ศึกษาธิการ – พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย พ.อ.ณัฐพงษ์ เพราแก้ว เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, รศ.นพ.กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ, นางสาวอาภรณ์ แก่นวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา, ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมหารือกับ ศ.นพ.อุดม คชินทร อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.), ดร.สมบัติ คชสิทธิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ฯ ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (ทปอ.มรภ.) และผู้แทนที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (ทปอ.มทร.) และคณะ เกี่ยวกับการพัฒนาระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา เมื่อวันจันทร์ที่ 5 กันยายน 2559 ที่ห้องประชุม MOC
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ได้เชิญ ทปอ.มรภ./ทปอ.มทร. มาหารือและรับฟังข้อเสนอของ ทปอ.ในการพัฒนาระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา
-
มหาวิทยาลัยจะต้องไม่จัดสอบก่อนนักเรียนเรียนจบชั้น ม.6 (ก่อนช่วงเดือนมีนาคม 2561)
-
การสอบจะเริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงกลางเดือนเมษายน 2561 เป็นเวลา 6 สัปดาห์ โดย ทปอ.จะดำเนินการบูรณาการข้อสอบ GAT/PAT และวิชาสามัญ 9 วิชาใหม่ รวมทั้งโควต้า
เพื่อจัดทำเป็นระบบสอบกลางขึ้นมาใหม่ -
การรับสมัครผู้เรียนโดยใช้คุณสมบัติตามเกณฑ์ที่มหาวิทยาลัยต้องการ (
Portfolio) เช่น เด็กเรียนดี เด็กยากจน ฯลฯ สามารถรับสมัครผู้เรียนได้ตลอดเวลา และจะไม่มีการสอบแต่อย่างใด -
การสอบคัดเลือก จัดสอบครั้งเดียวด้วยข้อสอบกลางใหม่ ยกเว้นบางคณะ/สาขาวิชาที่ต้องใช้ทักษะเฉพาะทาง สามารถใช้ข้อสอบวัดทักษะนั้นในห้วงเวลาเดียวกัน เช่น สาขาสถาปัตยกรรม ที่จะต้องสอบวาดรูปพร้อมกับการสอบกลาง หรืออาจจะจัดทดสอบในช่วงของการสัมภาษณ์ได้ หลังจากทราบผลคะแนน นักเรียนสามารถนำไปยื่นสมัครเข้าเรียนต่อในสาขาวิชาที่ต้องการเรียน 4 อันดับ เพื่อเข้าสู่ระบบเคลียริ่งเฮ้าส์ จำนวน 2 ครั้ง แต่หากยังไม่มีที่เรียน ก็ยังมีสิทธิ์สมัครเรียนในมหาวิทยาลัยที่ยังมีที่นั่งว่างอยู่ได้ตามที่ต้องการ
-
เมื่อมหาวิทยาลัยรับเข้าเรียนแล้ว รายชื่อเด็กจะถูกตัดออกจากระบบกลางทันที ในขณะเดียวกันแม้ว่ามหาวิทยาลัยจะรับเข้าเรียนแล้วก็ตาม เช่น โควต้าโครงการช้างเผือก เป็นต้น เด็กยังสามารถสละสิทธิ์ได้ เพื่อเข้าสู่ระบบสอบกลาง แต่จะต้องแจ้งต่อมหาวิทยาลัยก่อนวันที่จะมีการสอบคัดเลือกครั้งถัดไป
-
มหาวิทยาลัยจะไม่เก็บค่าใช้จ่าย จนกว่าการดำเนินงานระบบเคลียริ่งเฮ้าส์จะเสร็จสิ้น ซึ่งก็หมายความว่าเด็กจะจ่ายค่าใช้จ่ายให้กับมหาวิทยาลัยเพียงรอบเดียว
ภายหลังการหารือพบว่า ทุกฝ่ายมีความเห็นพ้องกับหลักคิดและแนวทางในพัฒนาระบบการคัดเลือกแบบใหม่ โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยราชภัฏเห็นด้วยกับการรับเด็กเข้าเรียนต่อหลังจบ ม.6 เพื่อไม่ให้เด็กต้องวิ่งรอกสอบ แต่ในขณะเดียวกันก็ขอให้คงการสอบตรงของ มรภ.ไว้ ส่วนเด็กจะไปสอบในระบบสอบกลางอีกครั้งหรือไม่ ก็ไม่ได้ว่าอะไร แต่ต้องการจะเปิดโอกาสให้กับเด็กในพื้นที่ได้เรียนและทำงานพัฒนาท้องถิ่นของตนเองเมื่อจบศึกษาแล้ว เช่นเดียวกับ มทร.ที่มีข้อกังวลเกี่ยวกับการผลิตกำลังคนวิชาชีพเฉพาะสู่โรงงานอุตสาหกรรมไม่เป็นไปตามเป้าหมาย
ดังนั้น จึงได้ขอให้ ทปอ.พิจารณาด้วยว่า ระบบการคัดเลือกใหม่มีส่วนขัดขวางปรัชญาการจัดการศึกษาของมหาวิทยาลัยทั้งสองหรือไม่อย่างไร เช่น การพัฒนาท้องถิ่น การอยู่ร่วมกับคนในท้องถิ่น การพัฒนาฝีมือวิชาชีพเฉพาะสู่โรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ทปอ.มทร./ทปอ.มรภ.จะรับโจทย์เหล่านี้ไปหารือในที่ประชุมอธิการบดีทั้งสองแห่งต่อไป พร้อมทั้งขอให้ผู้แทน ทปอ.เข้าร่วมประชุมด้วย
นวรัตน์ รามสูต, บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน
ยุทธพงศ์ เลือกกลั่นดี : ถ่ายภาพ
6/9/2559