Home / ข่าวประชาสัมพันธ์ / ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี 419/2559 ครม.เห็นชอบแนวทางการสร้างความรับรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนการจัดสรรเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายพนักงานในสถาบันอุดมศึกษาและประกาศให้ปี 2559 เป็นปีแห่งความร่วมมือจัดการศึกษาบุคคลที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ

ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี 419/2559 ครม.เห็นชอบแนวทางการสร้างความรับรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนการจัดสรรเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายพนักงานในสถาบันอุดมศึกษาและประกาศให้ปี 2559 เป็นปีแห่งความร่วมมือจัดการศึกษาบุคคลที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ

cats1 

ผลการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันอังคารที่ 11 ตุลาคม 2559 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงศึกษาธิการ 3 เรื่อง คือ 1) เห็นชอบแนวทางการสร้างความรับรู้ความเข้าใจแก่ประชาชน 2) เห็นชอบการจัดสรรเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายบุคลากรที่ปรับเปลี่ยนสถานภาพเป็นพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา 3) รับทราบการประกาศให้ปี 2559 เป็นปีแห่งความร่วมมือด้านการจัดการศึกษาสำหรับบุคคลที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ

  • เห็นชอบแนวทางการสร้างความรับรู้ความเข้าใจแก่ประชาชน

จากการที่นายกรัฐมนตรีได้มีข้อสั่งการให้หัวหน้าส่วนราชการต่าง ๆ ให้ความสำคัญแก่การประชาสัมพันธ์ และการสร้างความรับรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ประชาชนเกี่ยวกับการปฏิบัติราชการของหน่วยงานที่อยู่ในความรับผิดชอบนั้น เพื่อให้การปฏิบัติเป็นไปในแนวทางเดียวกัน คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเห็นชอบแนวทางการสร้างความรับรู้ความเข้าใจแก่ประชาชน โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

ให้หัวหน้าส่วนราชการต่าง ๆ ได้แก่ ปลัดกระทรวง อธิบดี และหัวหน้าส่วนราชการที่มีฐานะเทียบเท่ากระทรวง กรม  ตลอดจนผู้บริหารสูงสุดของรัฐวิสาหกิจและองค์การมหาชน มีหน้าที่และความรับผิดชอบในการสร้างความรับรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ประชาชนเกี่ยวกับการปฏิบัติราชการของหน่วยงานที่อยู่ในความรับผิดชอบตามแนวทาง ดังนี้

1. ในการสร้างความรับรู้ความเข้าใจ ให้เน้นการชี้แจงผลดำเนินงานที่ได้ทำมาแล้ว โดยเฉพาะเรื่องที่อยู่ในความสนใจหรือเป็นการแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน หรือเป็นการแจ้งข่าวเพื่อเตือนหรือแจ้งมาตรการที่กำลังจะมีผลใช้บังคับและมีผลกระทบต่อประชาชน ตลอดจนการชี้แจงแก้ข่าว แจ้งข่าว เพื่อให้ประชาชนทราบว่าหน่วยงานหรือรัฐบาลจะดำเนินการเรื่องใด อย่างไร มุ่งหมายจะแก้ปัญหาใด การดำเนินการดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนอย่างไร ในกรณีมีการเผยแพร่ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง หรืออาจสร้างความเข้าใจผิดแก่ประชาชนทางสื่อต่าง ๆ ให้รีบชี้แจงว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร หากข้อมูลที่หน่วยงานมีอยู่เป็นเพียงส่วนหนึ่งซึ่งจะต้องใช้ประกอบกับข้อมูลจากต่างหน่วยงาน ให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งส่งข้อมูลให้โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี หรือกรมประชาสัมพันธ์รับไปดำเนินการชี้แจงในภาพรวมโดยด่วนต่อไป

2. ให้คำนึงถึงความถูกต้องของข่าวสาร ความรวดเร็วทันต่อความจำเป็นที่จะให้ประชาชนมีความรับรู้ความเข้าใจ และการสร้างความเชื่อมั่นในรัฐบาล จึงต้องดำเนินการในเชิงรุก และพิจารณาใช้สื่อรูปแบบต่าง ๆ ตามความจำเป็น เช่น โฆษกประจำหน่วยงาน การมีหนังสือหรือคำชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษร การให้สัมภาษณ์ การแถลงข่าว และที่สำคัญคือการใช้สื่อ Social Network ทั้งนี้ ให้สื่อของรัฐให้ความร่วมมือในการดำเนินการดังกล่าวและให้ขอความร่วมมือจากสื่อเอกชนตามความจำเป็นด้วย

3. ในกรณีมีปัญหาเกี่ยวกับการใช้สื่อหรือเครื่องมือสื่อสารเพื่อการสร้างความรับรู้ความเข้าใจ ให้หน่วยงานของรัฐขอคำแนะนำจากกรมประชาสัมพันธ์ และสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ตามความจำเป็น

4. ความสำเร็จในการสร้างความรับรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนตามแนวทางนี้ เป็นตัวชี้วัดสำคัญในการประเมินผลการปฏิบัติราชการของหัวหน้าส่วนราชการทุกแห่ง โดยให้ผู้บังคับบัญชา สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ และสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนประเมินจากปริมาณของการชี้แจง ความทันต่อสถานการณ์ในการชี้แจงและความรับรู้ความเข้าใจของประชาชนตามผลสำเร็จของหน่วยงานต่าง ๆ ที่ดำเนินการอยู่แล้วเป็นปกติในกรณีของรัฐวิสาหกิจและองค์การมหาชน ให้องค์กรกลางที่เกี่ยวข้องนำแนวทางนี้ไปใช้ในการประเมินผู้บริหารด้วย

ทั้งนี้ ให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ และสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน รายงานตัวชี้วัดและผลการประเมินเบื้องต้นตามแนวทางนี้ ให้นายกรัฐมนตรีทราบเป็นรายกระทรวงทุก 3 เดือน


  • เห็นชอบการจัดสรรเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ ดังนี้

1. เห็นชอบในหลักการให้จัดสรรเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายบุคลากรเพิ่มแก่สถาบันอุดมศึกษาที่เดิมเป็นส่วนราชการ และให้เปลี่ยนสถานภาพเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ โดยขอรับจัดสรรเพิ่มเฉพาะกรณีข้าราชการและลูกจ้างประจำที่ประสงค์จะเปลี่ยนสถานภาพเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย ในอัตราร้อยละ 60 จากอัตราเงินเดือนในขณะที่เปลี่ยนสถานภาพ ซึ่งประกอบด้วย

อัตราร้อยละ 40 จากอัตราเงินเดือน เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพประสิทธิผลการปฏิบัติงานของพนักงานมหาวิทยาลัย เนื่องจากจะต้องมีการกำหนดภาระงานที่สูงขึ้น มีการกำกับติดตามการปฏิบัติงาน และการสร้างผลงานทางวิชาการเพิ่มขึ้น

อัตราร้อยละ 20 จากอัตราเงินเดือน เป็นการจัดสวัสดิการต่าง ๆ ทดแทนตามกฎหมายให้แก่พนักงานมหาวิทยาลัย เช่น สวัสดิการค่ารักษาพยาบาล สวัสดิการการศึกษาบุตร สวัสดิการที่พักอาศัย กองทุนประกันสังคม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนเงินทดแทน กองทุนเงินชดเชย

ทั้งนี้ ให้สภาสถาบันอุดมศึกษาสามารถบริหารจัดการงบประมาณที่ได้รับดังกล่าวให้ครอบคลุมทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพและการจัดสวัสดิการให้แก่พนักงานมหาวิทยาลัยตามความเหมาะสมกับแต่ละสถาบันโดยขอให้ใช้หลักการจัดสรรเพิ่มเฉพาะกรณีข้าราชการและลูกจ้างประจำที่ประสงค์จะเปลี่ยนสถานภาพเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย ในอัตราร้อยละ 60 จากอัตราเงินเดือนในขณะที่เปลี่ยนสถานภาพในปีงบประมาณต่อ ๆ ไปด้วย

2. เห็นชอบในหลักการให้จัดสรรเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายบุคลากรเพิ่มเฉพาะกรณีข้าราชการและลูกจ้างประจำที่ประสงค์จะเปลี่ยนสถานภาพเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย ในอัตราร้อยละ 60 จากอัตราเงินเดือนในขณะที่เปลี่ยนสถานภาพให้แก่สถาบันอุดมศึกษาที่เดิมเป็นส่วนราชการ และจะเปลี่ยนสถานภาพเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ

สาระสำคัญของเรื่อง  ศธ. รายงานว่า มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐมีสถานภาพเป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการ ไม่เป็นรัฐวิสาหกิจ แต่เป็นนิติบุคคลที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและยังคงได้รับการจัดสรรงบประมาณแผ่นดินที่จำเป็นต่อการประกันคุณภาพการศึกษา การดำเนินงานของมหาวิทยาลัยที่สอดคล้องกับความต้องการของสังคม นโยบายของรัฐบาลและแผนการพัฒนาประเทศ โดยการบริหารจัดการจะสิ้นสุดที่สภามหาวิทยาลัย ทั้งนี้ พระราชบัญญัติของมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งได้กำหนดให้มีการตรวจสอบบัญชีโดยสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินหรือบุคคลภายนอกซึ่งสภามหาวิทยาลัยแต่งตั้ง โดยความเห็นชอบของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเพื่อนำเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

เนื่องจากมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ พัฒนามาจากส่วนราชการผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัยจึงมีหลายประเภท ประกอบด้วยข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พนักงานมหาวิทยาลัย พนักงานราชการ และลูกจ้าง จึงได้ให้สิทธิข้าราชการในการเลือกที่จะเปลี่ยนสถานภาพจากข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยโดยความสมัครใจ และยังคงได้รับเงินเดือน ค่าจ้าง สวัสดิการและสิทธิประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นไม่น้อยกว่าที่เคยได้รับอยู่ก่อนเข้าเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย


  • รับทราบ ศธ.ประกาศให้ปี 2559 เป็นปีแห่งความร่วมมือด้านการจัดการศึกษาสำหรับบุคคลที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบหลักการเพื่อประกาศเป็นนโยบาย “ปี 2559 ปีแห่งความร่วมมือด้านการจัดการศึกษาสำหรับบุคคลที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ” และผลการดำเนินงานของกระทรวงศึกษาธิการ

สาระสำคัญของเรื่อง

1. เพื่อให้การจัดการศึกษาสำหรับบุคคลที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ เป็นไปตามเป้าหมาย ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาบุคคลที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษทุกคน เข้าถึงบริการที่ครบทุกด้าน ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 10 บัญญัติให้การจัดการศึกษาต้องให้บุคคลที่มีสิทธิและโอกาสเสมอกัน ในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่าสิบสองปีที่รัฐต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย การจัดการศึกษาสำหรับบุคคลซึ่งมีความบกพร่องทางร่างกาย จิตใจ สติปัญญา อารมณ์ สังคม การสื่อสารและการเรียนรู้หรือมีร่างกายพิการ หรือทุพพลภาพหรือบุคคลซึ่งไม่สามารถพึ่งตนเองได้หรือไม่มีผู้ดูแลหรือผู้ด้อยโอกาส ต้องจัดให้บุคคลดังกล่าวมีสิทธิ และโอกาสรับการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นพิเศษ โดย ศธ. ได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดำเนินการ ดังนี้

จัดบริการช่วยเหลือระยะแรกเริ่ม (Early Intervention : EI) การคัดกรอง การประเมินความสามารถพื้นฐาน และส่งเสริมพัฒนาการบุคคลที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษทุกคนให้มีความพร้อมเข้าสู่การศึกษาขั้นพื้นฐาน

จัดให้บุคคลที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษทุกคนที่อยู่ในวัยเรียน ได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างมีคุณภาพและเสมอภาค โดยการจัดการศึกษาแบบเรียนรวม (Inclusive Education)

จัดให้บุคคลที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ มีความพร้อมในการดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุขและการประกอบอาชีพหลังจบการศึกษา โดยจัดการศึกษาเพื่อการมีงานทำ (Transition from School to work)

จัดอบรม สัมมนาให้ครู คณาอาจารย์และบุคลากรทางการศึกษา และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้รับการส่งเสริมศักยภาพและพัฒนาคุณภาพให้สามารถจัดการศึกษาสำหรับบุคคลที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษได้อย่างมีประสิทธิภาพ

2. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้ลงนามในประกาศกระทรวงศึกษาธิการ ให้ปี 2559 เป็นปีแห่งความร่วมมือด้านการจัดการศึกษาสำหรับบุคคลที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษแล้ว เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2559 และกระทรวงศึกษาธิการ ได้ดำเนินการตามแนวนโยบายดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง โดยมีผลสัมฤทธิ์การบริการความช่วยเหลือระยะแรกเริ่ม (Early Intervention : EI) สำหรับบุคคลที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษปรากฏตามภาคผนวกของเอกสารแนวทางความร่วมมือด้านการจัดการศึกษาสำหรับบุคคลที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ และอยู่ระหว่างการดำเนินการตามแผนงานที่กำหนดต่อไป

 


บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน
11/10/2559