ดร.ชัยยศ อิ่มสุวรรณ์ โฆษกกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยต่อสื่อมวลชนภายหลังการประชุมกระทรวงศึกษาธิการ ครั้งที่ 7/2559 เมื่อวันพุธที่ 13 กรกฎาคม 2559 ที่ห้องประชุมราชวัลลภ ซึ่งมี พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมว่า ที่ประชุมได้รับทราบรายงานความก้าวหน้าการรับสมัครโครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น ของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.)
โฆษกกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายจัดทำโครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นกระบวนการคัดเลือกผู้ที่สนใจจะมาเป็นครูและผู้ที่เรียนสาขาครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ที่มีความรู้ความสามารถ เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการพัฒนา พร้อมทั้งจัดสรรอัตราเพื่อบรรจุเป็นข้าราชการครูปฏิบัติงานในภูมิลำเนาของตนเอง ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนครูในระยะเร่งด่วน และลดการโยกย้ายออกจากพื้นที่ต่อไป
ขณะนี้อยู่ระหว่างเปิดรับสมัครเข้าร่วมโครงการระหว่างวันที่ 4-18 กรกฎาคม 2559 สกอ.จึงได้รายงานให้ที่ประชุมรับทราบถึงข้อมูลผู้สมัคร ณ วันที่ 13 กรกฎาคม 2559 เวลา 8.30 น.ว่า มีผู้สนใจมาสมัครแล้วจำนวน 22,000 ราย
ต่อจากนี้จะได้จัดทำข้อมูลสถิติจำแนกผู้สมัครออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 นิสิตนักศึกษาครูหลักสูตรระดับปริญญาตรี (5 ปี) กลุ่มที่ 2 ผู้สำเร็จการศึกษาหลักสูตรการผลิตครู 5 ปี กลุ่มที่ 3 ผู้สำเร็จการศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครู กลุ่มที่ 4 ผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาอื่น เพื่อใช้วางแผนการดำเนินงานต่อไป
ในส่วนของการจัดสรรอัตรากำลังเพื่อบรรจุผู้รับทุนเป็นข้าราชการครูนั้น กระทรวงศึกษาธิการได้หารือกับหน่วยรับบรรจุครู เพื่อขอให้กันอัตราเกษียณ ในระยะ 10 ปี รวมประมาณ 1.9 แสนอัตรา ดังนี้
1) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จัดสรรร้อยละ 25 ของอัตราการเกษียณต่อปี
2) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จัดสรรร้อยละ 35 ของอัตราการเกษียณต่อปี
3) สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (สำนักงาน กศน.) จัดสรรร้อยละ 10 ของอัตราการเกษียณต่อปี
4) กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ขอกันอัตราครูในภาพรวมของโครงการ แต่จะเริ่มตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นไป จำนวน 595 อัตรา
โดยในปี 2559 จะมีผู้รับทุนรุ่นแรกที่จะได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการครู ตำแหน่งครูผู้ช่วย ในวันที่ 24 ตุลาคม 2559 จำนวน 4,079 อัตรา ประกอบด้วย สพฐ. 3,845 คน สอศ. 224 คน สำนักงาน กศน.จังหวัด จำนวน 10 คน โดยจะจัดสรรอัตรากำลังไปยังโรงเรียนที่ครูต้องการจะไปสอนในภูมิลำเนาของตนเองโดยตรง
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้มีการหารือถึงกลุ่มนิสิตนักศึกษาครูที่กำลังศึกษาหลักสูตรระดับปริญญาตรี ชั้นปีที่ 5 ที่จะต้องทำการฝึกสอนในสถานศึกษาเป็นเวลา 1 ปี และผู้ที่จบปริญญาตรีสาขาอื่น ที่จะต้องเรียนหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครู (ป.บัณฑิต) อีก 1 ปีครึ่ง จึงจะสามารถบรรจุเป็นข้าราชการครูในตำแหน่งนี้ได้
ที่ประชุมจึงได้มอบให้สำนักงานเลขาธิการคุรุสภาพิจารณาทบทวนหลักสูตร ป.บัณฑิต เพื่อใช้สำหรับผู้รับทุนโครงการดังกล่าว โดยให้คุรุสภาหารือร่วมกับมหาวิทยาลัยเกี่ยวกับการปรับเรียนการสอนให้มีความเข้มมากขึ้น แต่ใช้เวลาเรียนน้อยลง โดยอาจปรับเวลาของการฝึกสอนในสถานศึกษาเพื่อให้ช่วงเวลาของหลักสูตรลดลงเหลือเพียง 1 ปีหรือน้อยกว่าได้หรือไม่
รวมทั้งขอให้พิจารณายกเว้นเงื่อนไขการจ้างงานของสถานศึกษาสำหรับผู้ที่จะสมัครเรียน ป.บัณฑิตด้วย ซึ่งอาจจะต้องแก้ไขข้อบังคับหรือออกข้อบังคับเพิ่มเติม เพื่อให้ผู้สมัครเข้าโครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่นสามารถเรียน ป.บัณฑิตได้ โดยไม่ต้องมีสัญญาจ้างจากสถานศึกษา
นวรัตน์ รามสูต : ถ่ายภาพ
14/7/2559