ศึกษาธิการ –
เมื่อวันอังคารที่ 5 เมษายน 2559 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงศึกษาธิการ 3 เรื่อง คือ
. เห็นชอบการประเมินส่วนราชการและข้าราชการพลเรือน
-
อนุมัติ
แต่งตั้งประธานคณะกรรมการบริหารโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ -
เห็นชอบการประเมินส่วนราชการและข้าราชการพลเรือน
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการประเมิน โดยแบบประเมินข้าราชการฯ และแบบประเมินส่วนราชการ
ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และให้นำแบบประเมินนี้ไปใช้ในการประเมินข้าราชการและการประเมินส่วนราชการ ในรอบการปฏิบัติงานตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2558 โดยมีสาระสำคัญดังนี้ 1) แบบประเมินข้าราชการ เป็นแบบประเมินที่มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาและปรับปรุงประสิทธิภาพการปฏิบัติงาน ตลอดจนส่งเสริมและสนับสนุนศักยภาพในการเป็นนักบริหารของผู้รับการประเมิน โดยผู้รับการประเมิน ได้แก่ ข้าราชการพลเรือนประเภทบริหารระดับสูง และผู้ประเมินมี 3 ฝ่าย ได้แก่ (1) นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (2) รัฐมนตรีว่าการหรือรัฐมนตรีช่วยว่าการ และ (3) เลขาธิการ ก.พ.
การประเมินข้าราชการตามแบบประเมินนี้ ประกอบด้วย 5 องค์ประกอบ (ผู้รับการประเมินจะถูกประเมินอย่างน้อย 3 องค์ประกอบ) ได้แก่
1) ประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานตามหลักภารกิจพื้นฐาน งานประจำ งานตามหน้าที่ปกติ หรืองานตามหน้าที่ความรับผิดชอบหลัก งานตามกฎหมาย กฎนโยบายของรัฐบาล หรือมติคณะรัฐมนตรี (Function Based)
2) ประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานตามหลักภารกิจยุทธศาสตร์แนวทางปฏิบัติรูปภาครัฐ นโยบายเร่งด่วน หรือภารกิจที่ได้รับมอบหมายเป็นพิเศษ (Agenda Based)
3) ประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานตามหลักภารกิจพื้นที่/ท้องถิ่น ภูมิภาค จังหวัด กลุ่มจังหวัด หรือการบูรณาการการปฏิบัติงานหลายพื้นที่หรือหลายหน่วยงาน (Area Based)
4) ประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานตามหลักความรู้ความสามารถ ทักษะ สมรรถนะที่ใช้ในการปฏิบัติงานตามที่ ก.พ. กำหนด (Competency Based)
5) ศักยภาพในการเป็นนักบริหารเพื่อการพัฒนาประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ นโยบายที่สำคัญของรัฐบาล และแผนหลักในการพัฒนาประเทศด้านต่าง ๆ (Potential Based)
ฝ่ายบริหารหรือผู้บังคับบัญชาสามารถนำผลการประเมินไปใช้ประกอบการพัฒนา ปรับปรุงหรือส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้รับการประเมินมีประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานอยู่ในระดับมาตรฐาน หรือสูงกว่าระดับมาตรฐาน ตลอดจนสามารถนำผลการประเมินไปใช้ประกอบการบริหารทรัพยากรบุคคลของข้าราชการระดับบริหารสูง
2) แบบประเมินส่วนราชการ เป็นแบบประเมินที่มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาระบบการดำเนินงานของส่วนราชการในการขับเคลื่อนภารกิจสำคัญของรัฐบาล การแก้ไขปัญหาและการอำนวยการความสะดวกแก่ประชาชน และเพื่อเพิ่มศักยภาพของส่วนราชการในการสนับสนุนการพัฒนาประเทศ โดยส่วนราชการที่รับการประเมิน ได้แก่ ส่วนราชการระดับกระทรวงและกรม และผู้ประเมินคือ (1) นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (2) รัฐมนตรีว่าการหรือรัฐมนตรีช่วยว่าการ และ (3) เลขาธิการ ก.พ.ร.
การประเมินส่วนราชการตามแบบประเมินนี้ ประกอบด้วย 5 องค์ประกอบ (ส่วนราชการจะถูกประเมินอย่างน้อย 3 องค์ประกอบ) ได้แก่
1) ประสิทธิภาพในการดำเนินงานตามหลักภารกิจพื้นฐานงานประจำ งานตามหน้าที่ปกติ หรืองานตามหน้าที่ความรับผิดชอบหลัก งานตามกฎหมาย กฎนโยบายของรัฐบาล หรือมติคณะรัฐมนตรี (Functional Based)
2) ประสิทธิภาพในการดำเนินงานตามหลักภารกิจยุทธศาสตร์แนวทางปฏิรูปภาครัฐ นโยบายเร่งด่วน หรือภารกิจที่ได้รับมอบหมายเป็นพิเศษ (Agenda Based)
3) ประสิทธิภาพในการดำเนินงานตามหลักภารกิจพื้นที่/ท้องถิ่น ภูมิภาค จังหวัด กลุ่มจังหวัด หรือการบูรณาการการปฏิบัติงานหลายพื้นที่หรือหลายหน่วยงาน (Area Based)
4) ประสิทธิภาพในการบริหารจัดการและพัฒนานวัตกรรมในการบริหารจัดการระบบงาน งบประมาณ ทรัพยากรบุคคล และการให้บริการประชาชนหรือหน่วยงานของรัฐ (Innovation Based)
5) ศักยภาพในการเป็นหน่วยงานที่มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาประเทศ ตามแผนหรือนโยบายระดับชาติ นโยบายที่สำคัญของรัฐบาล (Potential Based) โดยให้ผู้ประเมินนำผลการประเมินส่วนราชการนั้น ซึ่งประเมินโดยองค์กรภายในและภายนอกประเทศที่ได้รับความเชื่อถือมาประกอบการประเมินด้วย
ผลการประเมินส่วนราชการสามารถนำไปใช้ในการพัฒนาและปรับปรุงเพื่อยกระดับการให้บริการประชาชนและการบริหารจัดการของส่วนราชการให้อยู่ในระดับมาตรฐานสากล และนำไปสู่ความเป็นส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐที่มีการดำเนินงานอยู่ในระดับเหนือมาตรฐานสากลในอนาคต
3) การประเมินข้าราชการและส่วนราชการ นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการ หรือรัฐมนตรีช่วยว่าการ เลขาธิการ ก.พ. (ผู้ประเมินข้าราชการ) และเลขาธิการ ก.พ.ร. (ผู้ประเมินส่วนราชการ) สามารถดำเนินการประเมินได้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2559 โดยนำผลการปฏิบัติงานของข้าราชการหรือผลการดำเนินงานส่วนราชการ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2558 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2559 มาประกอบการประเมิน ซึ่งข้าราชการและส่วนราชการผู้รับการประเมินอาจนำเสนอรายงานผลการปฏิบัติงานหรือผลการดำเนินงานที่สอดคล้องกับรูปแบบการประเมินต่อผู้ประเมินเพื่อประกอบการพิจารณาประเมิน ทั้งนี้ เลขาธิการ ก.พ. และ เลขาธิการ ก.พ.ร. ซึ่งเป็นผู้ประเมินข้าราชการและส่วนราชการตามลำดับ สามารถประเมินโดยนำความเห็นของผู้บังคับบัญชา ผู้ร่วมงาน ผู้ใต้บังคับบัญชาหรือผู้เกี่ยวข้องอื่น มาประกอบการประเมินเพื่อให้การประเมินครอบคลุมในทุกมิติได้ด้วย
4) ผู้ประเมินสามารถปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขในรายละเอียด เพื่อให้สอดคล้องกับการปฏิบัติงานของข้าราชการและการดำเนินงานส่วนราชการ และเพื่อให้ตรงตามภารกิจที่ได้รับมอบหมาย โดยนายกรัฐมนตรีอาจปรับปรุงเปลี่ยนแปลงแบบประเมินฯ ตามที่เห็นสมควร
5) การประเมินข้าราชการพลเรือนระดับต่ำกว่าบริหารสูง รวมถึงข้าราชการทหาร ข้าราชการตำรวจและการประเมินบุคลากรหรือหน่วยงานของรัฐประเภทอื่น ให้ผู้มีหน้าที่ประเมินกระทรวงกลาโหมและสำนักงานตำรวจแห่งชาติแล้วแต่กรณี นำแบบประเมินฯ ทั้งสองประเภทนี้ไปปรับใช้ให้สอดคล้องกับกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง
อนุมัติ MoU ด้านการศึกษากับรัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักร (ด้าน ส่งเสริมการสอนภาษาอังกฤษ, การเสริมสร้างความร่วมมือ STEM Education, การเพิ่มช่องทางการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ภาษาอังกฤษแก่แรงงานไทย) คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ ดังนี้
1) อนุมัติการจัดทำและลงนามบันทึกความเข้าใจ ว่าด้วยความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักร ทั้งนี้ หากก่อนลงนามมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขบันทึกความเข้าใจดังกล่าว ในส่วนที่มิใช่สาระสำคัญ ให้หารือกับกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศเพื่อพิจารณาดำเนินการในเรื่องนั้น ๆ โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง
2) อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ ว่าด้วยความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักร
ทั้งนี้ สาระสำคัญของบันทึกความเข้าใจดังกล่าว
มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการสอนภาษาอังกฤษ และยุทธศาสตร์ของประเทศไทยในด้านดังกล่าว โดยเน้นการพัฒนาหลักสูตรและการประเมินผลการศึกษา การส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาอังกฤษในประเทศไทย การเสริมสร้างความร่วมมือในขอบข่ายวิชาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ (STEM Education) การเพิ่มช่องทางการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ภาษาอังกฤษในเชิงลึกแก่แรงงานในหน่วยงานหลักของไทยที่ทำงานในสายอาชีพและเทคนิค โดยจะมีผลบังคับใช้เป็นเวลา 3 ปี เมื่อลงนาม และหลังจากนั้นจะได้รับการต่ออายุออกไปอีกช่วงละ 3 ปี โดยอัตโนมัติ
อนุมัติ แต่งตั้งประธานคณะกรรมการบริหารโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอแต่งตั้ง รองศาสตราจารย์ศักรินทร์ ภูมิรัตน เป็นประธานกรรมการในคณะกรรมการบริหารโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ แทนรองศาสตราจารย์ คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ ที่พ้นจากตำแหน่ง เนื่องจากมีอายุครบ 70 บริบูรณ์ เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2559 และให้ผู้ที่ได้รับแต่งตั้งแทนอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการซึ่งได้แต่งตั้งไว้แล้ว ซึ่งจะครบวาระการดำรงตำแหน่งในวันที่ 27 กรกฎาคม 2560 ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 5 เมษายน 2559 เป็นต้นไป
บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน
6/4/2559