ผลประชุมผู้บริหารองค์กรหลักและหน่วยงานในกำกับ
เมื่อวันพุธที่ 31 กรกฎาคม 2562 นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมผู้บริหารองค์กรหลักและหน่วยงานในกำกับกระทรวงศึกษาธิการ โดยมีคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช และนางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ตลอดจนผู้บริหารองค์กรหลักและหน่วยงานในกำกับ เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมราชวัลลภ
นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการเป็นกระทรวงที่มีความสำคัญต่อการผลิตและพัฒนากำลังคนของประเทศ การวางแผนการสร้างกำลังคนและมีฐานข้อมูลอย่างเป็นระบบและครบถ้วนจึงเป็นเรื่องสำคัญ ทั้งข้อมูลโรงเรียน ครู นักเรียน และบุคลากรทางการศึกษา ที่ต้องมีการตรวจสอบและปรับปรุงฐานข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน พร้อมทั้งตั้งเป้าหมายในการจัดเก็บและปรับปรุงฐานข้อมูลให้แล้วเสร็จภายในเวลาที่กำหนด โดยคำนึงถึงการจัดเก็บข้อมูลที่ถูกต้องตรงตามความเป็นจริง ตลอดจนมีระบบการรักษาความปลอดภัยของข้อมูล เพื่อให้การวางแผนการทำงานด้านต่าง ๆ มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ นโยบายต่าง ๆ ของกระทรวงศึกษาธิการจะเน้นคุณภาพและประสิทธิภาพของผู้บริหาร ครู นักเรียน และโรงเรียน จึงขอให้ผู้บริหารทุกหน่วยงานปรับการดำเนินงานให้มีความเหมาะสมตามบริบท ลดความซ้ำซ้อนในการทำงาน และทำให้การลงทุนในทรัพยากรมนุษย์มีความคุ้มค่าและเกิดคุณภาพสูงสุด อีกสิ่งหนึ่งที่จะละเลยไม่ได้ คือการมีกลไกพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาที่อยู่ในระบบ ให้มีทักษะสมรรถนะที่สูงขึ้นตามบริบทของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เพราะครูคือแม่พิมพ์ของเด็กทุกคน หากแม่พิมพ์ขรุขระก็จะทำให้เด็กที่เราผลิตออกมาเป็นกำลังคนที่ขรุขระไปด้วย ดังนั้นขอฝากความหวังขององคาพยพการศึกษา ให้ช่วยกันพัฒนาศักยภาพครูและบุคลากรอย่างเต็มที่ เพราะถ้าเราทำให้ครูสมบูรณ์แบบได้ เด็กก็จะมีคุณภาพไปด้วย
คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า จากการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2562 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญกับการศึกษาและการสร้างคนอย่างมาก โดยต้องการเห็นคนไทยในอนาคตเป็นพลเมืองที่ดี มีความเข้มแข็ง มีคุณภาพ และมีความพร้อมในการเป็นพลเมืองในศตวรรษที่ 21 ดังนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการจึงได้นำข้อหารือและข้อสั่งการต่าง ๆ มาประชุมหารือกับผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อสร้างความเข้าใจและนำนโยบายสู่การปฏิบัติ ทั้งในเรื่องของงบประมาณ ระยะเวลาที่จะใช้ในการปรับปรุงและพัฒนา กฎระเบียบและข้อกฎหมายต่าง ๆ เป็นต้น โดยมุ่งเน้น 4 ด้าน คือ การดำเนินงานที่มีคุณภาพ การประเมินผลและวัดผล การดำเนินงานที่ไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน และการพัฒนาครูในทุกระดับ
นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวภายหลังการประชุมว่า ในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) มีภารกิจสำคัญในการจัดการเรียนการสอนในสาขาวิชาชีพต่าง ๆ ที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกอบการและตลาดแรงงาน แต่ปัจจุบันประสบปัญหาการขาดแคลนครูที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะหรือครูช่าง เนื่องจากครูเหล่านี้ไม่มีใบประกอบวิชาชีพครู ซึ่ง รมว.ศธ. ได้เสนอแนวทางแก้ปัญหาดังกล่าว อาทิ การรับคนที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะมาเป็นครูช่าง และพัฒนาครูเหล่านี้ด้วยการสนับสนุนให้เรียนรู้เพิ่มเติมในบางรายวิชาตามหลักเกณฑ์ของการมีใบประกอบวิชาชีพครู เช่น วิชาความเป็นครู วิชาการวัดผลประเมินผล เป็นต้น โดยที่ครูช่างเหล่านี้อาจไม่ต้องเรียนครบทุกวิชาเพื่อให้ได้ใบประกอบวิชาชีพครูเนื่องจากใช้เวลานานเพื่อให้เรียนจบตามหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพครูซึ่งอาจจะไม่ทันต่อการจัดการเรียนการสอน
อรพรรณ ฤทธิ์มั่น: สรุป
นวรัตน์ รามสูต: เรียบเรียง
ยุทธพงศ์ เลือกกลั่นดี, อิทธิพล รุ่งก่อน : ถ่ายภาพ
กลุ่มประชาสัมพันธ์ สร.ศธ.: รายงาน
31/7/2562