เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2559 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการจัดการศึกษาและการประเมินผลการเรียน ตามหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ พุทธศักราช 2556
สาระสำคัญของระเบียบดังกล่าว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้ลงนาม เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2559 เพื่อให้การจัดการศึกษาและการประเมินผลการเรียนตามหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) มีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผลยิ่งขึ้น โดยให้ยกเลิกระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการจัดการศึกษาและการประเมินผลการเรียนตามหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ พุทธศักราช 2556 ลงวันที่ 27 กันยายน 2556 และให้ใช้ระเบียบนี้บังคับแก่สถานศึกษาที่จัดการศึกษาตามหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ พุทธศักราช 2556 แทน โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 กันยายน 2559 เป็นต้นไป
ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการจัดการศึกษาและการประเมินผลการเรียน ตามหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ พุทธศักราช 2556 เป็นการปรับปรุงหลักสูตร ความร่วมมือกับสถานประกอบการเพื่อจัดการอาชีวศึกษา 3 ระบบ คือ
-
การศึกษาในระบบ ซึ่งหมายถึงการจัดการศึกษาวิชาชีพที่เน้นการศึกษาในสถานศึกษาเป็นหลัก
-
การศึกษานอกระบบ เป็นการจัดการศึกษาวิชาชีพที่มีความยืดหยุ่นในการกำหนดจุดมุ่งหมาย รูปแบบ วิธีการศึกษา ระยะเวลา การวัดและการประเมินผลที่เป็นเงื่อนไขของการสำเร็จการศึกษา โดยเนื้อหาและหลักสูตรจะต้องมีความเหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการของบุคคลแต่ละกลุ่ม
-
การศึกษาระบบทวิภาคี ซึ่งเป็นการจัดการศึกษาวิชาชีพที่เกิดจากข้อตกลงระหว่างสถานศึกษากับสถานประกอบการ ในเรื่องการจัดหลักสูตร การเรียนการสอน การวัดและการประเมินผล โดยนักเรียนใช้เวลาส่วนหนึ่งในสถานศึกษา และเรียนภาคปฏิบัติในสถานประกอบการ โดยกำหนดให้มีผู้ควบคุมการฝึก” ซึ่งเป็นผู้ที่สถานประกอบการมอบหมายให้ทำหน้าที่ประสานงานกับสถานศึกษาในการจัดการศึกษาระบบทวิภาคี และรับผิดชอบดูแลการฝึกอาชีพของนักเรียนในสถานประกอบการ รวมทั้งครูฝึก ซึ่งทำหน้าที่สอน ฝึกอบรมนักเรียนในสถานประกอบการ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการการอาชีวศึกษากำหนด
นอกจากนี้ มีการกำหนดมาตรฐานวิชาชีพ ซึ่งได้กำหนดนิยามว่าเป็นข้อกำหนดด้านสมรรถนะวิชาชีพ เพื่อใช้เป็นเกณฑ์ในการกำกับดูแล ตรวจสอบและประกันคุณภาพผู้สำเร็จการศึกษา รวมทั้งการประเมินมาตรฐานวิชาชีพ เพื่อเป็นการทดสอบความรู้ ความสามารถ ตลอดจนลักษณะนิสัยในการปฏิบัติงานตามมาตรฐานวิชาชีพ โดยใช้เครื่องมือที่เหมาะสมซึ่งกำหนดเกณฑ์การตัดสินไว้ชัดเจน พร้อมทั้งจัดดำเนินการประเมินภายใต้เงื่อนไขที่เป็นมาตรฐาน พร้อมทั้งให้มีคณะกรรมการประเมินมาตรฐานวิชาชีพ เพื่อทำหน้าที่รับผิดชอบในการอำนวยการ ติดตามและกำกับดูแลการประเมินมาตรฐานวิชาชีพของนักเรียนในสถานศึกษา
รายละเอียดเพิ่มเติม
อรพรรณ ฤทธิ์มั่น
บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน
9/9/2559
ขอบคุณภาพประกอบ : Facebook ประชาสัมพันธ์ สอศ.
Post Views: 506