ศึกษาธิการ – ผลการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันอังคารที่ 12 กรกฎาคม 2559 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงศึกษาธิการ คือ อนุมัติแต่งตั้งรองศาสตราจารย์บัณฑิต ทิพากร ให้ดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา และแนวทางดำเนินการเพื่อขจัดความรุนแรงต่อเด็กอย่างเหมาะสม
แต่งตั้งรองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอบรรจุกลับ รองศาสตราจารย์บัณฑิต ทิพากร พนักงานมหาวิทยาลัย ตำแหน่งรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (เดิมเป็นข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา และได้ลาออกจากราชการด้วยเหตุทดแทนเพื่อเป็นพนักงานราชการตามกฎหมาย) มาเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ
และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (รองเลขาธิการ กกอ.) สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นต้นไป เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง
แนวทางดำเนินการเพื่อขจัดความรุนแรงต่อเด็กอย่างเหมาะสม
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบแนวแนะการเลี้ยงดู ดูแล และพัฒนาเด็กโดยไม่ใช้ความรุนแรงในทุกสภาพแวดล้อม ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอ และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปใช้ดำเนินการเพื่อขจัดความรุนแรงต่อเด็กอย่างเหมาะสม โดยมีสาระสำคัญดังนี้
จากการที่ประเทศไทยได้รับมอบหมายให้เป็นประเทศผู้ประสานงานหลักในการจัดทำแนวแนะฯ คณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรี (พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย) เป็นประธาน ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจประสานงานและจัดทำร่างนโยบายและแผนงานด้านการขจัดความรุนแรงต่อเด็กของอาเซียน เพื่อดำเนินการจัดทำแนวแนะฯ ในบริบทของประเทศไทยในระยะ 6 ปี (พ.ศ. 2559-2564) โดยมีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้
ส่วนที่ 1 บทนำ ประกอบด้วยความเป็นมา นิยาม ความหมาย “ความรุนแรง” วัตถุประสงค์ กรอบระยะเวลาการใช้แนวแนะฯ ระหว่างปี พ.ศ. 2559 – 2564
ส่วนที่ 2 องค์ความรู้ที่เป็นหลักพื้นฐานร่วมกันในทุกสภาพแวดล้อมสำหรับการเลี้ยงดู ดูแล และพัฒนาเด็กโดยไม่ใช้ความรุนแรง อาทิ สิทธิเด็ก พัฒนาการเด็ก การสื่อสารและการสร้างวินัยเชิงบวก การรู้จักตนเองในฐานะพ่อแม่ ผู้ปกครองหรือผู้ที่ทำงานกับเด็กหรือเพื่อเด็ก เป็นต้น
ส่วนที่ 3 สภาพแวดล้อมที่มีความรุนแรงต่อเด็ก 7 ประเภท ได้แก่ บ้าน โรงเรียน สถานที่ทำงาน ชุมชน สถานสงเคราะห์ สถานดูแลและพัฒนาเด็กปฐมวัย สถานที่ดูแลเด็กในกระบวนการยุติธรรม
ส่วนที่ 4 สรุปแนวแนะฯ โดยนำเสนอการดำเนินงาน แบ่งออกเป็น 4 ด้าน (การป้องกัน การคุ้มครอง การดำเนินการทางด้านกฎหมาย และการเก็บข้อมูล/การวิจัย) 132 มาตรการ
ส่วนที่ 5 สาระเพิ่มเติมประกอบองค์ความรู้ เช่น วิธีการพูดคุยกับเด็กในสถานการณ์ต่าง ๆ
ส่วนที่ 6 ภาคผนวก (ส่วนของการปฏิบัติการ) เป็นตัวอย่างโครงการ/กิจกรรมจากการนำแนวแนะฯ ไปปฏิบัติ ซึ่งมีความครอบคลุมทุกมิติของการดูแลเด็กโดยไม่ใช้ความรุนแรง ได้แก่ การป้องกัน การคุ้มครอง กรอบกฎหมาย/กฎ/ระเบียบ และการเก็บข้อมูล/งานวิจัย
ทั้งนี้ แนวแนะฯ มีความเกี่ยวข้องกับหลายภาคส่วนซึ่งมีภารกิจและหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการดูแลและพัฒนาเด็กให้เจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพโดยปราศจากความรุนแรง โดยได้นำเสนอหลักการ แนวคิด และทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับการไม่ใช้ความรุนแรงกับเด็ก ตลอดจนวิธีการสำหรับผู้ที่ทำงานกับเด็กและเพื่อเด็กในสภาพแวดล้อมต่าง ๆ เช่น บ้าน โรงเรียน สถานที่ทำงาน ชุมชน สถานสงเคราะห์ สถานดูแลและพัฒนาเด็กปฐมวัย สถานที่ดูแลเด็กในกระบวนการยุติธรรม ให้มีความเข้าใจและสามารถนำแนวแนะฯ ดังกล่าวไปใช้อย่างเหมาะสม
จึงเห็นควรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาค่าใช้จ่ายและแหล่งที่มาตามอำนาจหน้าที่และกรอบภารกิจของหน่วยงาน ๆ นั้น
บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน
12/7/2559
Post Views: 199