Home / ข่าวประชาสัมพันธ์ / ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี 267/2559 MoU พัฒนาช่างเทคนิควิศวกรรมเคมี วิทยาลัยเทคนิคมาบตาพุด (V-ChEPC) ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี

ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี 267/2559 MoU พัฒนาช่างเทคนิควิศวกรรมเคมี วิทยาลัยเทคนิคมาบตาพุด (V-ChEPC) ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี

V-ChEPC 

โรงแรมเซ็นจูรี พาร์ค – พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมเป็นสักขีพยานพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MoU) ระยะที่ 4 (พ.ศ.2560-2562) และพิธีมอบเงินสนับสนุนจาก 6 กลุ่มบริษัทอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ในโครงการพัฒนาช่างเทคนิควิศวกรรมเคมี วิทยาลัยเทคนิคมาบตาพุด (Vocational Chemical Engineering Practice College: V-ChEPC) เมื่อวันจันทร์ที่ 27 มิถุนายน 2559 ณ ห้องแกรนด์ บอลรูม โดยมีนายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา, นายอดิเทพ พิศาลบุตร์ ประธานคณะอนุกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา (อ.กรอ.อศ.) กลุ่มอาชีพปิโตรเลียม ปิโตรเคมี สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, นายพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา ประธานกรรมการมูลนิธิศึกษาพัฒน์, นายทองฉัตร หงส์ลดารมภ์ นายกสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี, นายศักรินทร์ ภูมิรัตน อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี, ผู้แทนจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ตลอดจนผู้แทนจากสถานประกอบการกลุ่มปิโตรเลียม ปิโตรเคมี ที่ให้การสนับสนุน เข้าร่วมงาน

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ เป็นความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและบริษัทเอกชน 6 แห่ง เพื่อร่วมกันผลิตกำลังคนด้านช่างเทคนิคที่มีคุณลักษณะเฉพาะทาง พร้อมทั้งเป็นการเปิดโอกาสและเปิดโลกแห่งการเรียนรู้ให้กับนักเรียนนักศึกษาอาชีวศึกษา ในการนำความรู้และทักษะฝีมือมาช่วยพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้เข้มแข็ง จึงถือเป็นความสำเร็จอย่างยิ่งที่ภาครัฐและภาคเอกชนสามารถร่วมกันผลิตและพัฒนากำลังคนด้านอาชีวศึกษาให้สามารถเข้าสู่ตลาดแรงงานอย่างมีคุณภาพและตรงต่อความต้องการของตลาดแรงงานในภาคอุตสาหกรรม โดยนักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการจะมีรายได้ระหว่างเรียน และเมื่อสำเร็จการศึกษาสามารถประกอบอาชีพได้ทันทีและได้รับอัตราเงินเดือนสูงกว่าวุฒิด้วย

สำหรับโครงการดังกล่าวที่ภาคเอกชนเข้ามาให้การสนับสนุนด้านงบประมาณกับหน่วยงานภาครัฐนั้น ถือเป็นการร่วมกันดำเนินงานที่มาถูกทางแล้ว แม้ว่าในอดีตภาคเอกชนจะมองว่าภาครัฐผลิตกำลังคนไม่ตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม แต่ในปัจจุบันทั้งสองฝ่ายได้ร่วมกันแก้ปัญหาจุดนี้

อีกทั้งกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียม ปิโตรเคมี เป็นกลุ่มที่มีความเข้มแข็ง เป็นสาขาวิชาที่สอนให้เด็กมีทักษะการคิดวิเคราะห์ และการวางแผนเพื่อการแก้ปัญหาในการทำงาน และเป็นตัวอย่างที่ดีในด้านความร่วมมือระบบทวิภาคีกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) มาโดยตลอด

เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวว่า พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงในครั้งนี้ จัดโดย สอศ. ร่วมกับมูลนิธิศึกษาพัฒน์, กลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, สถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ซึ่งได้ร่วมกันดำเนินโครงการพัฒนาช่างเทคนิควิศวกรรมเคมี วิทยาลัยเทคนิคมาบตาพุด มาตลอดระยะเวลา 9 ปี เพื่อผลิตนักเรียนนักศึกษาอาชีวศึกษาให้มีคุณภาพและมีคุณลักษณะตรงกับความต้องการของผู้ประกอบการ ผู้ที่สำเร็จการศึกษาจากโครงการดังกล่าวจะมีงานทำ 100% ปัจจุบันมีผู้สำเร็จการศึกษาแล้วจำนวน 229 คน


โอกาสนี้ รมว.ศึกษาธิการ ร่วมพิธีรับมอบเงินสนับสนุนโครงการพัฒนาช่างเทคนิควิศวกรรมเคมี วิทยาลัยเทคนิคมาบตาพุด จากภาคเอกชน ประจำปี 2559 คือ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน), บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด, กลุ่มบริษัท อูเบะ (ประเทศไทย), บริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด, กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย และบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) จำนวนทั้งสิ้น 8,500,000 บาท พร้อมทั้งมอบโล่เกียรติคุณและเกียรติบัตรให้กับครูฝึกในสถานประกอบการทั้ง 6 บริษัทด้วย


อรพรรณ ฤทธิ์มั่น
บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน
ยุทธพงศ์ เลือกกลั่นดี : ถ่ายภาพ

บัลลังก์ โรหิตเสถียร : กราฟิก
27/6/2559