปด้วย ทั้งนี้ เมื่อได้จัดทำร่างต่างๆ เสร็จแล้ว จะเสนอหลักเกณฑ์ใหม่ดังกล่าวให้ที่ประชุม ก.ค.ศ. ได้พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป
นวรัตน์ รามสูต, บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน
นวรัตน์ รามสูต : ถ่ายภาพ
2/9/2559