Home / ข่าวประชาสัมพันธ์ / ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี 378/2559 ผลประชุม คกก.ส่งเสริมการศึกษาเอกชน 3/2559

ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี 378/2559 ผลประชุม คกก.ส่งเสริมการศึกษาเอกชน 3/2559

WU6A6309 (1) 

นายอดินันท์ ปากบารา เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ครั้งที่ 3/2559 เมื่อวันจันทร์ที่ 12 กันยายน 2559 ที่ห้องประชุมราชวัลลภ โดยมี พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมและ  พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้

เห็นชอบร่างแผนพัฒนาการศึกษาเอกชน พ.ศ.2560-2564

ที่ประชุมเห็นชอบร่างแผนพัฒนาการศึกษาเอกชน พ.ศ.2560-2564 ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ซึ่งมีวิสัยทัศน์ในการจัดการศึกษา คือ "การศึกษาเอกชน พัฒนาผู้เรียนให้เป็นคนดี มีวินัย มีองค์ความรู้และทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 ด้วยการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพ"

โดยได้กำหนด 5 เป้าหมาย 7 ยุทธศาสตร์ ในการดำเนินงานตามแผนพัฒนาการศึกษาเอกชน พ.ศ.2560-2564 ดังนี้

  • 5 เป้าหมาย

1. ผู้เรียนได้รับการพัฒนาขีดความสามารถเต็มตามศักยภาพที่มี มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ มีทักษะชีวิต มีความรู้ มีทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 ผู้เรียนในโรงเรียนนอกระบบมีความรู้และทักษะอาชีพ สนองตอบต่อการพัฒนาประเทศและความต้องการของตลาดแรงงาน

2. ผู้เรียนได้รับโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพไม่ต่ำกว่ามาตรฐานขั้นต่ำที่รัฐกำหนดโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และสามารถรับการศึกษาที่มีคุณภาพสูงกว่ามาตรฐานโดยจ่ายค่าธรรมเนียมการศึกษา และผู้เรียนในโรงเรียนนอกระบบได้รับการส่งเสริมให้เข้าถึงค่าใช้จ่ายเพื่อการศึกษาตามความเหมาะสม

3. โรงเรียนเอกชนจัดการศึกษามีคุณภาพได้มาตรฐานสากล บริหารจัดการเงินอุดหนุนอย่างมีประสิทธิภาพ มีทรัพยากรการศึกษาที่เพียงพอสำหรับจัดการศึกษาที่มีคุณภาพมาตรฐานตามศักยภาพของแต่ละโรงเรียน มีความแตกต่างหลากหลายตามความต้องการของผู้เรียน

4. โรงเรียนเอกชนมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาทั้งในระบบและนอกระบบเพิ่มขึ้น โดยภาครัฐและประชาสังคมมีความเชื่อมั่นและให้การสนับสนุนการจัดการศึกษาเอกชน

5. ระบบการบริหารจัดการส่งเสริมการศึกษาเอกชนมีประสิทธิภาพ ทันสมัย มีความเป็นพลวัตร ก้าวทันบริบทที่เปลี่ยนแปลง

  • 7 ยุทธศาสตร์

ยุทธศาสตร์ที่ 1 การพัฒนาหลักสูตร การเรียนการสอน การวัดและประเมินผล

ยุทธศาสตร์ที่ 2 การปฏิรูประบบทรัพยากรเพื่อการศึกษาเอกชน

ยุทธศาสตร์ที่ 3 การเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการศึกษาของโรงเรียนเอกชน

ยุทธศาสตร์ที่ 4 การเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของการศึกษาเอกชน

ยุทธศาสตร์ที่ 5 การส่งเสริมการศึกษานอกระบบเพื่อสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้

ยุทธศาสตร์ที่ 6 การพัฒนาการศึกษาเอกชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

ยุทธศาสตร์ที่ 7 การเพิ่มประสิทธิภาพการส่งเสริมการศึกษาเอกชน

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมขอให้นำความเห็นของคณะกรรมการไปปรับแก้รายละเอียดตามเป้าหมายและยุทธศาสตร์ดังกล่าวก่อนประกาศใช้ต่อไป


เห็นชอบหลักสูตรอิสลามศึกษาฟัรฎูอีนประจำมัสยิด ระดับอิสลามศึกษาตอนต้น (อิบติดาอียะฮฺ) พุทธศักราช 2559/ฮิจเราะฮฺศักราช 1437

ที่ประชุมเห็นชอบหลักสูตรดังกล่าว ซึ่งเป็นหลักสูตรที่ใช้ในการจัดการเรียนการสอนในศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิด (ตาดีกา) ในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 2,101 แห่ง ซึ่งครอบคลุมจำนวนผู้เรียน 205,767 คน  และครูผู้สอน 14,772 คน โดยกำหนดวิสัยทัศน์หลักสูตรอิสลามศึกษาฟัรฎูอีนว่า "เป็นหลักสูตรที่มุ่งพัฒนาผู้เรียน เรียนกัล-กุรอาน และอัล-หะดิษ โดยเน้นการเรียนรู้วิชาฟัรฎูอีน เพื่อให้เป็นมนุษย์ที่มีศรัทธา ปฏิบัติศาสนกิจ มีบุคลิกภาพตามแบบอย่างนบีมูฮำหมัด มีความสมดุลทั้งด้านความรู้ คุณธรรม จริยธรรม และมีจิตสำนึกในความเป็นมุสลิมที่ดี สามารถพัฒนาตนเอง ครอบครัว และสังคม ก่อให้เกิดสันติสุขทั้งโลกนี้และโลกหน้า"

ทั้งนี้ หลักสูตรดังกล่าวได้ผ่านการพิจารณาร่วมกับสำนักจุฬาราชมนตรีแล้ว หลังจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้ลงนามในคำสั่งกระทรวงศึกษาธิการแล้ว สช.จะนำหลักสูตรไปทดลองใช้ในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป โดยสาระสำคัญของหลักสูตรดังกล่าว คือ

สมรรถนะที่สำคัญของผู้เรียน  หลักสูตรได้มุ่งให้ผู้เรียนเกิดสมรรถนะตามแบบฉบับของอิสลามศึกษา 5 ประการ คือ 1) ความสามารถในการอ่านอัล-กุรอาน 2) ความสามารถในการปฏิบัติตนตามหลักการอิสลาม 3) ความสามารถในการอ่านเขียนและสื่อสาร 4) ความสามารถในการคิดวิเคราะห์และการแก้ปัญหา 5) ความสามารถในการอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมและการรักษาสิ่งแวดล้อม

คุณลักษณะอันพึงประสงค์ หลักสูตรดังกล่าวมุ่งพัฒนาคุณลักษณะอันพึงประสงค์ 10 ประการ คือ 1) รักอัลลอฮฺและรซูล 2) รักบิดามารดา 3) รักการอ่านอัลกุรอานและการละหมาด 4) มีมารยาทที่ดี 5) มีความซื่อสัตย์สุจริต 6) มีความรับผิดชอบ 7) มีวินัย 8) รักความสะอาด 9) มีจิตสาธารณะ 10) รักมัสยิดและโรงเรียน

โครงสร้างเวลาเรียน หลักสูตรดังกล่าวได้กำหนดกรอบเวลาในการจัดการเรียนรู้ 9 สาระการเรียนรู้พื้นฐาน สาระการเรียนรู้เพิ่มเติม และกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ใช้ระยะเวลาเรียน 6 ปี คือ ระดับชั้นปีที่ 1-3 ใช้เวลาเรียนไม่น้อยกว่า 440 ชั่วโมง/ปี และระดับชั้นปีที่ 4-6 ใช้เวลาเรียนไม่น้อยกว่า 440 ชั่วโมง/ปี


เห็นชอบแนวทางการบริหารจัดการกองทุนส่งเสริมโรงเรียนในระบบกรณีการรวมสถานศึกษาอาชีวศึกษาภาครัฐและภาคเอกชน

ที่ประชุมเห็นชอบตามที่คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจการแบ่งแยกกองทุนส่งเสริมโรงเรียนในระบบฯ เสนอ โดยให้โรงเรียนเอกชนในระบบประเภทอาชีวศึกษากู้ยืมเงินและยืมเงินได้โดยตรงที่กองทุนส่งเสริมโรงเรียนในระบบ และมอบคณะอนุกรรมการฯ พิจารณาปรับปรุงหรือเพิ่มเติมกฎหมายการดำเนินงานของกองทุนส่งเสริมโรงเรียนในระบบสำหรับโรงเรียนในระบบประเภทอาชีวศึกษาต่อไป

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาร่างประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน เกี่ยวกับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการจ่ายเงินค่าทดแทนกรณีผู้อำนวยการ ครู และบุคลากรทางการศึกษา ตายหรือสาบสูญเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ หรือทำงานให้แก่โรงเรียนในระบบ พ.ศ. …. ซึ่งเห็นว่าควรมีการปรับแก้รายละเอียดต่างๆ จึงขอให้นำความเห็นจากกรรมการไปปรับแก้ แล้วนำเสนอให้ที่ประชุมพิจารณาครั้งต่อไป


บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน

ยุทธพงศ์ เลือกกลั่นดี
ถ่ายภาพ

12/9/2559