ศึกษาธิการ – พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริม สนับสนุน และประสานความร่วมมือการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ครั้งที่ 1/2559 เมื่อวันพุธที่ 27 กรกฎาคม 2559 ที่ห้องประชุมราชวัลลภ ว่าที่ประชุมได้รับทราบ
ที่ประชุมได้รับทราบ
-
ระดับประถมศึกษา
– มีผู้ลงทะเบียนเรียน ภาคเรียนที่ 2/2558-1/2559 รวม 181,817 คน : สำเร็จการศึกษาภาคเรียนที่ 2/2558 จำนวน 5,122 คน
– มีผู้เข้ารับการประเมินเพื่อเทียบระดับ ภาคเรียนที่ 2/2558-1/2559 รวม 1,163 คน : มีผู้ผ่านการประเมิน รวม 935 คน -
ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น
– มีผู้ลงทะเบียนเรียน ภาคเรียนที่ 2/2558-1/2559 รวม 916,615 คน : สำเร็จการศึกษาภาคเรียนที่ 2/2558 จำนวน 42,216 คน
– มีผู้เข้ารับการประเมินเพื่อเทียบระดับ ภาคเรียนที่ 2/2558-1/2559 รวม 4,185 คน : มีผู้ผ่านการประเมิน รวม 3,363 คน -
ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย
– มีผู้ลงทะเบียนเรียน ภาคเรียนที่ 2/2558-1/2559 รวม 1,256,606 คน : สำเร็จการศึกษาภาคเรียนที่ 2/2558 จำนวน 70,073 คน
– มีผู้เข้ารับการประเมินเพื่อเทียบระดับ ภาคเรียนที่ 2/2558-1/2559 รวม 7,104 คน : มีผู้ผ่านการประเมิน รวม 5,683 คน -
ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.)
– มีผู้ลงทะเบียนเรียน ภาคเรียนที่ 2/2558-1/2559 รวม 55,981 คน : สำเร็จการศึกษาภาคเรียนที่ 2/2558 จำนวน 1,254 คน
-
การศึกษาเพื่อพัฒนาอาชีพ ได้ดำเนินโครงการศูนย์ฝึกอาชีพชุมชนผ่านหลักสูตรต่างๆ ได้แก่ หลักสูตรกลุ่มสนใจอาชีพระยะสั้น 91,352 คน, หลักสูตรอาชีพช่างพื้นฐาน 105,422 คน, หลักสูตรพัฒนาอาชีพ (ต่อยอดอาชีพเดิม) 124,042 คน -
การศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะชีวิต ได้แก่ กิจกรรมทักษะชีวิต 193,919 คน, โครงการจัดหลักสูตรผู้สูงอายุ 1,544 คน แบ่งเป็น หลักสูตร 70 ชั่วโมง 1,400 คน และหลักสูตร 420 ชั่วโมง 144 คน, โครงการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ 55,238 คน -
การศึกษาเพื่อเรียนรู้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ได้ดำเนินการตามโครงการเรียนรู้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงด้วยระบบด้วยกระบวนการบัญชีครัวเรือน รวม 11,191 คน -
การศึกษาเพื่อพัฒนาสังคมและชุมชน ได้ดำเนินโครงการหมู่บ้านเรียนรู้ตามรอยพระยุคลบาท รวม 67,087 คน -
การเรียนรู้การใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม จัดการเรียนรู้ให้กับผู้เรียนรวม 64,850 คน -
โครงการจัดการศึกษาเพื่อชุมชนในเขตภูเขา ได้ดำเนินโครงการให้กับผู้เรียนในพื้นที่ภูเขาต่างๆ รวม 19,585 คน
-
การเรียนรู้ผ่านแหล่งเรียนรู้ ได้จัดการเรียนรู้ให้กับผู้มารับบริการ 11.8 ล้านคนผ่าน 4 แหล่งเรียนรู้ คือ บ้านหนังสือชุมชน 189,253 คน, ห้องสมุดประชาชน 4,818,547 คน, การเรียนรู้ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ 4,664,502 คน, นิทรรศการด้านวิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ 2,175,417 คน -
โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยมีผู้สำเร็จการศึกษา รวม 6,684 คน ได้แก่ โครงการศูนย์ฝึกอาชีพ “ศูนย์วงเดือน อาคมสุรทัณฑ์ จังหวัดอุทัยธานี” รวม 503 คน, โครงการสร้างป่า สร้างรายได้ รวม 4,011 คน, โครงการขยายโครงการหลวงเพื่อแก้ปัญหาพื้นที่ปลูกฝิ่นอย่างยั่งยืน รวม 735 คน, โครงการจัดการศึกษาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร เพื่อสนองงานตามพระราชดำริฯ รวม 276 คน, โครงการทุนการศึกษา รวม 1,159 คน
ผลการดำเนินงานตาม 5 ยุทธศาสตร์
ที่ประชุมได้รับทราบผล
ยุทธศาสตร์ที่ 1 พัฒนา กศน.ตำบล ให้เป็นกลไกการขับเคลื่อนการจัดการศึกษา และส่งเสริมภาคีเครือข่าย ในการจัดการศึกษาเพื่อสร้างและกระจายโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิตในชุมชน มีผลการดำเนินงานที่สำคัญ อาทิ โครงการจัดทำฐานข้อมูลเพื่อขับเคลื่อนการจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยของ กศน.ตำบล 7,424 แห่ง โดยพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการใน กศน.ตำบลทั่วประเทศ ทั้งการจัดเก็บข้อมูลพื้นฐาน ข้อมูลประชากรกลุ่มเป้าหมาย แหล่งเรียนรู้ กิจกรรมในพื้นที่ เป็นต้น และโครงการส่งเสริมการจัดตั้งแหล่งเรียนรู้ในชุมชน 5,431 แห่ง เพื่อเป็นแหล่งรวมองค์ความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นในชุมชน ตลอดจนใช้เครือข่ายบ้าน-วัด-โรงเรียนทั้งภาครัฐและเอกชน ให้เกิดประโยชน์ต่อการเสริมสร้างและกระจายโอกาสการเรียนรู้ตลอดชีวิต
ยุทธศาสตร์ที่ 2 ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาส และยกระดับคุณภาพการศึกษา มีผลการดำเนินงานที่สำคัญ อาทิ โครงการส่งเสริมและสนับสนุนการจัด กศน. เพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษาให้กับผู้ด้อยโอกาสกลุ่มต่างๆ ได้แก่ ชาวเล 68 คน, เด็กเร่ร่อน 2,045 คน, คนพิการ 29,849 คน, แรงงานต่างด้าว 5,481 คน, โครงการศูนย์ฝึกอาชีพชุมชน “ประชาชนหนึ่งคนหนึ่งอาชีพ” แก่ผู้เรียน 613,267 คน ในรูปแบบกลุ่มสนใจ, กลุ่มชั้นเรียนระยะสั้น-ระยะยาว ในกลุ่มอาชีพต่างๆ ได้แก่ พาณิชยกรรมและบริการ, ความคิดสร้างสรรค์, เฉพาะทาง, เกษตรกรรม, อุตสาหกรรม เป็นต้น, โครงการจัดการศึกษาเรียนร่วมหลักสูตรอาชีวศึกษาและมัธยมศึกษาตอนปลาย (ทวิศึกษา) ซึ่งมีสถานศึกษาร่วมจัดการศึกษาทวิศึกษาในภาคเรียนที่ 2/2558 รวม 48 แห่งใน 33 จังหวัด และมีผู้เรียนเข้ารับการศึกษา จำนวน 1,130 คน, โครงการพัฒนาและส่งเสริมการศึกษาหลักสูตร ปวช. สำหรับกลุ่มเป้าหมายที่อยู่นอกโรงเรียน (ทวิภาคี) เพื่อจัดการศึกษาร่วมกับสถานประกอบการ โดยมีสถานศึกษาเข้าร่วมโครงการแล้ว 65 แห่งใน 56 จังหวัด และมีผู้รับบริการ จำนวน 33,267 คน
ยุทธศาสตร์ที่ 3 สร้างอุดมการณ์ รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และสร้างค่านิยมที่พึงประสงค์ มีผลการดำเนินงานที่สำคัญ อาทิ โครงการส่งเสริมหมู่บ้านการเรียนรู้ตามรอยพระยุคลบาท เพื่อส่งเสริมให้เกิดการจัดการความรู้ของชุมชนในรูปแบบชุมชนศึกษา ใน 9,636 หมู่บ้าน, โครงการหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงด้วยกระบวนการบัญชีครัวเรือน โดยร่วมกับสำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์จังหวัดต่างๆ ในการอบรมการจัดทำบัญชีครัวเรือนให้กับประชาชน 260,450 คน ที่จะเป็นการขับเคลื่อนการเรียนรู้ของชุมชนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง, โครงการจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมประชาธิปไตยตำบล (ศส.ปชต.) ใน 7,424 แห่งทั่วประเทศ พร้อมร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง รณรงค์ให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าในที่ถูกต้อง เกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ในระบอบประชาธิปไตย และปลูกฝังจิตสำนึกด้านประชาธิปไตยให้นักศึกษา กศน. และประชาชนด้วย
ยุทธศาสตร์ที่ 4 จัดการศึกษาเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ทุกช่วงวัยและพัฒนาคุณภาพชีวิต มีผลการดำเนินงานที่สำคัญ อาทิ โครงการสร้างการอ่านเสริมการเรียนรู้ เพื่อจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านหลายหลายรูปแบบตามความต้องการและสนใจของประชาชนกว่า 5 ล้านคน ในห้องสมุดประชาชน 909 แห่งทั่วประเทศ, โครงการบรรณสัญจร (Book Voyage) ประจำปี 2559 เพื่อรณรงค์เชิญชวนให้บริจาคหนังสือและสื่อส่งเสริมการอ่านให้กับห้องสมุดประชาชนและบ้านหนังสือชุมชน โดยได้รับบริจาคหนังสือรวมทั้งสิ้น 4.5 ล้านเล่มแล้ว, โครงการบ้านหนังสือชุมชน เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนเปิดบ้านให้เป็นแหล่งส่งเสริมการอ่านกับคนในชุมชน ซึ่งขณะนี้มีบ้านหนังสือชุมชน 15,146 แห่ง, โครงการศึกษาและพัฒนาต้นแบบเมืองแห่งการเรียนรู้ โดยได้ทำการศึกษาต้นแบบเมืองแห่งการเรียนรู้ในบริบทต่างๆ ของสังคมไทยใน 5 จังหวัด 5 ภูมิภาค ได้แก่ ภูเก็ต ลำปาง เพชรบุรี อุบลราชธานี และตราด, โครงการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ โดยจัดหลักสูตรการศึกษาต่อเนื่องให้กับผู้สูงอายุ 55,238 คน และการดูแลผู้สูงอายุกระทรวงศึกษาธิการ 1,544 คน เพื่อรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ดังนั้น ผู้สูงอายุจึงต้องมีความรู้เกี่ยวกับการดูแลตนเองในด้านสุขภาพอนามัยและด้านต่างๆ ที่จะช่วยลดภาระของครอบครัวและชุมชน
ยุทธศาสตร์ที่ 5 การพัฒนาการศึกษาในเขตพัฒนาพิเศษจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีผลการดำเนินงานที่สำคัญ อาทิ โครงการฝึกอาชีพจังหวัดชายแดนภาคใต้ตามแนวทางโรงเรียนพระดาบส 120 คน, โครงการเยาวชนสานสัมพันธ์ สร้างสรรค์คนดี เพื่อจัดค่ายเยาวชนปลูกฝังค่านิยมคนไทย 12 ประการ และการทัศนศึกษาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ศาสนาและวัฒนธรรมให้กับเยาวชน 1,214 คน, โครงการส่งเสริมภาษาไทยเพื่อการเรียนรู้และสื่อสาร เพื่อให้ผู้นำศาสนา ผู้นำชุมชน ผู้นำท้องถิ่น และบุคลากรภาครัฐและภาคเอกชน 12,654 คน สามารถสื่อสารภาษาไทยและภาษามลายูถิ่นในชีวิตประจำวันได้, โครงการส่งเสริมการเรียนรู้สู่สถาบันศึกษาปอเนาะ เพื่อพัฒนาด้านกระบวนทัศน์การบริหารจัดการและขับเคลื่อนคุณภาพของสถาบันศึกษาปอเนาะ 5,639 คน, โครงการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสู่สถาบันศึกษาปอเนาะ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้กับโต๊ะครู ผู้ช่วยโต๊ะครู นักเรียนในสถาบันศึกษาปอเนาะ จำนวน 1,264 คน ได้เรียนรู้การจัดทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย การลดรายจ่าย และเพิ่มรายได้ พร้อมจัดฐานการเรียนรู้ด้านอาชีพ-มุมหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในสถาบันศึกษาปอเนาะ 75 แห่งในจังหวัดชายแดนภาคใต้, โครงการพัฒนาบุคลากรเพื่อเสริมสร้างสมรรถนะครู กศน.ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยได้จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ “การพัฒนาระดับความสามารถ 5Q สู่คุณภาพการศึกษาและสังคมสันติสุข” ให้กับผู้บริหาร ข้าราชการ ครู พนักงานราชการ และบุคลากร 877 คน ด้านทักษะในการดำรงชีวิตอย่างมีความสุข และเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน, โครงการติดตามและประสานแผนการประเมินการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ด้านการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย เพื่อแก้ปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 428 คน, โครงการกีฬา กศน. สานสัมพันธ์ชายแดนใต้ เพื่อเป็นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างเครือข่ายเยาวชนนอกระบบในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ 11,922 คน ทั้งในระดับตำบล-ระดับอำเภอ-ระดับจังหวัด-ระดับกลุ่มจังหวัดชายแดนใต้, โครงการลูกเสือ กศน.ชายแดนภาคใต้ 1,660 คน เพื่อให้เยาวชนเกิดความรักความสามัคคี ร่วมแรงร่วมใจ และความปรองดองสมานฉันท์
นวรัตน์ รามสูต, บัลลังก์ โรหิตเสถียร สรุป/รายงาน
ยุทธพงศ์ เลือกกลั่นดี : ถ่ายภาพ
28/7/2559