เมื่อวันศุกร์ที่ 16 กันยายน 2559 พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธีมอบรางวัลโครงการ "Thailand Go Green" ปี 2558 พร้อมกำหนดหัวข้อประกวด "เมืองไทยไร้ขยะ" ในปี 2559 โดยมีบริษัท บางจากฯ และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ร่วมจัดงาน ณ โรงแรมรามา การ์เด้นส์
นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บางจากฯ ได้ร่วมกับ สพฐ. จัดการประกวดโครงการ Thailand Go Green ต่อเนื่องเป็นปีที่ 10 ครบรอบ 1 ทศวรรษในปี 2559 นี้
โดยในปีนี้ จัดการประกวดในหัวข้อ "เมืองไทยไร้ขยะ" เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนได้เรียนรู้ ร่วมคิดค้นนวัตกรรมสีเขียว พร้อมปรับพฤติกรรมในการบริโภคประจำวัน ลดการสร้างขยะใหม่ ในรูปแบบของสื่อต่างๆ ส่งเข้าประกวด ที่เน้นให้ความสำคัญของสิ่งแวดล้อมและการใช้ทรัพยากร และพลังงานทดแทน เพื่อช่วยลดปัญหาภาวะโลกร้อน สู่เป้าหมายการควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มเกิน 2°C ซึ่งมีนายวิจารย์ สิมาฉายา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ให้ความรู้และวิธีการในการ ลดขยะ ลดมลพิษ ลดโลกร้อน สร้างแรงบันดาลใจและแนวคิดแก่เยาวชนในการสร้างสรรค์ผลงานเข้าประกวด
นายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวเพิ่มเติมถึงการจัดงานว่า โครงการ Thailand Go Green เป็นกิจกรรมที่มุ่งให้ความรู้เรื่องของพลังงานทดแทน ไม่ว่าจะเป็นน้ำมันแก๊สโซฮอล์ ไบโอดีเซล ในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พลังงานแสงอาทิตย์ ลม และคลื่นใต้น้ำ ซึ่งเป็นนวัตกรรมใหม่ของพลังงานในประเทศไทย โดยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ปัญหาโลกร้อนมีความรุนแรงมากขึ้น สพฐ. และบางจากฯ จึงได้จัดกิจกรรมเกี่ยวกับการสร้างวินัยในการใช้ชีวิตประจำวัน เพื่อให้เยาวชนได้มีส่วนช่วยแก้ปัญหาโลกร้อนจากการกิน การอยู่ และการใช้ทรัพยากร ที่สามารถวัดผลได้ในเชิงประจักษ์ ซึ่งแต่ละโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการต่างทำผลงานออกมาได้อย่างน่าพอใจ
นายวิจารย์ สิมาฉายา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวถึงการลดขยะว่า มีขั้นตอนที่สำคัญ 3R คือ
-
Reduce คือ ใช้น้อย หรือลดการใช้ โดยใช้เท่าที่จำเป็น และหลีกเลี่ยงการใช้ฟุ่มเฟือย
-
Reuse คือ ใช้ซ้ำผลิตภัณฑ์ต่างๆ
-
Recycle คือ คัดแยกและรวบรวมวัสดุเพื่อนำไปสู่กระบวนการผลิตใหม่
พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ในฐานะที่เคยเป็นคณะกรรมการของบริษัทบางจากฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมาก่อน จึงเห็นว่าการทำงานที่ผ่านมาและปัจจุบันล้วนเกี่ยวข้องกับเรื่องสิ่งแวดล้อมทั้งสิ้น จึงไม่ลังเลใจที่จะมาร่วมงานในครั้งนี้ เพราะในอนาคตเราต้องการสร้างจิตสำนึกเรื่องสิ่งแวดล้อมให้เด็ก ๆ โดยเฉพาะเรื่องขยะซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมาก และถือเป็นวาระสำคัญที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติต้องการจะแก้ไขปัญหานี้ เนื่องจากช่วง 2 ปีที่ผ่านมาพบว่าประเทศไทยมีขยะตกค้างถึง 28 ล้านตัน หากเอามาเกลี่ยเป็นถนนจะได้ความยาวถึง 3 หมื่นกิโลเมตร แต่ในปัจจุบันขยะกลับเพิ่มขึ้นเป็น 30 ล้านตัน หรือเท่ากับเราคนไทยช่วยกันผลิตขยะออกมาวันละ 70,000 ตัน แต่ผ่านกระบวนการทำลายขยะต่าง ๆ ออกไปไม่ถึงครึ่ง ทำให้เหลือขยะตกค้างถึง 36,000 ตันต่อวัน แม้ว่ารัฐบาลพยายามแปลงขยะเป็นพลังงานไฟฟ้าและกระบวนการ 3R แล้วก็ตาม
เพราะฉะนั้น การที่เด็ก ๆ ได้ช่วยกันทำ 3R จึงเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว แต่ต้องการจะฝากเรื่องการสร้างวินัยไว้ด้วย แม้ในโรงเรียนจะมีการส่งเสริมเรื่องวินัยได้ดี แต่สังคมและชุมชนนอกโรงเรียนยังไม่มีวินัยมากนัก ทำให้เด็กสับสนถึงการปฏิบัติตามวินัย ต่างจากประเทศญี่ปุ่นที่มีวินัยสูงทั้งในและนอกโรงเรียน ตัวอย่างที่เห็นชัดคือเคยเป็นประธานเปิดงานกีฬาแห่งหนึ่ง ฝั่งตรงข้ามเป็นนักเรียนแปรอักษรบนอัฒจันทร์ แต่ในขณะที่นักเรียนพักลงจากอัฒจันทร์ กลับทิ้งขยะไว้เกลื่อนอัฒจันทร์ จึงได้บอกพิธีกรให้แจ้งเด็ก ๆ ว่าควรกลับมาเอาขยะลงไปทิ้งก่อน เพื่อการสร้างวินัยให้เกิดขึ้น
นอกจากนี้ ในช่วงที่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ร่วมสนับสนุนโครงการ "ขยะในโรงเรียน" ของ สพฐ. อย่างจริงจัง เพราะไม่ต้องการให้เป็นโครงการนำร่องอีกต่อไป แต่ควรเน้นขยายผลดำเนินการในเรื่องนี้อย่างจริงจัง ดังนั้นเมื่อเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จึงพร้อมจะร่วมมือสนับสนุนโครงการด้านสิ่งแวดล้อมกับบางจากฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ขอขอบคุณผู้บริหารโรงเรียนและครูทุกท่านที่มีส่วนสนับสนุนกิจกรรมตามโครงการ คาดหวังว่าพลังเล็ก ๆ ในการจัดงานครั้งนี้ จะกลายเป็นพลังอันยิ่งใหญ่ใน 5-10 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นการพูดตามความรู้สึกอย่างแท้จริง เพราะเมื่อเห็นหน้าเด็ก ๆ ซึ่งจะกลายเป็นอนาคตของประเทศแล้ว รู้สึกปลื้มใจ แม้การทำงานจะรู้สึกท้อแท้เป็นบางครั้งเมื่อเวลาเหน็ดเหนื่อย แต่เมื่อเห็นแววตาเด็ก ๆ และศักยภาพในตัวเด็ก ก็มีความศรัทธาที่จะมุ่งมั่นแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ของการศึกษา
|
โอกาสนี้ รมว.ศึกษาธิการได้มอบรางวัลแก่เยาวชนและโรงเรียนที่ชนะเลิศการประกวด Thailand Go Green ระดับประเทศ ปี 2558 ซึ่งจัดในหัวข้อ "แปลงขยะเป็นทอง"
โดยโรงเรียนที่ชนะเลิศ คือ โรงเรียนทองสวัสดิ์วิทยาคาร จ.แม่ฮ่องสอน (ซึ่งวันนี้รับดอกไม้แสดงความยินดี และจะเข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสต่อไป) และรองชนะเลิศอันดับ 1 คือ โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย จ.เชียงใหม่ ส่วนรองชนะเลิศอันดับที่ 2 คือ โรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัย จ.ลำปาง
และรางวัลการออกแบบถังขยะที่ใช้ได้จริง โรงเรียนที่ชนะเลิศ คือ โรงเรียนเด็กดีพิทยาคม จ.เชียงราย และรองชนะเลิศอันดับ 1 คือ โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 12 จ.เชียงใหม่
อนึ่ง การประกวดโครงการ Thailand Go Green เริ่มในปี 2550-2559 รวม 10 ปี มีโรงเรียนเข้าร่วมโครงการแล้วประมาณ 2,000 โรงเรียน และในแต่ละปีประชาชนจะได้รับความรู้ในหัวข้อที่เด็ก ๆ ออกไปรณรงค์ขยายความรู้ในเรื่องที่เกี่ยวกับพลังงานทดแทน มากกว่า 2.2 ล้านคน
|
|
บัลลังก์ โรหิตเสถียร : สรุป/รายงาน
ยุทธพงศ์ เลือกกลั่นดี : ถ่ายภาพ
16/9/2559
Post Views: 383