ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี จ.นนทบุรี –
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เป็นโอกาสอันดีที่ได้มาเจอครูเป็นจำนวนมากในครั้งนี้ จึงขอขอบคุณทุกคนที่ช่วยกันทำงานขับเคลื่อนการศึกษาอย่างเต็มที่ พร้อมทั้งขอให้ครูคืนความสุขให้นักเรียนและผู้ปกครอง โดยร่วมกันปฏิรูปการศึกษาเพื่อให้มีผลสัมฤทธิ์ที่ดีขึ้น รวมทั้งคืนความสุขให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ด้วย เพื่อร่วมกันปฏิรูปประเทศให้มีความสุขและมีความอบอุ่นมากขึ้น ซึ่ง คสช. สัญญาว่าจะคืนความสุขให้กับประชาชนและประเทศชาติในการเข้ามาแก้ไขปัญหาเพื่อปฏิรูปประเทศทุกด้าน
สำหรับประเด็นที่นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา โดยสรุปดังนี้
– ความบกพร่องของการศึกษา ช่วงเวลาที่ผ่านมาแม้ผู้บริหารและครูทุกคนจะทำงานกันอย่างเต็มที่ แต่ก็ยังไม่มีความชัดเจนในระดับนโยบาย ทั้งยังมีประเด็นด้านการเมืองและผู้ที่เข้ามาทำหน้าที่บริหาร เพราะการบริหารการศึกษาจะใช้การเมืองนำเพียงอย่างเดียวคงไม่ได้ จะต้องใช้ทั้งหลักนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ และความรู้ด้านวิชาการต่างๆ มาประยุกต์ใช้ โดยน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาเป็นแนวทางปฏิบัติ ซึ่งประกอบด้วย 3 ห่วง ได้แก่ ความพอประมาณ ความมีเหตุผล การมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว และ 2 เงื่อนไข ได้แก่ เงื่อนไขความรู้ และเงื่อนไขคุณธรรม ซึ่งนอกจากจะเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีให้กับประเทศชาติ ประชาชน และสังคมแล้ว ยังส่งผลให้องค์กร เขตพื้นที่การศึกษา และโรงเรียน ตลอดจนบุคลากรเป็นผู้มีจริยธรรมด้วย ซึ่งจะทำให้ประเทศชาติและสังคมเกิดความสงบสุข ประชาชนมีความสุขอย่างยั่งยืน โดยขอให้ทุกคนร่วมขับเคลื่อนประเทศไปด้วยกัน เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และประชาชน
– ผลการจัดอันดับด้านการศึกษา ต้องยอมรับว่าเรามีปัญหาด้านการศึกษาที่ไม่ได้รับการแก้ไขมานาน โดยเฉพาะในเรื่องของคุณภาพการศึกษาที่ยังไม่น่าพึงพอใจมากนัก เช่น ผลการจัดอันดับของ World Economic Forum ปี พ.ศ.2557-2558 จาก 144 ประเทศทั่วโลก ไทยอยู่อันดับที่ 90, ส่วนในปี พ.ศ.2558-2559 ไทยอยู่ในอันดับที่ 89 แต่ก็เชื่อมั่นว่าปีต่อไปอันดับต้องดีขึ้น ดังนั้น ครูจะต้องทำให้ได้เพื่อประเทศชาติและเพื่อศักดิ์ศรีความเป็นครู โดยขอให้นำข้อมูลที่ได้จากการจัดอันดับมาพิจารณาปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่องต่างๆ พร้อมทั้งเติมเต็มในส่วนที่ขาดด้วย
– การพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millennium Development Goals: MDGs) จากการที่ได้เข้าร่วมการประชุมสหประชาชาติระดับผู้นำเพื่อรับรองวาระการพัฒนาภายหลังปี ค.ศ. 2015 และการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 70 ซึ่งได้มีการกำหนดความสำเร็จในการดำเนินการพัฒนาแต่ละด้านให้ทุกประเทศบรรลุเป้าหมายแห่งสหัสวรรษทุก 15 ปี โดยในปี พ.ศ.2543 มีเป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา คือ การให้เด็กทุกคนสำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษา แต่ประเทศไทยยังไม่สามารถทำได้ และในสหัสวรรษต่อไปได้มีการกำหนดให้ “จัดการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเป็นธรรม ส่งเสริมโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต” ดังนั้น เรามีงานที่จะต้องดำเนินการอีกมากมาย ทั้งการเติมเต็มส่วนที่ยังไม่ครบถ้วนและเตรียมการที่จะทำต่อไปในอนาคต จึงจำเป็นต้องเดินหน้าตามแผนการปฏิรูปประเทศ พร้อมทั้งขอให้มีการรวบรวมข้อมูล เอกสารจากการประชุมต่าง ๆ งานวิจัย เพื่อนำมาศึกษาทบทวนและปรับใช้ในการทำงานในแต่ละส่วนให้เกิดประสิทธิภาพอย่างยั่งยืนต่อไป
– การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในห้วง 20 ปีข้างหน้า รัฐบาลกำลังเดินหน้าประเทศตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ในขณะเดียวกันก็เดินหน้าประเทศในระยะที่ 1 ของรัฐบาลและ คสช. ซึ่งได้กำหนดวางพื้นฐานและดำเนินการตามแผนปฏิรูปทุก 5 ปี ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ ดังนั้นในส่วนของการศึกษาก็ต้องมีการวางแผนและมี Road map เป็นแนวทางในการดำเนินงานแบ่งเป็นระยะที่ 1 ระยะที่ 2 ระยะที่ 3 และแผนระยะต่อไปที่สอดคล้องกับ Road map ของรัฐบาล เพื่อให้สามารถดำเนินการพัฒนาการศึกษาตามแผนปฏิรูป 5 ปี สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ของประเทศไทยให้ได้
– การประชุมหารือเชิงยุทธศาสตร์ระดับรัฐมนตรีศึกษาของซีมีโอ พบว่าปัญหาหนึ่งของการศึกษาคือ ห้องเรียนบางแห่งสร้างตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 ครูได้รับการพัฒนาจากหลักสูตรในศตวรรษที่ 20 แต่เด็กจะต้องได้รับการพัฒนาเด็กทักษะที่เหมาะสมในศตวรรษที่ 21 หรือไทยแลนด์ 4.0 จึงจำเป็นต้องสร้างให้ครู บุคลากร และเด็ก มีความอยากรู้อยากเห็น มีความคิดสร้างสรรค์และลองทำในสิ่งใหม่ๆ โดยมีการทบทวนสิ่งที่ต้องการจะทำ มีสิ่งใดที่ทำสำเร็จแล้ว หรือสิ่งใดที่ยังไม่สำเร็จบ้าง เพื่อจะได้รู้ความก้าวหน้าของตัวเองและขอให้เป็นเรื่องที่ไม่ขัดแย้งกับผู้อื่นด้วย
– การพัฒนาผู้เรียนให้มีทักษะในศตวรรษที่ 21 ระบบการศึกษาต้องเปลี่ยนจากการสรรหาความรู้ให้นักเรียน เป็นการพัฒนาให้เด็กมีทักษะในการแสวงหาความรู้และการเรียนด้วยตัวเอง ที่มีการเชื่อมโยงกับชีวิตจริง ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ ทำให้เด็กกล้าฝันและมีจุดมุ่งหมายในอนาคต มีการทำงานเป็นทีม บูรณาการการทำงาน รวมทั้งนำเทคโนโลยีที่ทันสมัย ทั้งโทรศัพท์มือถือซึ่งขณะนี้ไทยมีกว่า 96 ล้านเครื่อง รวมทั้งเว็บไซต์อีกจำนวนมหาศาลเพื่อนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับการศึกษา เช่น ใช้เป็นสื่อเรียนรู้ร่วมกันระหว่างครูกับนักเรียน, ใช้เป็นเครื่องมือค้นคว้าข้อมูลในกิจกรรมลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้, การเผยแพร่วิชาการผ่าน YouTube เป็นต้น
– งบประมาณด้านการศึกษา ประเทศไทยลงทุนด้านการศึกษาสูงมากคิดเป็นร้อยละ 20 ของงบประมาณทั้งหมดของประเทศที่มีจำนวนประมาณ 5 แสนล้านบาท ถือว่าสูงกว่าประเทศสิงคโปร์ ซึ่งจัดการศึกษาได้ดีกว่าเรา ดังนั้น ควรมีการทบทวนว่าสิ่งที่ได้มาเพียงพอหรือยัง ต้องมองในภาพรวมด้วย จากนั้นจึงมาย้อนดูตัวเอง หากไม่เพียงพอรัฐบาลก็ต้องจัดสรรเพิ่มเติมให้ได้ แต่ก็ต้องแลกกับการทุ่มเทเสียสละในด้านต่าง ๆ
– การจัดการศึกษาของรัฐบาล ยืนยันว่ารัฐบาลจะสนับสนุนการศึกษาขั้นพื้นฐานฟรี 15 ปี โดยเริ่มตั้งแต่ระดับปฐมวัยจนถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย หรือต่ำกว่าประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) รวมทั้งดูแลผู้ประสบปัญหาที่ต้องออก
– เด็กต้องอ่านออกเขียนได้ ในอดีตคนที่ไม่รู้หนังสือ คือคนที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ แต่ในศตวรรษที่ 21 หมายความรวมถึงคนที่เรียนรู้ไม่เป็น แสวงหาความรู้ไม่เป็น ทำงานด้วยตัวเองไม่ได้ จึงจำเป็นต้องสอนให้เด็กคิดเป็น มีกระบวนการเพื่อสื่อสารให้ผู้อื่นเข้าใจ โดยเฉพาะการเรียนรู้ภาษาไทยไม่ควรมุ่งท่องจำเพียงอย่างเดียว แต่ต้องสอนให้รู้และเข้าใจถึงแก่นแท้ โดยบูรณาการการเรียนการสอน เนื้อหา ตำรา ICT และสื่ออุปกรณ์ต่างๆ ที่สำคัญคือไม่ควรจะสอนเพื่อสอบเพียงอย่างเดียว
– เรียนแล้วไม่มีงานทำ เรายังคงมีปัญหาผู้จบระดับปริญญาตรีกว่าร้อยละ 30–40 ไม่มีงานทำ เนื่องจากทำงานไม่ได้ เพราะการศึกษาสร้างคนไม่ตรงกับความต้องการ หรือผลิตในบางสาขามากเกินไป บางสาขาจึงต้องนำคนจากต่างประเทศเข้ามาทำงาน และเมื่อเป็นประชาคมอาเซียนแล้ว ยิ่งจะส่งผลให้มีแรงงานต่างชาติเข้ามามากขึ้น
– คนไทยควรรู้ประวัติศาสตร์ไทย มอบกระทรวงศึกษาธิการจัดทำสื่อเพื่อทำให้คนไทยรู้ประวัติศาสตร์ไทย ให้เด็กที่ไปเรียนต่างประเทศสามารถนำติดตัวไปเผยแพร่หรือเรียนรู้เองได้ โดยมีรายละเอียดของพระมหากษัตริย์ในแต่ละสมัย เพื่อให้คนไทยได้ศึกษาถึง
– สะเต็มศึกษา (STEM Education) ซึ่งเป็นแนวทางการเรียนการสอนที่บูรณาการความรู้ระหว่างศาสตร์วิชาต่างๆ ทั้งด้านวิทยาศาสตร์ ด้านเทคโนโลยี ด้านคณิตศาสตร์ และด้านวิศวกรรมศาสตร์ โดยนำความรู้ไปแก้ปัญหาในชีวิตจริงและการพัฒนาสิ่งใหม่ๆ นอกจากนี้ต้องมีการผลิตครูรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความสามารถทดแทนในสาขาที่ขาดแคลน และให้กลับไปปฏิบัติหน้าที่หรือทำงานในพื้นที่ชุมชนหรือภูมิภาคเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพและบริการอย่างทั่วถึง
– ครูเรียนรู้ไปพร้อมเด็ก ครูจำเป็นจะต้องปรับตัวเพื่อเรียนรู้ไปพร้อมกับนักเรียน ต้องปรับความคิดให้เข้ากับความคิดของเด็ก โดยสอนให้เด็กรู้จักคิดวิเคราะห์ เกิดผลสัมฤทธิ์และแนวทางใหม่ๆ นำไปสู่การผลิตนักวิจัยพัฒนาที่สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ รวมทั้งต้องสร้างแรงจูงใจหาวิธีการเรียนการสอนให้มีความน่าสนใจผ่านกิจกรรมต่างๆ และให้ความสำคัญกับกระบวนการ มุ่งผลสัมฤทธิ์ สร้างให้เด็กมีจุดมุ่งหมายของตนเองในการเรียนโดยไม่หวังที่จะเรียนเพื่อสอบประเมินผลให้ได้คะแนนเท่านั้น แต่ต้องรู้จักคิดวิเคราะห์และมีกระบวนการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการตัดสินใจในการทำงานและดำเนินการเรื่องอื่นในการดำเนินชีวิตได้
– การดูแลครู มอบกระทรวงศึกษาธิการจัดหาบุคลากรมาทำหน้าที่ธุรการแทนครู เพื่อครูจะได้มีเวลาในการเตรียมการสอนและพัฒนาเทคนิคการสอนให้กับนักเรียนมากขึ้น
– ประชารัฐ รัฐบาลได้ดำเนินโครงการประชารัฐ โดยร่วมมือกับภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั้งการศึกษา อาชีพ รายได้ ต่อยอดขยายไปสู่ประเทศอาเซียนในเขตอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ก่อขยายสู่ประชาคมโลกอื่น ๆ ต่อไป โดยในส่วนของการศึกษานั้น ภาคเอกชนมีความยินดีที่จะสนับสนุนงบประมาณและความพร้อมที่จะร่วมมือกับภาครัฐในการพัฒนาการศึกษา ซึ่งรัฐบาลไม่ได้เอื้อผลประโยชน์ให้ภาคเอกชน เพียงแต่เป็นการเอื้อในของเรื่องกฎหมายที่ทันสมัยและเป็นการค้าเสรีที่มีการแข่งขันโดยไม่มีการทุจริต และให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย
จากนั้น นายกรัฐมนตรีได้เยี่ยมชมนิทรรศการเกี่ยวกับกิจกรรมด้านการศึกษาตามนโยบายของรัฐบาล ได้แก่ โรงเรียนประชารัฐ, ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้, บ้านภาษาอังกฤษ, การซ่อมแซมบ้านพักครู โดยให้ความสนใจเยี่ยมชมนิทรรศการนานกว่า 2 ชั่วโมง
ขอขอบคุณครู บุคลากรทางการศึกษา และผู้บริหารทุกคน ที่ได้ร่วมกันทำงานขับเคลื่อนการศึกษาให้มีความก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น แม้ที่ผ่านมายังมีการปรามาสกระทรวงศึกษาธิการหรือการศึกษาของไทยว่ายังไม่ดีพอ แต่ก็ขอให้ทุกคนรับฟังข้อคิดเห็นต่างๆ เพื่อนำมาปรับปรุงแก้ไข โดยส่วนตัวรู้สึกเสียใจทุกครั้งที่ได้ยิน และพยายามอธิบายชี้แจงเมื่อมีโอกาส เพราะจะไม่ยอมให้ใครมาดูถูกกระทรวงหรือครูแบบไม่มีเหตุผล ซึ่งเห็นด้วยกับนายกรัฐมนตรีที่ว่า การศึกษาของไทยไม่ได้เลวร้ายอย่างที่คิด และกระทรวงศึกษาธิการได้พัฒนาการศึกษาและแก้ไขข้อขัดข้องต่าง ๆ เพื่อให้มีประสิทธิภาพประสิทธิผลมากขึ้นต่อไป
โอกาสนี้ รมว.ศึกษาธิการ ได้ชี้แจงและตอบคำถามของข้าราชการครูและผู้บริหารสถานศึกษา ในหลายประเด็นดังนี้
– ความก้าวหน้าในการถ่ายโอนสถานศึกษาของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานไปสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น : ขอยืนยันว่าไม่มีการถ่ายโอนอย่างแน่นอน
– ตำแหน่งข้าราชการครูจะเปลี่ยนเป็นพนักงานราชการหรือไม่ : ไม่มีนโยบายในเรื่องนี้ และรู้สึกภูมิใจแทนข้าราชการครูทุกคน ที่จะได้เข้ารับเข็มพระราชทานเมื่อเกษียณอายุราชการ
– สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาและมัธยมศึกษาจะถูกยุบหรือไม่ หากถูกยุบจะไปปฏิบัติงานที่ใด : ไม่ยุบ และต้องทำงานหนักขึ้น เพราะได้มอบหมายให้ร่วมขับเคลื่อนงานในหลายเรื่องร่วมกับศึกษาธิการภาคและคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.)
– ได้มีการกำหนดการสอบบรรจุครูแล้วหรือไม่ : ยังไม่กำหนด เนื่องจากจะดำเนินการย้ายครูทุกจังหวัดให้เสร็จสิ้นเสียก่อน ซึ่งขณะนี้คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ได้ขยายเวลาการย้ายรอบ 1 ปี 2559 ให้เสร็จสิ้น จากเดิมเดือนเมษายน 2559 ไปเป็นเดือนมิถุนายน 2559 จากนั้นสำนักงาน ก.ค.ศ. และ สพฐ. จะร่วมกำหนดปฏิทินในการดำเนินการด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป พร้อมทั้งจะมีหลอมรวมบัญชีครูผู้ช่วยที่สอบได้เป็นบัญชีของ กศจ. เพื่อให้มีการใช้บัญชีข้ามเขตได้ภายในจังหวัด นอกจังหวัด นอกภาค เพื่อบรรจุครูที่คงค้างอยู่จำนวน 16,000 คน ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว
– การบริหารงานบุคคลในภูมิภาคมีข้อดีอย่างไร : การบริหารจะดีขึ้นอย่างแน่นอน เพราะอำนาจจะอยู่กับ กศจ. สามารถดูภาพรวมของทั้งจังหวัด ทำให้สามารถบรรจุและโยกย้ายบริหารจัดการได้กว้างขวางและรวดเร็วขึ้น นอกจากนี้จะปรับปรุงการบริหารงานของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ให้ช่วยดูแลและแก้ไขปัญหาให้กับโรงเรียนร่วมกับผู้อำนวยการโรงเรียนอย่างใกล้ชิดมากขึ้น
– ฝากให้ทุกคนช่วยกันทำงานเป็นทีมในทุกระดับ : ตั้งแต่ผู้บริหารองค์กรหลัก ผู้บริหารการศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา ตลอดจนครู บุคลากรทางการศึกษา และเจ้าหน้าที่ โดยผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการทุกคนยืนยันว่าจะไม่ทิ้งครูไปไหน หากเหนื่อยก็ต้องเหนื่อยด้วยกัน หากสุขก็ต้องสุขด้วยกัน และการทำงานใด ๆ จะไม่มีวาระซ่อนเร้น โดยยืนยันว่าจะยึดหลักธรรมาภิบาล หากใครคิดไม่ดีโดยเฉพาะคิดหากินกับเด็กและครู หรือใช้เป็นเครื่องมือเพื่อประโยชน์ส่วนตน ขอให้คนเหล่านั้นประสบกับความล้มเหลวตลอดไป
โดยมี
นวรัตน์ รามสูต, บัลลังก์ โรหิตเสถียร : สรุป/รายงาน
กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานรัฐมนตรี : ถ่ายภาพ
15/5/2559