Home / ข่าวประชาสัมพันธ์ / ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี 272/2559 การปรับคะแนน O-NET วิชาภาษาอังกฤษ ม.3

ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี 272/2559 การปรับคะแนน O-NET วิชาภาษาอังกฤษ ม.3

onet 

ศึกษาธิการ – พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยนายสัมพันธ์ พันธุ์พฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) และนายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน แถลงข่าวการปรับคะแนน O-NET วิชาภาษาอังกฤษ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ปีการศึกษา 2558 (จำนวน 3 ข้อ) เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 30 มิถุนายน 2559 ที่ห้อง MOC

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า จากนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ ที่ขอให้สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทศ. เปิดเผยข้อสอบ O-NET พร้อมคำเฉลยให้สาธารณชนรับทราบเป็นปีแรก ซึ่ง สทศ. ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ผลจากการเปิดเผยผ่านช่องทางการสื่อสารต่างๆ พบข้อผิดพลาดของข้อสอบ O-NET วิชาภาษาอังกฤษ ชั้น ม.3 จำนวน 3 ข้อ ซึ่งมีผลกระทบอย่างแน่นอนกับนักเรียนที่เข้าสอบ จึงมอบ สทศ. ชี้แจงในครั้งนี้


ผู้อำนวยการ สทศ. กล่าวว่า ในนาม สทศ. ต้องขอโทษที่มีการเฉลยข้อสอบวิชาภาษาอังกฤษ ชั้น ม.3 ผิดจำนวน 3 ข้อ (ข้อละ 2 คะแนน) ได้แก่

1) ข้อที่ 39 เปลี่ยนคำตอบจากตัวเลือกที่ 3 เป็นตัวเลือกที่ 1

2) ข้อที่ 42 เปลี่ยนคำตอบจากตัวเลือกที่ 3 เป็นตัวเลือกที่ 4

3) ข้อที่ 47 มีคำตอบที่ถูกต้อง 2 ตัวเลือก คือ ตัวเลือกที่ 3 และตัวเลือกที่ 4 (เป็นคำตอบเดิม)

การปรับคะแนน ส่งผลให้ผู้เข้าสอบบางคนมีคะแนนเปลี่ยนแปลง ดังนี้

 

   ผลการปรับคะแนนใหม่

จำนวน (คน) ร้อยละ  
    คะแนนลดลง 4 คะแนน 42,943 6.54  
    คะแนนลดลง 2 คะแนน 175,671 26.75  
    คะแนนเท่าเดิม 247,980 37.76  
    คะแนนเพิ่มขึ้น 2 คะแนน 146,534 22.31  
    คะแนนเพิ่มขึ้น 4 คะแนน 39,608 6.03  
    คะแนนเพิ่มขึ้น 6 คะแนน 3,965 0.60  
 

  รวม

656,701 100  
         

เมื่อคำนวณคะแนน O-NET เพื่อนำไปใช้ในการศึกษาต่อชั้น ม.4 ยังมีความหลากหลายของระดับคะแนนที่นำไปใช้ จึงนำมาคิดในสัดส่วนเต็มที่ 20% กล่าวคือ

  • คะแนนลดลง 4 คะแนน ได้คะแนนลดลง 0.16 คะแนน ของ 20%

  • คะแนนลดลง 2 คะแนน ได้คะแนนลดลง 0.08 คะแนน ของ 20%

  • คะแนนเพิ่มขึ้น 2 คะแนน ได้คะแนนเพิ่ม 0.08 คะแนน ของ 20%

  • คะแนนเพิ่มขึ้น 4 คะแนน ได้คะแนนเพิ่ม 0.16 คะแนน ของ 20%

  • คะแนนเพิ่มขึ้น 6 คะแนน ได้คะแนนเพิ่ม 0.24 คะแนน ของ 20%

ทั้งนี้ สทศ.จะเร่งประมวลคะแนนนักเรียนให้แล้วเสร็จภายใน 1 วันถัดไป เมื่อได้รับข้อมูลครบถ้วนจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และจะดำเนินการจัดทำข้อมูลคะแนน O-NET ใหม่ เพื่อส่งให้ สพฐ. และโรงเรียนใช้ในการดำเนินงาน 3 ส่วน คือ

  • ส่งคะแนนภาษาอังกฤษ โดยจำแนกตามรายชื่อนักเรียนที่ได้คะแนนเพิ่ม-ลดในแต่ละโรงเรียน ส่งให้โรงเรียนใช้ในการปรับคะแนนในระเบียนแสดงผลการเรียน (ปพ.1) โดยความร่วมมือของ สพฐ.

  • ส่งรายงานคะแนน O-NET ฉบับที่ 1-6 เฉพาะวิชาภาษาอังกฤษ

  • ส่งคะแนน O-NET ที่ปรับใหม่ เพื่อให้โรงเรียนนำไปใช้ในการจัดลำดับการคัดเลือกเข้าเรียนต่อชั้น ม.4

สทศ.จะประกาศผลคะแนน O-NET วิชาภาษาอังกฤษ ม.3 ที่ปรับใหม่ทั้งในระดับรายบุคคล ระดับสถานศึกษา และระดับเขตพื้นที่การศึกษา ทางเว็บไซต์ สทศ. (niets.or.th) ในวันที่ 30 มิถุนายน 2559 จึงขอให้สถานศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำผลการสอบที่ถูกต้องไปใช้ ทั้งนี้ หากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อสอบถามได้เป็นกรณีพิเศษ ระหว่างวันที่ 30 มิถุนายน – 14 กรกฎาคม 2559 ตั้งแต่เวลา 8.30-16.30 น. (ไม่เว้นวันหยุดราชการ) ดังนี้

  • ที่ทำการ สทศ. อาคารพญาไทพลาซ่า ชั้น 36

  • Call Center 02-217-3800 กด 0

  • โทรศัพท์มือถือ 081-731-4146, 081-731-4147, 081-731-4150, 089-949-4382

  • webmaster@niets.or.th

  • สายตรงถึงผู้บริหาร

ผอ.สทศ. ได้กล่าวแสดงความขอบคุณ รมว.ศึกษาธิการ ที่ได้ให้นโยบายในการเปิดเผยข้อสอบและคำเฉลยต่อสาธารณชน เพื่อช่วยให้ผลสอบ O-NET เป็นไปอย่างถูกต้องและเป็นธรรม


เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า สพฐ. เตรียมมาตรการที่จะดูแลนักเรียนที่ได้รับผลกระทบจำนวน 656,701 คน ที่ต้องมีการปรับคะแนนในระเบียนแสดงผลการเรียน (ปพ.1) ใหม่ให้สมบูรณ์ ในส่วนของนักเรียนที่สอบแข่งขันเรียนต่อชั้น ม.4 ในโรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูง 282 โรงเรียน จำนวน 491,851 คน ซึ่งแต่ละโรงเรียนจะนำคะแนน O-NET สัดส่วนประมาณ 5-20% แล้วแต่โรงเรียน เช่น โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ใช้สัดส่วนร้อยละ 5 ซึ่งไม่กระทบมากนัก เพื่อนำไปรวมกับคะแนนสอบของโรงเรียน

ขณะนี้ สพฐ.กำลังรวบรวมรายชื่อนักเรียนที่สอบแข่งขันจากทั้ง 282 แห่ง ส่งให้ สทศ.ตรวจดูความเปลี่ยนแปลงของคะแนน จากนั้นส่งคะแนนใหม่กลับไปยังโรงเรียน เพื่อประมวลคะแนน O-NET ใหม่รวมกับคะแนนสอบ 5 กลุ่มสาระวิชาของโรงเรียนเอง พร้อมจัดอันดับใหม่และจะประกาศเผยแพร่ทางเว็บไซต์ของโรงเรียนให้ได้รับทราบทั่วกันภายในสัปดาห์หน้า (ต้นเดือนกรกฎาคม)

ทั้งนี้ หากพบว่าคะแนนใหม่ของนักเรียนถึงจุดตัดคะแนนต่ำสุด ก็จะให้สิทธิ์นักเรียนเข้าเรียนในห้องเรียนพิเศษที่จัดขึ้นเพิ่มเติม ซึ่งแต่เดิมกำหนดไว้ไม่เกินห้องเรียนละ 50 คน แต่อาจจะแก้ไขเพื่อไม่ให้เด็กเสียโอกาส โดย สพฐ.จะเป็นผู้ประกาศขยายจำนวนนักเรียนต่อห้องเรียนเพิ่มขึ้นต่อไป


รมว.ศึกษาธิการ กล่าวสรุปว่า ภายหลังประกาศผลคะแนนและจัดอันดับใหม่ หากนักเรียนคนใดพอใจกับการเรียนที่โรงเรียนเดิม ก็ไม่ว่าอะไร ส่วนนักเรียนที่ต้องการจะกลับมาเรียนในโรงเรียนที่สอบผ่านตามเกณฑ์คะแนน O-NET ใหม่ กระทรวงศึกษาธิการยินดีที่จัดการดูแลให้ได้เข้าเรียน โดยขยายห้องเรียนเป็นการพิเศษเฉพาะกาลเพื่อแก้ไขปัญหานี้ เพื่อให้เด็กๆ ได้รับโอกาสทุกโอกาส

ทั้งนี้ ได้ตอบข้อซักถามจากสื่อมวลชนประเด็นการกล้าที่จะเปิดเผยและเฉลยข้อสอบบางวิชา เช่น สังคมศึกษา โดยกล่าวว่า มีความเสี่ยงเช่นกัน เพราะเป็นวิชาที่มีมุมมองของการตีความของนักวิชาการอาจไม่เหมือนกัน หากเป็นวิชาคณิตศาสตร์จะง่ายกว่านี้ จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ ผอ.สทศ. ยินดีที่จะลาออกเพื่อรับผิดชอบ แต่เห็นว่าการเฉลยข้อสอบเป็นการดำเนินการตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ ประกอบกับได้ยอมรับในข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น และพร้อมที่จะนำไปปรับปรุงแก้ไขการดำเนินงานในปีต่อไป ซึ่งถือเป็นการแสดงความรับผิดชอบแล้ว

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวย้ำถึงความมั่นใจในการดำเนินงานปีต่อไปในการสอบ O-NET ด้วยว่า จะต้องดำเนินการในประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น

  • การออกข้อสอบ จะต้องมีการพิจารณาค่าความยากง่ายของการออกข้อสอบให้ถูกต้องตามหลักการ

  • การเฉลยข้อสอบ เดิมใช้ทีมออกข้อสอบเป็นผู้เฉลยด้วย แม้จะมีการทบทวน แต่อาจเกิดข้อผิดพลาดได้ จึงเตรียมเพิ่มทีมเฉลยข้อสอบ ซึ่งมาจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง (Third party) จำนวน 1-2 ทีมตามความจำเป็น เพื่อเพิ่มความมั่นใจของการเฉลยข้อสอบอย่างมีเหตุมีผล และในปีต่อไปจะมีการเฉลยข้อสอบ ก่อนประกาศคะแนนประมาณ 2 สัปดาห์

  • คำอธิบายข้อสอบ (Item Card) ควรมีการจัดทำคำอธิบายข้อสอบแต่ละข้อให้มีความสมบูรณ์ อธิบายเหตุผลได้ว่าถูก/ผิดเพราะอะไร เพื่อลดข้อผิดพลาดให้น้อยลง

  • องค์ประกอบของผู้ออกข้อสอบ จะต้องมีการพิจารณาองค์ประกอบของผู้ออกข้อสอบที่มีความรู้ความสามารถ ตรงตามวิชาที่จะออกข้อสอบจริง ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิ เพราะอาจารย์ที่เก่งๆ แต่ไปกวดวิชา ก็ไม่สามารถตั้งมาเป็นผู้ออกข้อสอบได้ ต้องเลือกอาจารย์ที่เก่งแต่เก็บความลับได้ด้วย เพื่อไม่ให้ข้อสอบรั่ว แต่ทีมที่ออกข้อสอบในปีนี้ ก็ประสบความสำเร็จ ที่ไม่มีข้อสอบรั่วไหล นอกจากนี้อาจจะต้องมีการทบทวน TOR การจ้างผู้ออกข้อสอบให้รัดกุมหรือดียิ่งขึ้น

ส่วนการเปิดเผยรายชื่อผู้ออกข้อสอบและผู้เฉลยข้อสอบนั้น ไม่สามารถเปิดเผยรายชื่อได้ เพราะเมื่อเกิดเหตุ แต่ความรับผิดชอบตกมาอยู่ที่ สทศ. ซึ่งก็ได้แสดงความรับผิดชอบด้วยการยอมรับความผิดพลาดแล้ว จึงขอให้ใช้วิกฤตเป็นโอกาสด้วยการหาสาเหตุความผิดพลาดให้เจอ และแก้ไขความผิดพลาดนั้นไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำอีก

 


นวรัตน์ รามสูต, บัลลังก์ โรหิตเสถียร : สรุป/รายงาน
ยุทธพงศ์ เลือกกลั่นดี : ถ่ายภาพ
30/6/2559